วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567

ถอดรหัสใบปลิวขู่ อส.ใต้ ดึงเป็นหนอนบ่อนไส้รัฐไทย

ถอดรหัสใบปลิวขู่ อส.ใต้ ดึงเป็นหนอนบ่อนไส้รัฐไทย!

ความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับใบปลิวข่มขู่คนมุสลิมที่ทำงานให้รัฐ ใบปลิวชุดแรก ถูกแจกจ่ายในพื้นที่ อ.แม่ลาน และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

– ใบปลิว เป็นลักษณะกระดาษเอ 4 พิมพ์จากคอมพิวเตอร์เป็นภาษาไทย มีภาษายาวีปน

– เนื้อหาข่มขู่คนมุสลิมที่ไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมองว่าเป็นคนทรยศ และเป็นศัตรูกับ “นักรบปาตานี” หรือ “ญูแว” เปรียบเหมือนเป็นชาวปาเลสไตน์ แต่ไปเป็นทหารให้อิสราเอล

– เนื้อหาในใบปลิวเสนอทางเลือกให้ 2 ทาง คือ ลาออก กับเป็นสายให้นักรบปาตานีเล่นงานเจ้าหน้าที่รัฐสยาม

– ใบปลิวชุดนี้ถูกนำไปวางตามมัสยิด เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา

จริงๆ เรื่องใบปลิวไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมมากนัก แต่ปรากฏว่ามีสื่อออนไลน์บางแขนงนำไปเสนอเป็นประเด็น ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาตอบโต้ ทำให้สังคมทั่วไปได้รู้ว่ามีใบปลิวว่อนในพื้นที่ชายแดนใต้

ประเด็นตอบโต้ของ กอ.รมน.คือ ข้อมูลในใบปลิวไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ และประเด็นอื่นๆ ที่นำมาอ้าง พร้อมเตือนสื่อทุกแขนงไม่ให้ขยายข่าวนี้ แต่ดูเหมือน กอ.รมน.จะห้ามไม่อยู่ เพราะเมื่อวันที่ 23 ส.ค. คือวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการโปรยใบปลิวอีกชุดหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี

เนื้อหาในใบปลิวเขียนเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือ ซองจดหมาย จ่าหน้าถึง อส. หรือ เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน 14 คน ซึ่งเป็น อส.อำเภอทุ่งยางแดง

– พูดง่าย ๆ ก็คือ การขู่ที่เจาะจงตัวบุคคล นั่นก็คือ กลุ่ม อส.

คำถามก็คือ ทำไมใบปลิวข่มขู่ จึงพุ่งเป้าไปที่ อส. และกลุ่มคนมุสลิมที่ทำงานให้รัฐ?

คำตอบก็คือ เพราะ อส. เป็นกองกำลังที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ ต้องรับช่วงต่อดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยจากทหารหลัก หรือ “ทหารเขียว” หลังถอนทหารตาม “แผนส่งมอบพื้นที่” ในปี 2570

อส.ใช้คนพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม คนทำใบปลิวซึ่งเชื่อว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้ เมื่อใช้คนพื้นที่เป็น อส. จึงมีความชำนาญพื้นที่ไม่ต่างจากกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ พูดง่ายๆ คือ ทันกัน รู้ภาษา รู้พื้นที่ รู้เส้นทาง รู้ทางหนีทีไล่ ไม่เหมือนทหารต่างถิ่น ทำให้กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวไม่สะดวก

คนกันเองแฉ กั๊กตำแหน่งให้พวกพ้อง!

แต่ก็มีข้อมูลอีกด้าน พยายามอภิปรายพฤติการณ์ทิ้งใบปลิวว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงในพื้นที่เลยด้วยซ้ำ แต่มีการอาศัยสถานการณ์มาหาประโยชน์

เพราะเมื่อ อส.เตรียมจะเป็น “กองกำลังหลัก” ในการดูแลพื้นที่ จึงมีการเปิดรับ อส.จำนวนมาก มีอัตรากำลังมากมาย พูดง่าย ๆ คือ รับคนพื้นที่ไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีเงินเดือน สวัสดิการ ได้พกปืน ได้แต่งเครื่องแบบ

เหตุนี้จึงย่อมมีบางคน บางกลุ่ม ต้องการตำแหน่งงานเหล่านี้ให้คนของตัวเอง หรือพรรคพวกตัวเอง มีการแฉข้อมูลว่า แม้แต่คนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ส่งลูกหลานไปสมัครเป็น อส.

เหตุนี้จึงมีบางฝ่ายสงสัยว่า คนในขบวนการทำใบปลิวขู่กันเอง แต่ไม่ได้หวังจะฆ่ากัน แค่หวงตำแหน่งไว้ให้ลูกหลานของตน หรือผู้นำของตนหรือไม่ พูดง่ายๆ คือเป็นวิธีการเล่นเส้นสายแบบหนึ่ง

รัฐอ่านทาง ขบวนการถดถอย

คำถามต่อมาคือ ใบปลิวว่อนแบบนี้น่ากลัวหรือไม่?

คำตอบ คือ ถ้าเป็นการขู่จริง ๆ ก็น่ากลัว เพราะ…กลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการแบบกองโจร รู้ความเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกฝีก้าว ก่อนก่อเหตุรุนแรงมีการเฝ้าสังเกตการณ์ ติดตาม สะกดรอยนานนับเดือน จนรู้ความเคลื่อนไหว เส้นทางการเดินทาง จุดแวะพักต่าง ๆ

เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงก่อเหตุด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิด เหมือนกลุ่มก่อการร้าย ป้องกันได้ยาก จึงน่ากลัว แต่อีกด้านหนึ่ง หากเรื่องนี้เป็นการขู่กันเอง หวังผลประโยชน์เรื่องตำแหน่ง หรือ อัตราการบรรจุ อส. ก็ไม่น่ากลัวเท่าไหร่

พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มองว่า ใบปลิวที่ทำออกมาในช่วงนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ทำต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นข่าว วิธีการก็แค่นำใบปลิวไปวางตามมัสยิด แล้วถ่ายรูป โพสต์โซเชียลฯ จึงประเมินว่าน่าจะเป็นหวังผลทางจิตวิทยามากกว่า ทำให้คนที่ร่วมมือกับรัฐหวาดกลัว

แต่การโปรยใบปลิวแบบนี้ ทำในพื้นที่จำกัดมาก ไม่เหมือนสมัยก่อน และใช้โซเชียลมีเดียช่วย สะท้อนว่าศักยภาพของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนถดถอยลงมากใช่หรือไม่  ขู่กลับ สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ไม่ถอนทหาร!

พ.อ.เอกวริทธิ์ ฯ ยังให้สัมภาษณ์ว่า เกี่ยวกับยุทธวิธีการใช้ “ใบปลิว” เพื่อหวังผลต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่ “การโปรยใบปลิวรอบนี้ ถือเป็นวิธีการที่กลุ่มขบวนการเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือน เม.ย.67 ที่ อ.บันนังสตา และที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา ช่วง ก.ค.ปีนี้เช่นเดียวกัน

จากนั้นเดือน ส.ค.ที่ยะรัง แม่ลาน และทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีทั้งหมด แต่ข้อน่าสังเกตคือ เขาไม่ได้วางเหมือนใบปลิวสมัยก่อนที่จะโปรยไปทั่วพื้นที่ แต่นี่แอบวาง 1 ที่ แล้วถ่ายรูปลงโซเซียลฯ จากนั้นสื่อมวลชนก็จะเผยแพร่ข่าวให้เขา ไปเป็นแนวร่วมมุมกลับให้ ต้องระวังการเผยแพร่ว่ามันเกิดผลอะไร

มีความเป็นไปได้ว่าที่ก่อเหตุทั้งหมดเรื่องใบปลิว อาจจะเป็นแนวร่วม เป็นการปฏิบัติการข่าวสาร ก็คือทำแบบมีความเชื่อมโยงกันไป ให้คนไปวาง แล้วก็ถ่ายรูป แล้วเผยแพร่ในโซเซียลฯ เขาอาจจะได้ผลทางเชิงกายภาพ และหวังผลในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ด้อยค่าเจ้าหน้าที่ ต่อไปคนอื่นๆ ที่จะสมัครมาเป็น อส.หรือหน่วยงานของรัฐก็ไม่กล้าเข้ามา

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็วิเคราะห์ได้ว่า จริงๆแล้วอาจเป็นเพราะ มวลชนเขาถดถอยลงบางส่วนหรือไม่ จึงต้องทำวิธีนี้ เป็นหนทางจิตวิทยาที่ทำให้คนของเรากลัว ข่มขู่ให้กลัว แล้วก็ถ้าคิดว่าตัวเองไม่ปลอดภัยก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน แล้วถ้าเกิดว่ามีคนถูกกระทำขึ้นมาจริง รัฐก็จะเป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นฝ่ายที่ถูกด้อยค่าในการรักษาความปลอดภัยที่ล้มเหลว จะมีการโจมตีว่าขนาดเจ้าหน้าที่กันเองยังดูแลตัวเองไม่ได้ แล้วจะมาดูแลประชาชนได้อย่างไร

สรุปก็คือ ทำให้เขาได้ผลงาน เหตุมันเกิดขึ้นจริงนะ ฝ่ายรัฐไม่สามารถดูแลแม้ตัวเอง มันเกิดขึ้นจริงตามที่เขาข่มขู่ นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ

สาเหตุที่เขามุ่งเป้าที่ อส. เพราะ อส.เป็นกำลังที่เปราะบาง แม้เราจะมีการเสริมสร้างศักยภาพ แต่ก็ยังมีขีดความสามารถเทียบกับตำรวจทหารไม่ได้ ยังไม่ถึงขนาดนั้น ตามแผนปี 2570 หลัก ๆ มีแผนที่จะลดกำลังพลทหารหลักเพื่อที่จะให้กำลังท้องถิ่นเข้ามาทดแทน ซึ่งอาจจะเพิ่มกำลังในส่วนนี้ ฉะนั้นถ้าโดนข่มขู่ คนก็อาจจะไม่กล้าสมัครเข้ามา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ใช่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงยังเกิดขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามแผน ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผน ซึ่งต้องมาทบทวนสถานการณ์ในห้วงเวลาระหว่างปี 66-70 ก่อน ว่าเราเดินเป็นไปตามแผนที่เราวางได้หรือไม่ มันติดขัดตรงไหน สถานการณ์ความรุนแรงมันมีขอบเขตกว้างขึ้น หนักขึ้น รุนแรงขึ้น หรือว่ามันน้อยลง

ถ้าสถานการณ์น้อยลงก็จะเดินไปตามแผน มีการถอนทหาร มีการใช้กำลังประจำถิ่นทั้งหมด แต่แผนจะมีการทบทวนแผนอยู่ตลอด ถ้าสถานการณ์มันสุ่มเสี่ยงก็คงต้องมาทบทวนแผน แล้วร่วมกันวางแผนว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ให้ส่วนงานเกี่ยวข้องทบทวนแผนแต่ละระดับอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ต้องทบทวนกันแบบรอบด้าน ไม่ใช่ว่าขู่แค่นี้เราก็ต้องเหมือนเดิม มันไม่ใช่ คือตามหลักจริง ๆ ไม่ได้มีผลอะไร อาจจะแค่ต้องการทำลายความเชื่อมั่น ด้อยค่าเจ้าหน้าที่แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ก็เดินตามแผนเดิม ถึงแม้จะมีความพยายามยั่วยุเจ้าหน้าที่เพื่อทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ๆ แต่เจ้าหน้าที่ไม่หลงกล...

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้

การศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้

จากมุมมองของนักวิชาการด้านการศึกษา และความมั่นคงหลายๆท่าน มองว่าระบบการศึกษาในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นต่อปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  โดยการที่ระบบการศึกษาที่มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมเมื่อปี 40 ให้มีการเพิ่มรูปแบบสถานศึกษาการเรียนการสอนแบบแยกเฉพาะ ทำให้มีการแยกเด็กออกจากกันอย่างชัดเจน และถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่กระทบต่อการไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จชต. ยกตัวอย่างที่ให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น คือเฉกเช่นเดียวกับในพื้นที่ กทม. ที่กลุ่มนักศึกษาช่างมีปัญหากันมาโดยตลอดก็เพราะระบบที่มีการแบ่งแยกเด็กออกจากกันแบ่งแยกสถาบันช่างและความเชื่อ  ถึงการแบ่งแยกจะไม่ชัดเจนเท่ากับระบบการศึกษาในพื้นที่ที่ 3 จชต.ก็ตาม แต่ก็ยังคงทำให้เกิดปัญหาขัดแย้ง ก่อเหตุทำร้ายกันระหว่างสถาบันมาโดยตลอด  แล้วในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนนั้น คิดว่าปัญหาความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนหรือผู้มีอำนาจจะไม่ได้เล็งเห็น แต่ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องยากและมีความละเอียดอ่อนเมื่อมีความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง จากความผิดพลาดในอดีตที่กำลังส่งผลมาถึงปัจจุบัน และการที่ไม่มี ผู้ที่มีอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับระบบการศึกษากล้าออกมาพูดหรือหาแนวทางแก้ไขนั้น กลับถูกมองว่าเพราะไม่อยากเปลืองตัวและไม่อย่างเสี่ยงต่อปัญหาที่อาจมีการต่อต้านที่จะตามมา เลยปัดปัญหาโยนความรับผิดชอบให้แก่หน่วยงานความมั่นคงรับไปอย่างเดียวดาย ซึ่งเมื่อมองแล้วการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานความมั่นคงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้นต้องมีการร่วมกันแก้ไขทั้งระบบควบคูกันไป

สำหรับระบบการศึกษาภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และก่อนอื่นต้องเปิดใจยอมรับและกล้าที่จะพูดความจริงกันว่า ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่มันกำลังสร้างความแตกแยก ทำลายรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรมอันดีงามที่เคยมีมาในอดีต  การแยกเด็กนักเรียน นักศึกษา ต่างความเชื่อออกจากกัน การกีดกันความต่างทางความเชื่อ ที่มันไม่สมควรให้เกิดขึ้น ถือเป็นการทำลายความสัมพันธ์ในวัยเด็ก ทำลายโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกันแบบหลากหลาย  จากระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปเป็นระบบแบ่งแยกดั้งเช่นปัจจุบัน

อีกทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เด็กๆทุกคนสมควรได้รับกลับไม่ถูกให้ความสำคัญ ส่งผลต่อการอ่านออกเขียนได้ของเด็กในพื้นที่ ที่ถือว่ากำลังวิกฤติ เด็กจบ ป.3 อ่านไม่ออกถึง 33% นักเรียนนับกว่าแสนคนไม่ได้ต่ออุดมศึกษา เพราะระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ไม่ได้มาตรฐานขั้นพื้นฐาน ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของเด็ก ว่าจบออกมาโดยที่ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาหลัก ที่มีความสำคัญในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้หรือไหม นี้คืออีกหนึ่งปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาที่เป็นตัวทำลายอนาคตเด็ก อนาคตของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อยู่ในปัจจุบัน

จ่อดำเนินคดีเพจ หลังโพสต์บิดเบือน และมีพฤติกรรมแอบถ่าย ชี้พิกัด จนท. ขณะลาดตระเวน

จ่อดำเนินคดีเพจ หลังโพสต์บิดเบือน และมีพฤติกรรมแอบถ่าย ชี้พิกัด จนท. ขณะลาดตระเวน

กรณี เพจหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "นายสั่งให้มาสังเกตุขบวนพาเหรดกีฬาสี เมื่อ 27 สิงหาคม 2567 เวลา 9.00 น. ทหารไทยนอกเครื่องแบบได้มาสังเกตุการณ์เพื่อรายงานข่าวให้ผู้บังคับบัญชา ในขบวนพาเหรดกีฬาสีโรงเรียนอัลอิสลามียะห์วิทยามูลนิธิ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี"

ภายหลังจากภาพและข้อความถูกเผยแพร่ออกไป ด้าน จนท. ได้ออกมาชี้แจ้งดังนี้  "ในนาม ชุดสันติสุขที่ 101 ขอเรียนชี้แจง จากกรณีเพจ XXXX ได้นำภาพการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาสี รร.อัลอิสลามยะห์วิทยามูลนิธิ บ.กอตอระนอ ต.คลองใหม่ จว.ป.น. นำไปโพสต์บิดเบือน ปลุกปั่น สร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

>>>>ข้อเท็จจริง...ทางผู้บริหารสถานศึกษาได้เชิญ จนท.ชุดสันติสุขที่ 101 และส่วนราชการในพื้นที่ อำเภอยะรัง เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว  "หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปชช. ผู้ที่รับข่าวสารจะมีความเข้าใจในการปฏิบัติงานของ จนท.รัฐ"

นอกจากนี้เพจดังกล่าวยังมีพฤติกรรมแอบถ่าย ชี้พิกัด จนท. ขณะลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ โดยมีการโพสต์สถานที่ วัน เวลา จำนวนคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อ จนท.ได้ คาดว่าอาจจะมีการดำเนินคดีกับเพจดังกล่าว เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ปอเนาะ! สถาบันศึกษาของชาวไทยมุสลิม ต้องปราศจากสิ่งไม่ดีจากกลุ่มขบวนการ BRN

ปอเนาะ! สถาบันศึกษาของชาวไทยมุสลิม ต้องปราศจากสิ่งไม่ดีจากกลุ่มขบวนการ BRN

ปอเนาะ คือ ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตในด้านศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามเพื่อเสริมสร้างให้ชุมชนมีความรู้และความประพฤติที่ดีงามในการดำรงชีพอย่างสันติสุขและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ คำว่า “ปอเนาะ” มาจากรากศัพท์เดิมจากภาษาอาหรับว่า “ฟุนดุก” ซึ่งหมายความว่า ที่พักชั่วคราวของผู้เดินทาง จากนั้น คำว่า “ปอเนาะ” ก็ถูกนำมาใช้ในสถานศึกษา ในพื้นที่ 4-5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 1700 เป็นต้นมา พร้อมกระบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในประเทศไทยในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2043 - พ.ศ. 2335 มีผู้คนเข้ารับอิสลามมากมาย โดยในภูมิภาคนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “ระเบียนของเมกกะ” ต่อมาสถาบันศึกษาปอเนาะก็ได้รับการตอบรับจากสังคมในท้องถิ่นและมุสลิมในประเทศใกล้เคียง มีผู้เรียนมากมายมาศึกษาหาความรู้ในปอเนาะโดยมาจาก มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เขมร เวียดนาม พม่า เป็นต้น

ที่ผ่านมา “สถาบันปอเนาะ” บางแห่งมักถูกแกนนำกลุ่มขบวนการ BRN แฝงตัวเข้ามาหลอกใช้ โดยการอ้างอิงหลักศาสนาที่บิดเบือน ให้สอดคล้องกับแนวทาง “การแบ่งแยกดินแดน” เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีเยาวชนชาวไทยมุสลิมเป็นจำนวนมากถูกหลอกให้เข้าร่วมขบวนการ และต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ บางคนตาสว่าง กลับตัวทัน ก็หลุดจากวิบากกรรมเหล่านั้นได้ก่อน

หลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จึงให้ความสำคัญกับ “สถาบันปอเนาะ” เพราะหากปล่อยให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาครอบงำสถานศึกษาเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เยาวชนชาวไทยมุสลิมตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการ BRN ได้ง่าย ซึ่งอดีตสมาชิกขบวนการ BRN หลายคนที่ยอมมอบตัว ให้ความเห็นตรงกันว่า “ถ้าอยากจะแก้ปัญหา รัฐต้องเข้าโรงเรียนบ่อยๆ”

สถาบันปอเนาะสร้างคนดีออกมาช่วยเหลือสังคมไทยมากมาย ดังนั้นมุสลิมที่ดีต้องช่วยกันสอดส่องแหล่ง “ปอเนาะปีศาจ” ที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้วงการ “เด็กปอเนาะไทย”

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์ตากใบ ใครเป็นผู้ก่อ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือโดยการเรียกร้องต้องการของประชาชน หรือของญาติพี่น้องของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จเรื่องอาวุธปืนจำนวน 6 คน แต่เป็นเรื่องของการจงใจสร้างสถานการณ์อย่างชัดเจน มีการประสานงานกับมวลชนในหลายพื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่อำเภอตากใบ และพื้นที่อื่นๆ ให้มาร่วมชุมนุมยังจุดนัดหมายในเวลาเดียวกัน…

การเกณฑ์คนให้มารวมตัวกันนำไปสู่ความสูญเสีย เป็นความมุ่งหมายของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา การหลอกให้ประชาชนเป็นเหยื่อความตายของกลุ่มขบวนการ เนื่องจากมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการปลุกระดมชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ที่ไร้อุดมการณ์ นำไปสู่การสูญเสียชีวิตที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายเสียใจกับเหตุการณ์เหล่านั้น แต่กลุ่ม ผกร.กลับใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อสู้

ล่าสุด ศาลนราธิวาสรับฟ้องคดีอาญาตากใบก่อนหมดอายุความเพียง 33 คดีตากใบกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งจากการปลุกกระแสของนักสิทธิบางคน และคนบางกลุ่ม ในการใช้ประวัติศาสตร์เรื่องราวความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนในการเป็นเครื่องมือสร้างความแยกแยกในพื้นที่ เพื่อแนวทางการแบ่งแยกดินแดน ใช้เป็นเงื่อนไขในการทำลายความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ  แล้วประชาชนในพื้นที่..ครอบครัวผู้ที่สูญเสีย...ได้อะไร?....นอกจากความเจ็บปวดที่ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

เปิดตัวเลขเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตากใบ กว่า 700 ล้านบาท

เปิดตัวเลขเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตากใบ กว่า 700 ล้านบาท

ที่ผ่านมาเหตุการณ์ตากใบถูกนักวิชาการ แนวร่วม ภาคประชาสังคม Ngo หยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดมว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อต้องการตอกย้ำความรู้สึกสูญเสียให้กับพี่น้องในพื้นที่

จากการตรวจสอบตัวเลขเงินเยียวยากรณีตากใบที่ผ่าน รัฐบาลได้จ่ายไปแล้ว ระบุว่าเป็นเงินทั้งสิ้น 641,451,200 บาท ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายในคดีแพ่ง 42 ล้านบาท และไม่นับรวมถึงเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุที่มีจ่ายกันประปราย รวมแล้วประมาณ 700 ล้านบาท

เฉพาะเหตุการณ์ตากใบ ผู้เสียชีวิต 85 คน ได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท (ยอดหักลดลงสำหรับรายที่ได้รับเยียวยาจากแหล่งอื่นไปก่อนแล้ว)

กรณีทุพพลภาพ เยียวยารายละ 7.5 ล้านบาทเช่นกัน มีจำนวน 1 คน ได้รับจริง 6,380,000 บาท โดยหักยอดเงินเยียวยาแหล่งอื่นที่ได้รับไปแล้วเช่นเดียวกับกรณีเสียชีวิต

กรณีบาดเจ็บ ผู้พิการ เยียวยารายละ 4.5 ล้านบาท จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 33,140,000 บาท

ผู้บาดเจ็บสาหัส เยียวยารายละ 1,125,000 บาท จำนวน 11 ราย เป็นเงิน 11,705,000 บาท

ผู้บาดเจ็บปานกลาง เยียวยารายละ 675,000 บาท มี 22 ราย รวมเป็นเงิน 13,970,000 บาท

ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย เยียวยารายละ 225,00 บาท จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 1,640,000 บาท

รวมกลุ่มบาดเจ็บทั้งหมด 49 ราย เป็นเงิน 60,455,000 บาท

นอกจากนั้นยังมีกรณีผู้ถูกดำเนินคดี เยียวยารายละ 30,000 บาท จำนวน 85 ราย รวมเป็นเงิน 2,025,200 บาท

กรณีผู้ถูกควบคุมตัว แต่ไม่ถูกดำเนินคดี เยียวยารายละ 15,000 บาท จำนวน 794 ราย รวมเป็นเงิน 11,532,000 บาท

รวมทุกกรณี 987 ราย เงินเยียวยาทั้งสิ้น 641,493,200 บาท

การจ่ายเงินเยียวยา เกิดขึ้นในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำรงตำแหน่ง พ.ย.2554 ถึง 24 พ.ค.2557 มีนโยบายสำคัญ คือ “ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร” โดยใช้ “ความเป็นยุติธรรมตามความเป็นจริง” ไม่ใช่ความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว

โดยที่ผ่านมาผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาจากภาครัฐทุกคนมีจิตใจที่ดี ต่างก็ไม่อยากจะรื้อฟื้นเรื่องราวขึ้นมาให้เจ็บปวด ต่างตั้งหน้าสร้างครอบครัวให้สามารถดำเนินชีวิตจากเงินเยียวยาและการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ ขอให้ทุกคนจงใช้เรื่องราวในอดีตเป็นบทเรียนนำไปสู่อนาคตที่ดี

คดีตากใบถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จากการสนับสนุนของกลุ่มนักการเมือง นักสิทธิประโยชน์ อ้างการกล่าวอ้างหาความชอบธรรม ใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีกครั้ง

ถึงแม้ความสูญเสียจะไม่อาจเยียวด้วยตัวเงินได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยเหลือครอบครัวได้

รู้หรือไม่ ? BRN คัดเลือกจากเยาวชน เฉพาะในโรงเรียนสอนศาสนา

     รู้หรือไม่ ? BRN คัดเลือกจากเยาวชนมลายูเฉพาะในโรงเรียนสอนศาสนาเข้าเป็น RKK

การเข้าเป็นสมาชิก RKK นั้น BRN จะคัดเลือกจากเยาวชนมลายู เฉพาะผู้ชายที่ร่างกายแข็งแรง สนใจศาสนา เรียนดี มีความประพฤติดี เดิมที BRN จะรับเยาวชนมลายูที่อยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา 50 % และเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือต่ออีก 50 %

แต่ผลปรากฏว่าเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือส่วนใหญ่ติดยาเสพติด ควบคุมยาก ทำให้ BRN หันมาคัดเลือกเยาวชนชายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา 100 % เข้าเป็น RKK ซึ่งกระบวนการคัดเลือกจะใช้เวลานาน จนถึงขั้นตอนเล่าประวัติศาสตร์ปัตตานี แล้วจึงชักชวนสาบานตนต่อคัมภีร์กุรอ่าน จึงเริ่มฝึกอีก 5 ขั้นตอนคือ

ขั้นที่ 1 ปลูกฝังอุดมการณ์(ตือกัฟ)ประวัติศาสตร์ เชี้อชาติ ศาสนา บัญญัติ 10 ข้อ ญิฮาด

ขั้นที่ 2 ฝึกร่างกาย 12 ท่า (ตือปอ)

ขั้นที่ 3 ศึกษาวิถีชีวิตคนมลายู (ตารัฟ)

ขั้นที่ 4 ทดสอบร่างกาย (ตาแย)

ขั้นที่ 5 ฝึกการช่วยรบ ดูหนังสงคราม ฝึกกับคู่บัดดี้

เมื่อฝึกจบ 5 ขั้นตอนนี้แล้ว จะเป็นเยาวชนช่วยรบ (เปอมูดอ) กระจายอยู่ตามหมู่บ้านและถ้า RKK ขาดแคลน BRN จะคัดเลือกเปอมูดอเข้ารับการฝึกอีก 2 ขั้น คือ

 - ขั้นตาดีกา ฝึกอาวุธและยุทธวิธีของกองโจร และการก่อการร้าย

 - ขั้นปอเนาะ ฝึกการวางแผนในสงครามกองโจรและการก่อการร้าย

และสุดท้ายต้องทดสอบก่อเหตุฆ่าผู้บริสุทธิ์ให้สำเร็จ 1 ครั้ง ก็จะจบ ขึ้นทะเบียนเป็น RKK ได้

เกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ ทำไมถึงกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะของผู้ก่อการร้าย แอดจะแฉแผนชั่วของขบวนการอุบาทว์ที่ว่านี้ให้คนที่ยังดักดานหลงผิดได้ตาสว่างซะที โปรดติดตามตอนต่อไป