วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

ดีเดย์ปลดล็อกเข้าไทยปลุกชีพท่องเที่ยว ลดกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง

 

ดีเดย์ปลดล็อกเข้าไทยปลุกชีพท่องเที่ยว ลดกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 5 วัน คาดแห่เคลมประกันโควิดพุ่งทะลุแสนล้าน

นับถอยหลังวันสิ้นสุดการรอคอย กระทรวงท่องเที่ยวฯ ชงศบค.ชุดใหญ่ ปลดล็อกเงื่อนไขการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยให้กลับเข้าสู่โหมดปกติ ยกเลิกตรวจ RT-PCR และ Professional ATK ดีเดย์ 1 พ.ค.นี้ ฝันหวานดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติหวนคืนท่องสยามเมืองยิ้มปีนี้ 7 ล้านคน ทางฝั่ง สธ. รุกอีกขั้น ปรับเวลากักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือแค่ 5 วัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีฟื้นเศรษฐกิจ ลดข้อจำกัดในการทำมาหากินของประชาชน ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังยืนหลักหมื่น ยอดเคลมประกันพุ่งแรง คาดสิ้นสุดทุกกรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ มิ.ย.นี้ ทะลุแสนล้าน

อย่างที่รู้กันว่าเสียงเรียกร้องให้เปิดประเทศจากฟากผู้ประกอบการซึ่งเผชิญปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาร่วมสองปีกว่าจนกิจการเจ๊งระเนระนาดดังระงมมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งช่วงเทศกาลหรือไฮซีซั่นส์ เสียงกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลรีบเปิดประเทศก็ยิ่งดังขึ้น

แต่  “รัฐบาลลุง” ซึ่งเลือกเดินในแนวทาง  “ปลอดภัยไว้ก่อน”  เน้นออกมาตรการคุมเข้มสกัดการแพร่ระบาดเป็นด้านหลัก และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศรองรับ ทว่าผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่ายิ่งเนิ่นนานไป คนตัวเล็กตัวน้อยก็ยิ่งอยู่อย่างยากลำบาก สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น

เมื่อกำลังซื้อของครัวเรือนมีปัญหา การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยทำได้ยาก ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โอกาสกลายเป็น  “หนี้เสีย”  ก็สูงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ช้าลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

สรุปง่ายๆ คือ ขืนปิดประเทศลากยาวต่อไปจะอดตายกันหมด

แต่เงื่อนไขจะเปิดประเทศได้ช้าเร็วแค่ไหน หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศจะเอาอยู่หรือไม่ เมื่อผ่านพ้นเทศกาลรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์แม้จะสูงขึ้นแต่ไม่ได้น่าห่วงกังวลนัก อีกอย่างโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่ได้มีอาการรุนแรงเหมือนเดลต้า นั่นจึงเป็นที่มาของการส่งสัญญาณปลดล็อกเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) ได้พิจารณาเรื่องการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยตัวแทนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป จะยกเลิกมาตรการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR และ Professional ATK สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่เดินทางมาจากทั่วโลกในวันแรกที่เดินทางมาถึง โดยให้ตรวจ ATK ด้วยตัวเอง หรือ Self-ATK แทน เพราะเวลานี้หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดกันแล้ว

แนวทางดังกล่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เคาะเป็นครั้งสุดท้าย ในวันประชุมใหญ่ ศบค. วันที่ 22 เม.ย. 2565

นายพิพัฒน์ อธิบายว่า การยกเลิกระบบ Test & Go นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ต้องลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass แค่มีผลตรวจยืนยันปลอดโควิด-19 จากประเทศต้นทาง หรือจะเข้ามาตรวจ Self-ATK เมื่อเดินทางมาถึง และมีหลักฐานฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาแล้วอย่างน้อยสองเข็ม ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้กับคนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศด้วยเช่นกัน

การปลดล็อกข้างต้น เท่ากับยกเลิกระบบ Thailand Pass Hotel หรือ TP Hotel ไปโดยปริยายเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเดินทางมาถึงและผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว สามารถเดินทางต่อไปยังโรงแรมหรือจุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องรอรถโรงแรมมารับเหมือนเดิม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า หลังจากรัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไขการเข้าประเทศทั้งหมด จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2565 ประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 30% ของรายได้รวมปี 2562 และประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน จากเป้าเดิมที่วางไว้ที่ 8-10 ล้านคน และมีรายได้ในปี 2566 เพิ่มเป็น 50% ของปี 2562 จากนั้นในปี 2567 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวใกล้เคียงกับปี 2562

จากมาตรการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดประเทศ 1 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ Sandbox และ Test & Go มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเดือน พ.ย. 2564 มีจำนวน 133,061 คน, เดือน ธ.ค. 2564 จำนวน 290,617 คน, เดือน ม.ค. 2565 มีจำนวน 189,193 คน, เดือน ก.พ. 2565 จำนวน 203,970 คน และ เดือน มี.ค. (1-21 มีนาคม 2565) จำนวน 180,285 คน

การเดินหน้าปลดล็อกการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีเสียงเรียกร้องและขานรับจากภาคเอกชน โดย  นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอให้ยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางทั้งหมดและกลับมาใช้กฎการเข้าประเทศเหมือนในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19

สอดคล้องกับท่าทีของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่ขอให้ยกเลิกมาตรการที่เป็นข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

เวลานี้ หลายๆ ประเทศในยุโรป สหรัฐฯ และภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งมัลดีฟส์ ต่างผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวด สิงคโปร์เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสโดยไม่ต้องกักตัวและลงทะเบียนขออนุญาตเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนกัมพูชา กลับมาเปิดให้บริการขอ Visa on Arrival สำหรับผู้เดินทางต่างชาติทุกคน ยกเลิกข้อกำหนดให้แสดงผลตรวจ RT-PCR และยกเลิกข้อกำหนดในการตรวจ ATK เมื่อเดินทางถึงกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา

ไม่แค่ปลดล็อกเข้าประเทศเท่านั้น ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ เรื่องกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติให้ลดวันกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงเหลือเพียง 5 วัน และสังเกตตัวเองต่ออีก 5 วัน หรือ 5+5

อีกมูฟเม้นท์หนึ่งที่น่าสนใจในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั่นคือ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยครอบคลุมการรักษาของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 รวมทั้งการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนทุกมาตรา

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 จะได้รับการช่วยเหลือครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยใน โดย สปส.จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับทางโรงพยาบาลตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 การรักษาพยาบาลใช้สิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

รายละเอียดค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มีดังนี้ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ, ค่าดูแลการให้บริการผู้ประกันตน (ค่าอาหาร 3 มื้อ การติดตามอาการ และการให้คำปรึกษา), ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และอุปกรณ์อื่น ๆ, ค่ายาที่ใช้รักษา, ค่าพาหนะเพื่อรับหรือส่งต่อผู้ป่วยระหว่างที่พัก โรงพยาบาลสนามและสถานพยาบาล, ค่าบริการเอกซเรย์ (x-ray) และค่าออกซิเจนตามดุลพินิจของแพทย์

ค่าทดแทนขาดรายได้ จ่ายทุกมาตรา สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีลาป่วย 30 วันแรกจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กรณีจำเป็นต้องหยุดพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยรับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน หากป่วยเรื้อรังได้รับไม่เกิน 365 วัน

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างอยู่ที่จำนวน 4,800 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วันปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง จะสามารถได้เงินทดแทน ไม่เกิน 365 วัน โดยต้องมีการส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันเข้ารับการบริการทางการแพทย์

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับเงินทดแทนตามทางเลือก ดังนี้ เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท กรณีรับการรักษาประเภทผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)

เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3) และเงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี

กรณีไม่ได้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือไม่ได้กักตัว มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อสำนักงาน (เฉพาะทางเลือกที่ 1 และ 2 เท่านั้น สำหรับทางเลือกที่ 3 ไม่คุ้มครอง) โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม www.sso.go.th หรือโทร.สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมข้างต้น ถือว่ามาล่าช้ามากๆ โดยก่อนหน้านี้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ต้องพึ่งพาระบบการดูแลจาก สปสช. เป็นหลัก ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเบี้ยเข้าระบบประกันสังคมทุกๆ เดือน ส่วนประชาชนอีกกลุ่มที่ซื้อประกันสุขภาพด้วยตนเอง การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ซื้อประกันโควิดแบบ  “เจอ-จ่าย-จบ” กรมธรรม์ยอดฮิตที่ทำเอาบริษัทประกันเจ๊งยับกับผลิตภัณฑ์นี้ ยอดเคลมยังเป็นขาขึ้นพุ่งกระฉูดจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่ติดต่อกันได้ง่าย

นายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา  ผู้ช่วยเลขาธิการ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. ประเมินจากสถานการณ์ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเคลมประกันโควิด เดือน มี.ค.นี้ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 8,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท และเดือน ก.พ. ที่มียอดเคลมประมาณ 5,200 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าว ว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2565 กรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบจะทยอยหมดอายุการคุ้มครอง และจะสิ้นสุดทุกกรมธรรม์ในช่วงเดือน มิ.ย. 2565

สำหรับยอดเคลมประกันภัยโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ที่ผ่านมา มียอดสะสมสะสมตั้งแต่ปี 2563 ถึงวันที่ 15 มี.ค. 2565 อยู่ที่ 5.18 หมื่นล้านบาท เป็นยอดเคลมเจอจ่ายจบ 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือ 9.8 พันล้านบาท เป็นยอดเคลมค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ จากการประกันภัยโควิดทั้งระบบที่มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสะสม 20.55 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 1.09 หมื่นล้านบาท

ณ วันที่ 15 มี.ค. 2565 กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีเบี้ยประกันรับทั้งระบบอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท จำนวนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครอง 42 ล้านคน

ฝ่ายวิจัยของบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ประมาณการว่า จนถึงเดือน มิ.ย. 2565 ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 จะสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากการประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบเป็นหลัก โดยอ้างอิงจากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศ รวมการตรวจ ATK ในปัจจุบันพุ่งสูงกว่าวันละ 30,000-40,000 ราย สูงกว่าช่วงการระบาด เมื่อไตรมาส 3/2564 ที่มียอดผู้ติดเชื้อราว 20,000-25,000 รายต่อวัน

ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะทำให้บริษัทประกันถึงกับล้มหายตายจากจากยอดเคลมประกันที่มากล้นจนเกินจะรับไหว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น