วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ความพยายามแบ่งแยกดินแดนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของกลุ่มสุดโต่ง BRN

ความพยายามแบ่งแยกดินแดนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของกลุ่มสุดโต่ง BRN

ความพยายามแบ่งแยกดินแดนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของกลุ่มสุดโต่ง BRN ที่ทำกันมาเนิ่นนาน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกว่าหมื่นราย มาตลอด 21 ปีที่ผ่านมา

พยายามสร้างความแตกแยกและขัดแย้งทางศาสนา รวมไปถึงชูอัตลักษณ์เดี่ยวมลายู ในแบบที่ไม่มีประเทศไหนต้องการ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย

นอกจากความพยายามที่ไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว ประชาชนทั่วไปยังเริ่มรู้ซึ้งถึงความชั่วร้ายของกลุ่มขบวนการ ที่ขยายองค์กรแทรกซึมอยู่ในรัฐสภา แวดวงวิชาการ และสื่อสารมวลชน จากการกระทำลอบสังหารผู้บริสุทธิ์ที่เป็นพลเรือน ซ้ำร้ายยังมีประชาชนทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่มุสลิม และพลเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง แล้วจะยังคิดหรือว่า ญาติพี่น้องเขาจะไม่โกรธแค้น และจะยังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ในขณะที่เวลาพูดปลุกระดม ยุยงปลุกปั่นมาอิงศาสนาแบบเต็มสตรีม

ขณะเดียวกัน ทั้งกลุ่มขบวนการสุดโต่ง BRN และกลุ่มการเมือง นักวิชาการที่ถูกชักใย ช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาสันติภาพจนแทบจะอกแตกตาย องค์การสหประชาชาติ และ OIC ที่รับรายงานติดตามข่าวสารในพื้นที่ จชต. ก็ยิ่งหันหลัง และค่อยๆหายจากการสนับสนุน เพราะผิดหลักการ IHL ที่กลุ่มบุหงารายาเคยไปลงนามสนธิสัญญาเจนีวาคอล แลกกับการให้เงินทุน และการช่วยเหลือ เพียงหวังว่า พวกกลุ่มขบวนการสุดโต่ง BRN จะกลับใจมาเคร่งครัดในแนวทางสันติ อยู่ในร่องในรอยตามโองการของพระผู้เป็นเจ้า หรืออย่างน้อย การกลับตัวกลับใจจากความเป็นชัยฏอน ให้มามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และไม่จมอยู่กับวังวน ในยุคสมัยล่าอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

กระนั้นยังไม่พอ ความขัดแย้งของกลุ่มขบวนการ และความพยายามชิงดีชิงเด่น ของมากกว่า 2 กลุ่มแกนนำ นับตั้งแต่อุสตาซอับดุลรอนิง ลาเต๊ะ เสียชีวิต ด้วยการใช้มวลชนของตัวเองที่อ้างว่าสร้างมากับมือ ก่อเหตุให้ประชาชนได้รับผลกระทบไม่เว้นแต่ละวัน จนไม่รู้ว่างานนี้ใครสั่งใครทำ เวทีเสวนาก็ไม่เดินไปด้วยกัน แยกกันคุย แยกกันทำแบบคนละทิศละทาง สร้างผลกระทบกับความน่าศรัทธาที่เคยถูกกล่าวให้เชื่อว่าเป็นกลุ่มนักรบปาตานี มีอุดมการณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมุ่งกระทำต่อเจ้าหน้าที่ที่มีการฟัตวาแล้วว่า ได้กระทำย่ำยีหรือรังแกพี่น้องมุสลิมเท่านั้น

แต่เปล่าเลย ในขณะที่เจ้าหน้ามี่ต่างเข้าใจและช่วยพัฒนาบ้านเมือง การฮุก่ม คนนั้นผิดคนนั้นไม่ดี ไม่สามารถกระทำได้ถ้าเป็นเพียงแค่หัวหน้ากลุ่มเปอร์มูดอ แต่แกนนำ 2-3 กลุ่มกลับชี้นิ้วบอกให้วัยรุ่นกระทำการที่ขัดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง แสดงถึงความไม่รู้ในหลักการศาสนาอิสลาม สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงในอดีตว่าปัตตานีเคยเป็นระเบียงเมกกะ มีอุลามะฮจำนวนมาก ที่รู้จริง

ความเปลี่ยนไปในวันนี้ ทำให้แกนนำที่กำลังแข่งขันก้าวขึ้นมาจะเป็นตัวแทนของอุสตาซอับดุลรอนิง กับความกระหายอำนาจกำลังทำให้กลุ่มขบวนการสุดโต่ง BRN เป็นได้เพียงแค่ลัทธิ ที่ไม่อาจนำศาสนามาอ้างได้อีกต่อไป

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ความงดงามของการอยู่ร่วมกัน ไทยพุทธ–ไทยมุสลิม บนผืนแผ่นดินเดียวกัน

ความงดงามของการอยู่ร่วมกัน: ไทยพุทธ–ไทยมุสลิม บนผืนแผ่นดินเดียวกัน

ประเทศไทยเป็นบ้านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่คนไทยพุทธและไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน หลายชั่วอายุคน คนทั้ง 2 กลุ่มต่างเคารพกันและกัน ทั้งในด้านความเชื่อ ความศรัทธา และวิถีชีวิต แม้มีความแตกต่าง แต่กลับไม่เคยเป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน

ในอดีต คนไทยพุทธและไทยมุสลิมต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจในหลักปฏิบัติของแต่ละศาสนา ไม่ล้ำเส้น ไม่ก้าวก่าย ทั้งสองฝ่ายดำรงตนอยู่ในจริยธรรมและศีลธรรมที่ดีตามแนวทางของศาสนาตน เราเห็นภาพของการร่วมงานบุญ งานพัฒนาชุมชน หรือแม้กระทั่งการป้องกันเหตุร้ายในหมู่บ้าน ต่างช่วยเหลือกัน ร่วมแรงร่วมใจกันโดยไม่แบ่งแยกศาสนา

ในชีวิตประจำวัน คนไทยพุทธและมุสลิมก็ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างกลมเกลียว เช่น การเข้าป่าตัดยาง ตัดทุเรียน หรือไปมาหาสู่กันยามค่ำคืน ยืมข้าว ยืมของโดยไม่มีความระแวง ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความอบอุ่นและเชื่อใจ

แต่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์นี้กลับถูกบั่นทอนโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างความหวาดกลัว สร้างความเข้าใจผิดระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิม พวกเขาใช้ความรุนแรงเพื่อจุดชนวนแห่งความแตกแยก ทำร้ายฝ่ายหนึ่งแล้วโยนความผิดให้อีกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเกลียดชังกัน

ผลลัพธ์คือ ความสงสัย ความไม่ไว้วางใจ และความกลัวเริ่มก่อตัวขึ้นในหัวใจของคนในชุมชน สิ่งที่เคยเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น กลับกลายเป็นความเย็นชาและห่างเหิน หลายคนเริ่มอ้างสิทธิของศาสนา ก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ความเชื่อของอีกฝ่าย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และการปะทะทางอารมณ์โดยไม่ตั้งใจ

แต่เราต้องไม่ลืม ว่าศัตรูที่แท้จริงไม่ใช่กันและกัน แต่คือกลุ่มคนเพียงหยิบมือ ที่พยายามบิดเบือนและทำลายความสงบสุขที่เราร่วมกันสร้างมา อย่าให้ความเกลียดชังที่พวกเขาปลูกฝัง สำเร็จผลในจิตใจของเรา อย่าให้ความดีที่มีต่อกันถูกลบล้างเพราะการกระทำของคนไม่กี่คน

ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันกลับมาเข้าใจและเชื่อมั่นในกันและกันอีกครั้ง ฟื้นฟูความไว้ใจ และร่วมกันปกป้องบ้านเกิดของเราให้อยู่ในความสงบสุข สานต่อมิตรภาพที่ยาวนาน และยืนหยัดต่อพลังแห่งความแตกแยกด้วยความสามัคคี

ความดี ความรัก และความเข้าใจ จะทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ ไม่ว่าสิ่งใดจะพยายามทำลายเราก็ตาม

BRN หมดทางต่อสู้ มุ่งทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างผิดหลักมนุษยธรรม

BRN หมดทางต่อสู้ โดยทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างผิดหลักมนุษยธรรม

จากเหตุเศร้าสะเทือนใจของพี่น้องไทยพุทธกรณี เมื่อ 22 เม.ย. 2568 เวลา 06.30 น. เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงรถยนต์กระบะของ รตท.วัฒนา ชูมาปาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา บริเวณถนนสวนโอน บ้านคลองเรียน ห่างจากวัดกูหลา ประมาณ 500 เมตร ขณะขับรถมาจากรับพระและสามเณร จำนวน 6 รูป เพื่อบิณฑบาตรในเขตเทศบาลสะบ้าย้อย

ตำรวจได้ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ จากนั้นได้ขับรถออกจากพื้นที่เกิดเหตุและนำผู้บาดเจ็บส่ง รพ.สะบ้าย้อย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สามเณรพงษ์กร ชูมาปาน อายุ 16 ปี ลูกชาย รตท.วัฒนา เสียชีวิต และสามเณรโภคนิษฐ์ โมราศิลป์ อายุ 12 ปี ได้รับบาดเจ็บ

ถัดมา เมื่อ 2 พ.ค. 2568 เกิดเหตุในพื้นที่หมู่ 5 ต.โฆษิต อ.ตากใบ เวลา 19.38 น. คนร้ายใช้รถจักรยานยนต์ 3 คันเป็นพาหนะ กราดยิงด้วยอาวุธปืนใส่บ้านประชาชน ขณะที่ชาวบ้านกำลังนั่งดูโทรทัศน์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กหญิงวัยเพียง 9 ขวบ และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย คือ นายเชาว์ อายุ 44 ปี และ นายภาคีไนย อายุ 29 ปี ซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ทันที

และในวันเดียวกัน ที่ อ.จะแนะ เกิดเหตุลอบยิงหญิงชราวัย 76 ปี ซึ่งตาบอดทั้ง 2 ข้าง ขณะเดินทางกลับจากโรงพยาบาลพร้อมลูกชายวัย 50 ปี ทำให้หญิงชราเสียชีวิตคาที่ ส่วนลูกชายได้รับบาดเจ็บสาหัสและอยู่ระหว่างการรักษา เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจให้กับชุมชนอย่างมาก

ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ BRN มีการวางแผนมาเป็นอย่างดีต้องการสื่อให้สังคมเข้าใจผิดเป็นการล้างแค้นระหว่างศาสนานำไปสู่ความแตกแยกของพี่น้องไทยพุทธไทยมุสลิมในพื้นที่ อีกทั้งพฤติกรรมดังกล่าวของ BRN เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากภาพข่าวในโลกโซเซียล ได้นำเสนอออกไปสู่สาธารณอย่างกว้างขวางนั้น มีเฟสบุ๊ค มีเว็บเพจ รวมถึง สส.บางคนในพื้นที่ พยายามชี้นำสังคมให้เห็นถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีการกล่าวโทษการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนนำไปสู่ความเดือดร้อน ไม่ได้มีการกล่าวถึง BRN ซึ่งเป็นต้นตอและต้นเหตุแห่งความรุนแรง

ข้อเท็จจริงที่ สส.โจรใต้ มองข้ามและไม่ได้นำเสนอกับประชาชนแท้จริงแล้ว ผกร. หมดหนทางต่อสู้ โดยหันมาทำลายประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นเป้าหมายอ่อนแอแทนการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกทั้งยังทำลายนักบวช ผู้นำศาสนาไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรืออิหม่าม อย่างโหดเหี้ยมผิดหลักมนุษยธรรม เพื่อต้องการสร้างความแตกแยก ความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาซึ่งเป็นความพยายามหลักของ ผกร. ที่ได้ทำการก่อเหตุเคลื่อนไหวมาโดยตลอดห้วง 20 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งในแง่สังคมจิตวิทยา นอกจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วยังมีสงครามความรู้สึก สงครามทางความคิด มีการปล่อยกระแสข่าวลือเพื่อบ่อนทำลายความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อทุกแขนงย่อมมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ หรือนอกพื้นที่รวมทั้งการนำเสนอเผยแพร่ข่าวสารไปยังต่างประเทศ หากสื่อขาดวิจารณญาณในการนำเสนอข่าว หรือนำเสนอข้อเท็จจริงไม่ครบประเด็นหรือไม่รอบด้านแล้วจะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวมของรัฐบาล

หากจะกล่าวไปแล้วปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาที่รากฝังแน่นลึกมานานหลายสิบปี ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่มีแค่เฉพาะปัญหาความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังเชื่อมโยงไปยังขบวนการค้ายาเสพติด การลักลอบสินค้าหนีภาษีให้การหนุนหลังเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ ผกร. ใช้ก่อเหตุซึ่งหากจะกล่าวถึงคงจะเยิ่นยาว ทั้งหมดทั้งสิ้นเมื่อปัญหาภัยแทรกซ้อนผสมผสานกับปัญหาจากการก่อเหตุของ ผกร. ผลกระทบทั้งมวลประชาชนคือผู้ที่รับเต็มๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ฉะนั้นสื่อมวลชนที่พยายามชี้ให้เห็นปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมีการกล่าวโทษการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าผิดพลาด ดูแลประชาชนไม่ทั่วถึงจะต้องกลับไปคิดทบทวนถึงต้นตอว่าใคร? คือผู้ทำให้ประชาชนเดือดร้อนดีกว่า

แต่ที่แน่ๆ ณ วันนี้ BRN หมดทางต่อสู้ โดยทำลายประชาชนผู้บริสุทธิ์ สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยอย่างไร้มนุษยธรรมและขาดความรับผิดชอบต่อการกระทำอันป่าเถื่อน นี่หรือ!!! การเรียกร้องสันติภาพของ BRN

กลุ่มผลประโยชน์ “BRN” ขบวนการนอกศาสนา

กลุ่มผลประโยชน์ “BRN” ขบวนการนอกศาสนา

ปัญหาไฟใต้ ยังคงเกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลามากกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 47 ได้สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนแก่ประชาชน เศรษฐกิจ การเมือง และวิถีชีวิต อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ด้วยความห่วงใยจากทุกภาคส่วนต่อสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ความจริงปรากฎได้ต่อสู้อยู่กับใคร? หน่วยงานความมั่นคงได้รู้ว่าผู้ที่สร้างความปั่นป่วนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN-Coordinate) การต่อสู้ของขบวนการ “บีอาร์เอ็น” “ตัวการป่วนใต้”ที่ยังคงก่อเหตุร้ายรายวัน และมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เห็นได้จากการชักจูงเยาวชนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้มาปลูกฝังแนวความคิด ความเชื่อเรื่อง “รัฐปัตตานี” และเข้าพิธี “ซุมเปาะ” (สาบานตน) จากคำสารภาพของผู้ที่ต้องการออกจากการเป็นแนวร่วมหลายครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ และดำเนินกรรมวิธีซักถามแนวร่วมหลายคนมีความต้องการถอน “ซุมเปาะ” (ถอนคำสาบาน) เพื่อพ้นสภาพจากการเป็นขบวนการอย่างถูกต้องตามหลักการของขบวนการ “บีอาร์เอ็น”

“แนวความคิด” หากเรามาพิจารณาถึงหลักการ “ซุมเปาะ” ของกลุ่มขบวนการมีบีบบังคับให้กลุ่มเยาวชนมุสลิมผู้ที่มีหน่วยก้านดี มีลักษณะเป็นผู้นำ ก็จะมีการส่งไปฝึกหลักสูตรที่เรียกว่า (อาร์เคเค) ที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อสำเร็จหลักสูตรมาแล้ว จะเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อ “ครูสอนศาสนา” ในโรงเรียนตาดีกา หรือโรงเรียนปอเนาะ จากนั้นจะเข้าสู้กระบวนการถ่ายทอดแนวความคิดแบ่งแยกดินแดนให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นครูสอนศาสนาอยู่ โดยจะมีเฝ้ามองในการคัดเลือกนักเรียนที่จะมาเป็นแนวร่วมจะต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่กลุ่มขบวนการได้วางไว้ คือ ต้องเรียนเก่ง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะถือว่าเป็นคนที่ “มีอุดมการณ์” จากนั้นจะดึงมาเข้าพิธี “ซุมเปาะ” ก่อนจะส่งเข้าทำการฝึกยุทธวิธีทางทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“กระบวนการ” ในส่วนของผู้นำศาสนาแนวร่วมกลุ่มผลประโยชน์ BRN-Coordinate จะมีการจัดตั้ง “อุสตาส” เพื่อการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา ดึงมวลชนให้เข้าสู่แนวร่วม “อุสตาส”เหล่านี้จะได้รับการจัดตั้งจากภายในองค์กร หลังจากนั้นจะมีพิธีสาบานตน “ซุมเปาะ” ต่อคัมภีร์อัลกุรอาน ตามหลักความเชื่อของกลุ่มในแนวทางที่จากหลักศาสนาอิสลาม โดยจะให้ผู้ที่จะเข้าร่วมกับขบวนการ ทำการเปล่งวาจาสาบาน 3 ข้อ ด้วยกัน กล่าวคือ จะยอมเสียสละทรัพย์สินชีวิตเพื่อกอบกู้รัฐปัตตานี และปกป้องศาสนาอิสลาม ,จะไม่ยอมแพร่งพรายความลับขององค์กรให้ผู้ใดทราบโดยเด็ดขาด ,จะมาทุกครั้งที่มีการนัดหมาย และเชื่อฟังผู้นำอย่างเคร่งครัด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะมีการแพร่ขยายไปยังสถานที่ปฏิบัติทางศาสนา เช่น มัสยิด ตาดีกา รวมไปถึงสถาบันปอเนาะ โดยจะมี อุสตาส ครูสอนตาดีกา และเยาวชนมุสลิมเป็นผู้ลงพื้นให้ความรู้และปลุกกระแสความเชื่อให้ประชาชนในพื้นที่คล้อยตามหลักการละแนวคิดอุดมการณ์ของกลุ่ม “บีอาร์เอ็น” เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเคารพหลักการและคำพูดของผู้นำศาสนาเป็นหลัก ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของกลุ่ม BRN เหมือนเป็นการทำเกมทางการเมือง การใช้กลุ่มองค์กรนิสิตนักศึกษา รวมทั้งภาคประชาสังคม ปลุกระดมแนวคิด การสร้างมวลชนเพื่อทำการเคลื่อนไหว นำข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐไปขยายผล รวบรวมเพื่อสื่อไปยังองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศ (โอไอซี) โดยให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าแทรกแซงเพื่อให้มองเห็นความจำเป็นของการมี “รัฐใหม่” ซึ่งเป็นรัฐที่มีความเฉพาะทางด้านเชื้อชาติ-ศาสนา ฝ่ายตรงข้ามยังให้ความสำคัญกับ “พลังมวลชน” (People Uprising) ซึ่งถือเป็น “พลังหลัก” แห่งความสำเร็จในการปฏิวัติเพื่อแยกรัฐปัตตานีออกจากอำนาจรัฐไทย โดยไม่ใช้อำนาจทางทหาร เน้นกลยุทธ์ที่ว่า “หากทำให้มวลชนเชื่อหรือศรัทธาไม่ได้…ให้ใช้วิธีทำให้กลัว”

“การลงสนาม”ของกลุ่มแนวร่วมใหม่ที่เป็น “เยาวชนชาย” หรือ “เปอร์มูดอ” ที่ผ่านการฝึก จะลงสนามทำการก่อเหตุในลักษะก่อกวนในพื้นที่ เช่น การวางระเบิด เผาเสาไฟฟ้า ลอบยิง จนไปถึงการลอบสังหาร ซึ่งจะค่อยปรับและเพิ่มขีดความสามารถในการก่อเหตุเป็นลำดับ แต่ที่น่าสลดใจทางกลุ่มใช้ศาสนามาอ้างในการก่อเหตุและลงมือก่อเหตุในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีทั้ง มัสยิด กูโบร์ วัด เช่นเหตุการณ์ลอบยิงประชาชนกำลังจะไปละหมาดที่มัสยิด ฆ่าราษฎรที่กำลังจะไปทำบุญที่วัด และที่น่าสลดใจมากกว่านั้นกลุ่ม บีอาร์เอ็น ยังมีการกระทำที่เลวร้าย โดยยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตแล้ว กำลังนำศพไประกอบทางศาสนาที่ลุ่มฝั่งศพ “กูโบร์” ยังไปลอบวางระเบิดต่ออีกที่ลุ่มฝั่งศพ (ชั่วเกินคำบรรยายจริงๆ) ขอตั้งฉายาเลยว่า “กลุ่มผลประโยชน์ BRN ขบวนการนอกศาสนา”  เหอ!! หลักการที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม BRN ที่ทำเพื่อประชาชนชาวปาตานี ทำเพื่อศาสนาอิสลาม แท้จริงแล้วทำไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่ามั้ง...

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

อิสลามกับอัตลักษณ์สู่สันติสุข

อิสลามกับอัตลักษณ์สู่สันติสุข

         ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทั้งด้านชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา การสร้างความเข้าใจระหว่างกันเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บทบาทของศาสนาอิสลามและหน่วยงานภาครัฐ จึงมีความสำคัญในการหล่อหลอมสังคม ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดระแวงหรือการแบ่งแยก

อิสลามไม่สนับสนุนสร้างความแตกแยก

         ศาสนาอิสลาม มีหลักการที่ชัดเจนในการห้ามการปลุกปั่น ให้เกิดความแตกแยกในหมู่มนุษย์ ไม่ว่าจะในมิติของศาสนา เชื้อชาติ หรืออุดมการณ์ อัลกุรอานได้กล่าวถึงความสำคัญของเอกภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในหลายบท โดยเน้นย้ำว่า ความแตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ เพื่อให้มนุษย์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิใช่เพื่อก่อความขัดแย้ง "และจงยึดมั่นเชือกของอัลเลาะห์ทั้งหมด และอย่าแตกแยกกัน..." (อัลกุรอาน 3:103)

         ข้อความนี้ สะท้อนเจตจำนงของศาสนาอิสลามที่มุ่งส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมมนุษย์ การปลุกระดมด้วยถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง การแยกแยะคนออกจากกันด้วยเชื้อชาติหรือศาสนา ถือเป็นการละเมิดหลักศรัทธาอย่างชัดเจน

         ศาสนาอิสลามยังกำชับว่า ผู้ที่ทำลายความสงบในสังคม หรือผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ผ่านความขัดแยก จะต้องได้รับการปฏิเสธจากชุมชน ผู้ศรัทธาจึงมีหน้าที่ในการส่งเสริมสันติภาพ และยับยั้งการกระทำใดๆ ที่นำไปสู่ความเกลียดชัง แม้บุคคลนั้นจะแสดงตนว่าเป็นมุสลิมก็ตาม

ความเข้าใจของภาครัฐไทย : สนับสนุนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์

         ในด้านของภาครัฐไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้มีพัฒนาการที่น่าสนใจในการสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของประชาชน เจ้าหน้าที่จำนวนมากตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพและสนับสนุนความแตกต่าง ไม่เพียงแค่ในเชิงวัฒนธรรม แต่รวมถึงความเชื่อและวิถีชีวิต

         โครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมการใช้ภาษามลายูถิ่นในโรงเรียน สนับสนุนเครื่องแต่งกายตามหลักศาสนาในหน่วยงานรัฐ หรือการร่วมพิธีกรรมของชุมชนในฐานะผู้สนับสนุน ล้วนเป็นภาพสะท้อนของความพยายามสร้างสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจ ไม่ใช่กำแพงแบ่งแยก

        เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีแนวคิดเปิดกว้าง มองเห็นว่าอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็น “ทุนทางสังคม” มากกว่าจะเป็น “อุปสรรคต่อความมั่นคง” ทำให้สามารถวางนโยบายในลักษณะ “การพัฒนาเพื่อสันติภาพ” มากกว่า “การควบคุมเพื่อลดความเสี่ยง

         การมีบทบาทเชิงบวกนี้ ช่วยลดแรงต่อต้านจากชุมชน เพิ่มความไว้วางใจ และเปิดโอกาสให้ภาครัฐทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีอคติต่อศาสนาอิสลามหรือวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นบนฐานของ “ความเคารพซึ่งกันและกัน” ไม่ใช่แค่ “ความจำยอม

การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ

         สังคมไทยมีความหลากหลายเป็นพื้นฐาน เจ้าหน้าที่รัฐ จึงควรเป็นแบบอย่างของความเข้าใจอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ในขณะเดียวกัน ผู้นำศาสนา และประชาชนที่มีศรัทธา ควรส่งเสริมอิสลามในแบบที่ไม่สร้างกำแพง ไม่ตัดสินผู้อื่น และไม่ใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรืออุดมการณ์สุดโต่ง

         ความสันติสุขที่แท้จริง จึงไม่ได้เกิดจากความเหมือนกันทั้งหมด หากแต่เกิดจาก “การอยู่ร่วมกันอย่างต่างอย่างเข้าใจ” บทบาทของศาสนาและภาครัฐ จะต้องเดินคู่กัน เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความมั่นคง ที่มีรากฐานจากหัวใจของประชาชน

แตกต่างด้วยศรัทธา ไม่แตกแยกในความเป็นไทย

แตกต่างด้วยศรัทธา ไม่แตกแยกในความเป็นไทย

         ถ้าศาสนาจะบ่งบอกถึงความเป็นไทย ความเป็นไทยนั้นไม่ควร “ผูกขาด” ไว้กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ไม่สมควรนำความแตกต่างในการนับถือศาสนามาเป็นประเด็นในการแบ่งแยก หรือนิยามความเป็นหรือไม่เป็นไทย

         อคติที่เห็นการปฏิบัติตามหลักศาสนาเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง สะท้อนถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจศาสนบัญญัติ และหลักปฏิบัติของศาสนาอื่น ศาสนาประจำชาติ หรือศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการสร้างความเข้าใจต่อความแตกต่างระหว่างศาสนา “จินตนาการใหม่ความเป็นไทย” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโอบรวมเอาความแตกต่างเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันให้ได้

         นักศึกษาวิทยาลัยอิสลามยะลากลุ่มหนึ่ง ได้สะท้อนสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่มองพวกเขา นักวิจัยโครงการจินตนาการใหม่ “ความเป็นไทย” ศูนย์พัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งร่วมสนทนาด้วย ได้เห็นว่าส่วนใหญ่มองพวกเขาเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลาม และมีวิถีชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหา

         ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามกันเป็นส่วนใหญ่ ถูกนำมาเชื่อมโยงและเข้าใจว่า เกิดจากความเคร่งศาสนา ถ้าเราจะสามารถลดอคติ ลดความคิดที่ไม่ถูกต้องอันนี้ออกไปได้ ผมเชื่อว่า เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้” นี่คือสิ่งที่นักศึกษาคนหนึ่งสะท้อนออกมา

         เขาบอกว่า คนทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาใดๆ และปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนานั้น ความแตกต่างในการนับถือศาสนา ต้องไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นความขัดแย้งทางโลก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

         พวกเขาเชื่อมั่นว่า ศาสนาไม่ใช่ที่มาของความขัดแย้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระดับโลก แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตในฐานะอิสลามิกชน เหตุการณ์การก่อการร้าย11 กันยา ทำให้มุสลิมกลายเป็น “ผู้ร้าย” ของโลก ไม่เว้นแม้แต่มุสลิมในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็อยู่ร่วมกันอย่าง “สงบสุข” มาก่อน

         มีความคิดซึ่งพยายามจะใส่ร้าย พยายามให้ภาพศาสนาอิสลามและมุสลิมเป็นลบ เช่น คนที่ใส่ฮิญาบแสดงว่าเป็นพวกเคร่งศาสนา จะต้องถูกปราบ ถูกจัดการ นี่เป็นผลจากเหตุการณ์ 11 กันยา เราถูกมองเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น นี่เป็นกฎของศาสนา ถ้าเราไม่กระทำก็คือผิดกฎ เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ที่มีหลักปฏิบัติ ซึ่งผู้นับถือศาสนานั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม ไม่ควรนำความหลากหลายทางศาสนามาเป็นประเด็น เพราะเป็นสิทธิ
ของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละศาสนามีหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

         นักศึกษาอีกคนขยายความคิดต่อว่า อยากจะให้ทุกคนมองว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก เพราะทุกศาสนาต่างมีคำสอนและการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้นับถือเป็น “คนดี” ตามครรลองของศาสนา

         นักศึกษากลุ่มนี้ ยืนยันถึงการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งถูกมองในแง่ลบว่า การปฏิบัติอย่างเคร่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง ก่อความสะเทือนใจให้แก่พวกเขา ยิ่งเปรียบเทียบกับความเคร่งของศาสนิกชนอื่นๆ ซึ่งมักจะได้รับการยกย่อง ชื่นชม และได้ชื่อว่า เป็นศาสนิกชนที่ดี ทำให้เห็นการถูกเลือกปฏิบัติ เพราะการเป็นมุสลิม

         “ไม่ใช่ความเคร่งหรือไม่เคร่ง แต่เป็นกฎของศาสนาที่มุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติ แต่ก็มีคำถามอีกว่า ทำไมคนนี้ดื่มเหล้า ทำไมคนนี้ไม่ใส่ฮิญาบ ทำไมคนนี้ไม่ไปมัสยิด พอมีคนปฏิบัติตามหลักของศาสนา กลับถูกมองว่า เป็นพวกเคร่งกับศาสนามากเกินไปหรือเปล่า ผมจะตอบว่า นี่คือศาสนาที่เรานับถือ คนที่เป็นมุสลิมบางคนอาจจะไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่ถูกกำหนดไว้ เช่นเดียวกับพุทธศาสนนิกชน การดื่มเหล้าย่อมผิดศีล แต่เขาก็ยังเป็นคนพุทธ

         ความเป็นไทย ซึ่งถูกปลูกฝังและบ่มเพาะในสำนึกของสังคมผ่านระบบการศึกษา ทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่แสดงถึงความเป็นไทย เช่นเดียวกับภาษาไทยที่มีพื้นฐานมาจากภาษาไทยกลาง จนกลายเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติ ได้กีดกัน ผลักไส มิให้ความแตกต่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นไทย

         การมองไม่เห็นที่ยืนของตนเองในความเป็นไทยดังกล่าว ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ปฏิเสธที่จะจินตนาการความเป็นไทยผ่านศาสนา

         “ระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้เราเข้าใจหลายๆ อย่าง หลานสาวคนหนึ่งที่กลับมาตั้งคำถามว่า ทำไมที่โรงเรียนมีสอนแต่วิชาพุทธศาสนา ทำไมไม่เห็นมีวิชาอิสลามศึกษา หรือคริสต์ศาสนาศึกษาเลย ตัวเขาอยากจะเข้าใจศาสนาอื่นเช่นเดียวกัน ระบบการศึกษาไม่ได้เปิดโอกาสให้เรา เพราะมันไม่มีการเรียนการสอน ซึ่งจะสร้างความเข้าใจ ทำให้เราเข้าใจศาสนาอื่น นอกเหนือจากศาสนาที่เป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในสังคมเรา”

         เขามองว่า ความเป็นคนไทย ไม่จำเป็นว่าจะต้องพูดภาษาไทย ไม่จำเป็นว่าจะต้องนับถือศาสนาอะไร เพียงว่าถือกำเนิด บ้านเกิดเมืองนอนอยู่ในแผ่นดินไทย รักประเทศไทย ไม่จำเป็นว่าต้องนับถือศาสนาพุทธ หรือต้องพูดภาษาไทย แต่สามารถที่จะพูดภาษาอะไรก็ได้

         ความเป็นคนไทยจากการเกิดในประเทศไทย ไม่ต้องนับถือศาสนาพุทธ ไม่ต้องพูดภาษาไทย อาจเหมาได้ว่าใครก็อ้างการเป็นคนไทยและความเป็นไทยได้ แต่การนิยามเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับคนส่วนใหญ่ และไม่ได้พูดภาษาไทย

         การขยายอาณาบริเวณของความเป็นไทย เปิดกว้างให้แก่ความแตกต่างเช่นนี้ ทำให้เขาสามารถมีส่วนร่วมในความเป็นไทยไปพร้อมๆ กับการดำรงอัตลักษณ์ การนับถือศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมของตนและชุมชนได้

         จินตนาการความเป็นไทย จึงอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งความพยายามนิยาม จำกัดความ ช่วงชิงการนิยาม เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ขณะที่จินตนาการเดียวกันนี้ของบางคนเกิดขึ้นจากการเลี่ยง ละเว้นที่จะพูดถึง เพราะเห็นว่า เป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่นการชี้ให้เห็นว่า การนับถือศาสนาที่ต่างกันเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ได้เป็นสิ่งชี้วัดถึงความเป็นไทย หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิยาม ความหมายของความเป็นไทย

         เพราะความเป็นไทยที่ต้องนับถือศาสนาพุทธ ทำให้เขาปราศจากจินตนาการความเป็นไทยในความหมายนี้ นั่นเอง

         การจินตนาการใหม่ “ความเป็นไทย” จำเป็นอย่างยิ่งต้องสะท้อนถึงความแตกต่าง เพื่อให้จินตนาการนี้สามารถโอบกอดความหลากหลายของผู้คน เป็นจินตนาการเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขอย่าง

ความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์และเสียงเรียกร้องจากประชาชน

ความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์และเสียงเรียกร้องจากประชาชน

         ความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์และเสียงเรียกร้องจากประชาชน เมื่อสันติภาพยังไร้ทิศทาง : ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงรอคอยความหวังแห่งสันติภาพ ท่ามกลางชีวิตประจำวันที่ต้องอยู่ภายใต้เงาแห่งความหวาดกลัว ภาครัฐกลับยังไม่มีท่าทีชัดเจนในการเดินหน้าสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นรูปธรรม ความเงียบนี้ไม่ได้เป็นเพียงช่องว่างในทางการเมืองเท่านั้น หากแต่กลายเป็นพื้นที่ว่างให้ความรุนแรงหวนกลับมาอีกครั้งอย่างโหดร้าย และทารุณยิ่งกว่าเดิม

         สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการแสดงแสนยานุภาพของกลุ่มก่อการร้าย หากแต่คือการกระทำที่ป่าเถื่อนเกินจะยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหารพระภิกษุและสามเณรผู้กำลังปฏิบัติกิจทางศาสนา การบุกยิงในบ้านพักของชาวบ้านอย่างไม่เลือกหน้า หรือการก่อเหตุระเบิดในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งล่าสุด เด็กหญิงวัยเพียง 9 ขวบก็กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยม

         ที่สะเทือนใจยิ่งกว่านั้น คือเหตุการณ์ที่หญิงชราผู้พิการทางขาและตาบอด ซึ่งเดินทางไปโรงพยาบาลตามนัดหมายแพทย์เพื่อรักษาโรคประจำตัว และหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อดูแลลูกหลาน กลับถูกผู้ก่อเหตุสังหารอย่างไร้ปรานี โดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะร้องขอชีวิต ความโหดร้ายนี้มิใช่เพียงการลบล้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ แต่ยังเป็นการประกาศชัดว่า กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ไม่ได้มีศีลธรรมจรรยาใดหลงเหลืออยู่อีกต่อไป

         ในเหตุการณ์เหล่านี้ ชาวบ้านทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมต่างร่วมกันแสดงความเศร้าโศก และตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ก่อการร้าย ว่า “จิตใจต้องอำมหิตเพียงใด ถึงจะกล้าทำกับผู้หญิงพิการและเด็กตัวเล็ก ๆ ได้อย่างเลือดเย็น?ความโกรธแค้นของสังคมไม่ใช่เพียงเพราะความสูญเสียของชีวิตเท่านั้น แต่เพราะเหยื่อเหล่านี้ไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของความขัดแย้งใด ๆ ในโลกนี้เลย

         ในฐานะประชาชนผู้รักความสงบ เราเรียกร้องให้รัฐและกลุ่มผู้มีอำนาจทุกฝ่าย หันกลับมาทบทวนว่า เส้นทางใดที่จะสามารถนำพาประเทศไปสู่สันติสุขที่แท้จริง หากภาครัฐยังคงเมินเฉย ต่อการสร้างเวทีพูดคุยอย่างจริงใจ และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ล้มเหลว ความรุนแรงเช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเหยื่อจะเป็นใครก็ได้ในวันถัดไป

         เรายังขอวิงวอนถึงผู้ที่เคยหลงผิด เห็นความรุนแรงเป็นทางออก หรือเชื่อว่าการใช้อาวุธสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ ให้กลับใจ กลับเข้าสู่สังคม ด้วยความสำนึกผิดและตั้งใจจะร่วมสร้างสันติสุขให้แก่บ้านเกิดของตนเอง จงหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ หยุดปลิดชีพเด็กและคนชรา จงนึกถึงความรู้สึกหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเอง หากคนที่ตายคือแม่ของตน ลูกของตน จะยังรู้สึกภาคภูมิใจหรือไม่?

         การคืนสันติภาพให้แก่พื้นที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของภาครัฐเท่านั้น แต่คือภารกิจของทุกภาคส่วน—จากระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมแห่งความเข้าใจ เคารพในความแตกต่าง และต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาในนามใดหรืออุดมการณ์ใด

         ท้ายที่สุด เราขอส่งกำลังใจไปยังครอบครัวของผู้สูญเสียทุกคน และขอให้เสียงของประชาชนที่รักสันติ กึกก้องเพียงพอที่จะปลุกจิตสำนึกของผู้มีอำนาจและผู้ก่อเหตุ ให้รู้ว่าไม่มีเหตุผลใดในโลก ที่จะสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการฆ่าเด็กหรือคนแก่ได้อย่างสมเหตุสมผล สันติภาพไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันสร้างด้วยมือและหัวใจของคนทุกคน

ขอให้สันติสุขกลับคืนสู่ชายแดนใต้โดยเร็ว

ขอให้เสียงร้องของผู้บริสุทธิ์ไม่สูญเปล่า

และขอให้แผ่นดินนี้ปลอดภัยอีกครั้งสำหรับทุกชีวิต