วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567

การเสียชีวิตแบบชะฮีด

การเสียชีวิตแบบชะฮีด

นิยามคำว่า “ชะฮีด” และความหมาย

คำว่า “ชะฮีด” มาจากคำกริยาในภาษาอาหรับว่า ชะฮิด้า (شَهِدَ) หมายถึง บอกข่าว ที่แน่นอน หรือมาจากคำกริยาว่า ชะฮุด้า (شَهُدَ) หมายถึง เป็นพยานยืนยัน

มีคำนามร่วมกันว่า ชะฮาดะฮฺ (شَهَادَة) ซึ่งมีความหมายว่า ข่าวที่แน่นอน, การสาบาน, การเสียชีวิตในวิถีทางของ พระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์(ซ.บ.) เป็นต้น

ในกรณีหลังนี้ เรียกผู้ที่เสียชีวิตในวิถีทางของ พระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์ (ซ.บ.) ว่า “ชะฮีด” (شَهِيد) มีรูปพหูพจน์ว่า ชุฮะดาอฺ (شُهَدَاء)

(อัลมุนญิด ฟิลลุเฆาะฮฺ วัลอะอฺลาม ,หน้า 406;2002)

นักวิชาการได้อธิบายถึงเหตุที่เรียกผู้เสียชีวิตในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์(ซ.บ.) ว่า “ชะฮีด” เอาไว้หลากหลาย ดังนี้.-

1) อัลอัซฺฮะรีย์ กล่าวว่า : (เหตุที่เรียกเช่นนั้น) เพราะอัลเลาะห์(ซ.บ.) และท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ยืนยัน (หรือรับรอง) สวนสวรรค์ แก่บุคคลผู้นั้น (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ ชัรฮุ้ลมุ่ฮัซฺซับ , อันนะวาวีย์ 1/330)

2) อันนัฎรฺ อิบนุ ชะมีล กล่าวว่า : ชะฮีด คือ ผู้มีชีวิตดำรงอยู่ เพราะบรรดาชะฮีดยังคงมีชีวิตอยู่ ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา (อ้างแล้วหน้าเดียวกัน)

3) นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เหตุที่เรียกผู้เสียชีวิตในวิถีทางของอัลเลาะห์(ซ.บ.) ว่า “ชะฮีด” นั้นเป็นเพราะ บรรดาม่าลาอิกะฮฺ (เทวทูต) แห่งความเมตตาได้มาปรากฏ ร่วมเป็นสักขีพยาน และถอดวิญญาณของผู้เป็นชะฮีดนั้น (กิตาบ อัลมัจญฺมูอฺ 1/330 , อัดดุรรุ้ลมุคต๊าร ; 1/848, อัลลุบ๊าบ ; 1/135, มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจญฺ ; 1/350) เป็นต้น

นักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดกลุ่ม ชาฟิอียะฮฺ ได้นิยามคำ “ชะฮีด” ว่าหมายถึง “บุคคล ที่เสียชีวิตจากชาวมุสลิมในการญิฮาด (สงครามปกป้องศาสนา) กับเหล่าผู้ปฏิเสธศาสนาอิสลาม (กุฟฟ๊าร) ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดจากบรรดาเหตุแห่งการสู้รบกับเหล่าผู้ปฏิเสธก่อนการสิ้นสุดสงคราม (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ ; 5/220) หรือ หมายถึง “ผู้ที่ถูกสังหารในการศึกสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องและเชิดชูธงชัยแห่งศาสนาอิสลามให้สูงส่ง” (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญี่ย ; 1/264)

---------------------------------------------------------------

ประเภทของผู้เสียชีวิตแบบชะฮีด

นักวิชาการได้แบ่งประเภทของผู้เสียชีวิตแบบชะฮีดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกนี้และโลกหน้า คือ ผู้ตายชะฮีดในสมรภูมิ (เพื่อปกป้องและเชิดชูธงชัยแห่งศาสนาอิสลามให้สูงส่ง) ข้อชี้ขาดของโลกนี้คือ ไม่มีการอาบน้ำศพ และไม่มี การละหมาดให้ตามทัศนะของปวงปราชญ์ (ญุมฮูรุ้ลอุละมาอฺ) และข้อชี้ขาดของโลกหน้านั้น คือ ผู้ตายชะฮีดนั้นจะได้รับผลานิสงค์เป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นผู้ตายชะฮีดที่ได้รับภาคผลของการเป็นชะฮีด (ชะฮาดะฮฺ) ที่สมบูรณ์ (อัลฟิกฮุล อิสลามี่ย์ ว่า อะดิ้ลล่าตุฮู ; วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์, 2/559 , ดารุ้ลฟิกร์ , ดามัสกัส ; 1989)

2. ชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกนี้เท่านั้น คือ ตามความเห็นของนักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดกลุ่มชาฟิอียะฮฺนั้นคือ ผู้ที่ถูกสังหารในสมรภูมิกับกลุ่มชนผู้ปฏิเสธด้วยสาเหตุของสมรภูมินั้น โดยผู้นั้นได้ยักยอกส่วนของทรัพย์สงคราม (ฆ่อนีมะฮฺ) หรือผู้นั้นถูกสังหารในสภาพที่เขาหนีทัพ หรือผู้นั้นได้ทำการศึกอันเป็นไปเพื่อการโอ้อวด (ริยาอฺ) เป็นต้น (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/225)

3. ชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) เท่านั้น หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้เสียชีวิต ด้วยเหตุของการทำสงครามกับเหล่าชนผู้ปฏิเสธ (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/224) มีข้อชี้ขาดในการจัดการศพเหมือนกับผู้ที่มิใช่ชะฮีด กล่าวคือ มีการอาบน้ำศพให้ ห่อศพ ละหมาดให้และฝังศพ (อิอานะตุดตอลิบีน ; 2/124) ผู้ตายชะฮีดในประเภทนี้จะได้รับผลานิสงค์ในโลกหน้า และมีกรณีการเสียชีวิตหลายลักษณะ อาทิเช่น สตรีที่เสียชีวิตในการคลอดบุตร, ผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากท้องเดิน (ท้องร่วง) , ผู้ที่เสียชีวิตในคราที่เกิดโรคระบาดใหญ่ (ตออูน) , ผู้ที่จมน้ำตาย , ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุอาคารถล่มทับ , ผู้เสียชีวิตเนื่องจากไฟคลอก , ผู้ทีเสียชีวิตในสภาพทีแสวงหาความรู้ และผู้ที่ ถูกสังหารโดยอธรรม เป็นต้น (อิอานะตุดตอลิบีน ; 2/124, อัลฟิกฮุล อิสลามี่ย์ ; 2/560, กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/224)

--------------------------------------------------------------------------------

การจัดการศพของผู้เป็นชะฮีด

กรณีของผู้ที่เป็นชะฮีดในประเภท ข้อที่ 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกหน้าเท่านั้น ให้จัดการศพเหมือนกับผู้เสียชีวิตในกรณีปกติ กล่าวคือ มีการอาบน้ำศพ, ห่อศพ, ละหมาด และฝังศพ (อัลฟิกฮุลอิสลามี่ย ; 2/561 , กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/224)

กรณีของผู้ที่เป็นชะฮีดในประเภท ข้อที่ 1 และข้อที่ 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นชะฮีดเนื่องจาก การทำสงครามเพื่อปกป้องและเชิดชูธงของศาสนา ปวงปราชญ์ (ญุมฮูรุ้ลอุละมาอฺ) ไม่นับรวมกลุ่มฮะนะฟียะฮฺ ซึ่งมีความเห็นแตกต่าง ถือว่า ไม่ต้องมีการอาบน้ำศพ การห่อศพ และการละหมาดให้แก่ศพ แต่ให้ขจัดสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นนอกจากโลหิตของผู้ตายชะฮีดเท่านั้น (อัลฟิกฮุลอิสลามี่ย์ ; 2/558) ในส่วนของมัซฮับชาฟิอีย์นั้น ถือเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ในการอาบน้ำศพและการละหมาดให้แก่ศพของผู้ที่ตายชะฮีด (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/221) ส่วนการห่อศพและฝังศพ ผู้ที่ตายชะฮีดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) (อิอานะตุดตอลิบีน ; 2/123 ,อาชียะฮฺ อัชชัยคฺ อิบรอฮีม อัลบัยญูรีย์ ; 1/466)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น