วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567

ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน

ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน

นับตั้งแต่กระสุนนัดแรกลั่นออกมาในปี 2547 ณ ปลายด้ามขวานของประเทศไทยเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงไม่มีวี่แววคลี่คลายลง ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดต่างเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เราจึงได้เห็นการเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอยู่บ่อยครั้ง โดยหวังว่าจะนำมาสู่การแสวงหาสันติภาพในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ส่งผลแค่การเมืองในภาพใหญ่ที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง แต่ยังส่งผลถึงการแก้ปัญหาในชายแดนใต้ที่ถูกปรับเปลี่ยนอย่างมากด้วยเช่นกัน ทั้งเปลี่ยนคณะเจรจาจากพลเรือน มาเป็นคณะทหาร หรือเปลี่ยนการใช้คำจากการเจรจา ‘สันติภาพ’ มาเป็น ‘สันติสุข’ ซึ่งเป็นคำที่รัฐบาล คสช.นิยามขึ้น เพื่อวางกรอบกระบวนการพูดคุยกับผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐว่า การเจรจาจะไม่พูดคุยเรื่องการเมืองการปกครอง แต่เน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย

การดำเนินการลักษณะเช่นนี้ทำให้การเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างดูจะไม่ราบรื่น จนกระทั่งกลุ่ม ‘ BRN ’ ออกแถลงการณ์ขอยุติการพูดคุยชั่วคราว เนื่องจากต้องการรอรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้ง ส่งผลให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงเป็นเรื่องคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตัวละครหลักที่สังคมสนใจในประเด็นดังกล่าวมีแต่ตัวละครในการเมืองภาพใหญ่ อย่างรัฐไทย และกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่หลายครั้งสังคมกลับลืมตัวละครตัวเล็กตัวน้อย อย่างผู้คนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ว่าพวกเขาหวังและฝันถึงสันติภาพอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่าง ‘เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ผู้ต้องเติบโตภายใต้สังคมที่มีทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

อาสาพาไปฟังเสียงของเยาวชนชายแดนใต้ซึ่งพวกเขาเองต่างก็มีความหลากหลายทั้งความคิด ความเชื่อ ค่านิยม เพศ หรือศาสนา ว่าพวกเขามีความคิด ความหวัง และความฝันเกี่ยวกับพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ อย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไร แต่เพื่อยืนยันว่าเสียงของพวกเขามีคุณค่าที่จะรับฟังอย่างจริงใจ

ภายใต้ความหวังว่า หลังจากนี้เสียงของเยาวชนชายแดนใต้จะไม่ถูกกลบด้วยความรุนแรง และความหวัง ความฝันของพวกเขาจะไม่ถูกกลบด้วยกระสุนปืนและเสียงของระเบิดอย่างเช่นผ่านมา

เมื่อความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดนั้นเกิดอย่างไม่เลือกศาสนา

หากลองตั้งคำถามว่า ‘สาเหตุของปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร’ เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบของใครหลายคนคงหลีกหนีไม่พ้นประเด็นความขัดแย้งทางด้านศาสนา ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลาม ‘ความขัดแย้งทางด้านศาสนา’ เป็นเหมือนคำอธิบายของรัฐส่วนกลางที่ใช้อธิบายสถานการณ์ชายแดนใต้ และใช้มาอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา จนหลายครั้งรัฐส่วนกลางมองเลยเถิดไปถึงความต้องการ ‘การแบ่งแยกดินแดน

ฟรอยด์ (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 19 ปี นับถือศาสนาพุทธตั้งแต่กำเนิด หากมองจากจำนวนประชากรแล้วเขาคงถูกนับว่าเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ประโยคดังกล่าวถูกยืนยันผ่านจำนวนนักเรียนในโรงเรียนที่ฟรอยด์กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งฟรอยด์เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ‘คนเดียว’ ในโรงเรียน

หลายคนมองว่าการเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น เหมือนกำลังตกอยู่ในความอันตราย แต่ในความจริงนั้นทุกคนต่างหากต่างต้องพบเจอสถานการณ์เดียวกัน เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา พวกเราต่างไม่รู้ว่า ใครเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว อย่าบอกว่าผู้ก่อการร้ายมีแต่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทุกศาสนาก็ต่างมีคนดีและไม่ดีทั้งนั้น”

ด้วยฟรอยด์ ฯ เป็นนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธคนเดียวในโรงเรียน ทำให้มีทหารเข้ามาพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เข้ามาถามว่ารถที่ฟรอยด์ ฯ ขับสีอะไร ป้ายทะเบียนอะไร โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับทำให้ฟรอยด์ ฯ รู้สึกไม่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

“ช่วงสองปีที่ผ่านมา ทหารจะมาเป็นประธานพิธีในงานกิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน มีครั้งหนึ่งเหมือนพวกเขาคุยกันและรู้ว่าผมเป็นชาวพุทธคนเดียวในโรงเรียน หลังจากนั้นก็ยกทหารเกือบ 20 คนมาเยี่ยมถึงบ้านของผม ผมก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น”

ฟรอยด์ ฯ ยังเล่าต่อว่า หลายโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักติดกับค่ายทหาร จึงต้องเสียสละพื้นที่ใช้สอยของโรงเรียนให้กองทัพใช้ร่วมกัน แต่หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หนึ่งในเป้าหมายคือพื้นที่ของทหาร ทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่อันตรายด้วย แต่ไม่มีใครสามารถออกมาเรียกร้องได้เพราะพื้นที่ของโรงเรียนหลายแห่งก็เป็นพื้นที่ของรัฐบาล

เมื่อถามถึงความฝันในชีวิตของฟรอยด์ ฯ เขาเล่าว่าความฝันของเขาคือการเป็นทหาร เพราะเขาหวังจะเข้าไปเปลี่ยนระบบการทำงานของกองทัพภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“หากถามถึงความฝันของผมวันนี้เหมือนผมอยากเป็นอาชีพที่ผมไม่ชอบ พูดให้เข้าใจคือผมไม่ชอบการทำงานของทหาร ทุกวันนี้เขาอ้างว่าต้องตั้งด่านเพื่อความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาด่านตรวจมักเลือกปฏิบัติหรือกระทำที่ไม่เหมาะสม ขนาดผมยังเคยโดนคุกคามตอนเข้าไปในด่าน เขาถามผมว่า ‘น้องมีไลน์ไหม ขอเบอร์ได้ไหม’ ผมเลยไม่ชอบการทำงานของทหารและอยากเข้าไปเปลี่ยนระบบดังกล่าว

สำหรับประเด็นปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ฟรอยด์ ฯ มองว่าแม้สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนภาคใต้จะมาจากประเด็นเรื่องศาสนา แต่ยังมีสาเหตจากปัญหาอื่น เช่น ความต้องการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

เรื่องแบ่งแยกดินแดน ผมไม่เห็นด้วยเพราะผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกคนล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน การแบ่งแยกออกเป็นรัฐใหม่อาจจะยุ่งยาก และผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรืออิสลามต่างต้องการอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่อยู่ภายใต้คำว่าประเทศไทย

ด่านตรวจ – ทหารลาดตระเวน – ความรุนแรง ภาพแห่งความปกติที่ไม่ปกติ

“เด็กในพื้นที่สามจังหวัดส่วนใหญ่ เกือบจะร้อยละ 90 มีฐานะจนมาก ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ดีเท่าไหร่” – นี่คือสิ่งแรกที่พลอย (นามสมมติ) เล่าให้ฟัง

พลอย ฯ นักศึกษาวัย 25 ปี ตัดสินใจเก็บกระเป๋าจากบ้านเข้ามาในกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจของเธอ เธอตอบทันทีเลยว่า “ครอบครัวของเราไม่ได้มีฐานะที่ดีเช่นกัน”  คำตอบดังกล่าวชวนให้คนฟังรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก เพราะโดยปกติ การมาเรียนในพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่น ย่อมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการเรียนในพื้นที่ เธอจึงอธิบายต่อว่า การเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ทำให้เธอสามารถหางานทำระหว่างเรียนได้

“แม้ว่าเราอยากเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านจริง แต่ต้องอย่าลืมว่าเราต้องจ่ายค่าเทอม และเรารู้สึกว่าพ่อแม่เราที่เป็นเกษตรกร เขาไม่ได้มีรายได้มากพอจะส่งเสียเราได้ แต่ถ้าเราเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิด มันไม่มีค่าเทอม เราจึงตัดสินใจเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ”

ความแตกต่างหนึ่งที่พลอย ฯ รู้สึกหลังออกจากพื้นที่ชายแดนใต้สู่เมืองหลวง คือเธอได้เปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ได้พบผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ช่วงเริ่มแรกนั้นก็ได้ยินคำถามที่บั่นทอนจิตใจ อย่างเช่น “เธอมาจากสามจังหวัด แล้วพกระเบิดมาไหม” หรือแม้กระทั่งเมื่อเธอสมัครงาน บางที่ก็ไม่อนุญาตให้สวมฮิญาบ

คนอื่นๆ มักมองว่าคนมุสลิมที่มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่คนทั่วไป” คือความรู้สึกของพลอย ฯ หลังจากเข้ามาในพื้นที่อื่น ที่ไม่ใช่ ‘บ้าน’

เมื่อชวนเธอ มองย้อนไปยังอดีตที่ผ่านมาก่อนเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่าเธอมีความทรงจำร่วมกับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างไร – “รู้สึกปกติมากเลย” นี่คือคำตอบของเธอต่อคำถาม

“เรารู้แค่ว่ามีด่านเยอะ มีทหารเดินตระเวนตั้งแต่เช้าเป็นภาพแห่งความปกติ หรือบางวันตื่นมาแล้วรู้ว่าเกิดเหตุการณ์การระเบิดที่ตำบล มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแค่นั้น แล้วเราก็ไปโรงเรียนตามปกติ เรารู้สึกว่าความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ในช่วงวัยเด็ก

“คงเป็นเพราะวัยมั้งคะ ตอนเราเรียนมัธยมศึกษา เราก็ไม่ได้สนใจอะไรเลยนอกจากเรื่อง เรียน เรียน และเรียน จนกระทั่งมาเรียนมหาวิทยาลัยเนี่ยแหละ เราได้เข้าร่วมฟังการเสวนา ได้พบเจอผู้คน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้รู้ว่าในความจริงแล้ว พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นมีปัญหาเยอะมาก โดยที่เราไม่เคยมองเห็นมันเลย

“หากมองง่ายๆ เรามาอยู่ที่นี่ (กรุงเทพฯ) เราแทบจะไม่เห็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน หรือการตั้งด่านของทหารเลย แต่พอกลับไปที่บ้าน ทุกอย่างในพื้นที่ชายแดนใต้ก็เป็นภาพเดียวกันกับภาพที่เราเห็นตอนเด็กๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย มิหนำซ้ำด่านทหารอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ”

สำหรับพลอย ฯ ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่เพียงปัญหามิติความมั่นคงอย่างเดียว ปัจจุบันเธอยังมองเห็นว่าทรัพยากรในพื้นที่บ้านเกิดของเธอ จากที่อุดมสมบูรณ์กำลังถูกทำให้สูญหายและกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น กล่าวคือเริ่มมีนายทุนที่ใช้ความไม่ปกติภายในพื้นที่เข้ามาหากินและขูดรีดทรัพยากรภายในพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ จนทำให้พื้นที่สามจังหวัดเหมือนถูกครอบโดยอำนาจที่มองไม่เห็นภายใต้ข้ออ้างเพื่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’

เมื่อถามถึงความฝันของพลอย ฯ เธอเล่าว่า ‘นักวิจัยทางการเกษตร’ คือความฝันทางอาชีพการงานของเธอ เพราะครอบครัวทำอาชีพเป็นเกษตรกร เธอไม่คาดหวังอะไรนอกจากได้ทำงานในพื้นที่และมีรายได้มั่นคงเท่านั้น แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้น ก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากภายในพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้มีองค์กรหรือบริษัทรองรับให้คนในพื้นที่ทำงานอย่างเพียงพอ

“เราอยากกลับไปทำอะไรก็ได้เพื่อให้พ่อและแม่ไม่เหนื่อย ทุกวันนี้เริ่มกลับมาทบทวนแล้วว่า หรือต้องหางานทำที่กรุงเทพฯ เก็บเงินให้ได้ก้อนหนึ่งแล้วจึงกลับไปอยู่บ้าน เหมือนกับหลายๆ คนที่ทยอยขึ้นมาทำงานในกรุงเทพมหานครมากขึ้น เยาวชนสามจังหวัดต้องดิ้นรนตัวเองเพื่อให้ตนเองมีเงินเก็บ”

อย่างไรก็ตาม พลอย ฯ ยังมีความหวังในการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่าน‘พลังของเยาวชน’ เธอมองว่าปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ต่างเจ็บปวดจากที่ผ่านมา ส่งผลให้พวกเขาเริ่มตื่นตัวทางการเมืองและออกมาเรียกร้องสิ่งที่ควรจะเป็นมากขึ้น

“เด็กที่เติบโตมากับความเจ็บปวด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือไม่ ต่างก็มีความรู้สึกร่วมกันว่าเราถูกผลกระทบจากปัญหาสามจังหวัด ภาพของความรุนแรงทำให้พวกเขาฮึดสู้ ไม่นิ่งนอนใจ และไม่ยอมถูกกดขี่จากความไม่ปกติเช่นนี้

“หากวันนี้รัฐไทยยังสร้างบาดแผลภายในพื้นที่ หรือสร้างความเจ็บปวดให้แก่เยาวชนหรือใครก็ตาม เรารู้สึกว่าผู้คนจะฮึดสู้มากขึ้น ต่อให้คุณจะออกแบบกฎหมายอะไรลงมาบังคับใช้ในพื้นที่ พวกเขาก็จะลุกขึ้นสู้พวกคุณอยู่ดี” พลอย ฯ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น