วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

กลับคืนสู่ความเมตตาของพระองค์

อินนาลิลลาฮิวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน

เป็นคำที่มุสลิมกล่าวเสมอๆ เมื่อได้รับข่าวการเสียชีวิตของมุสลิม ซึ่งมีความหมายว่า “แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮฺ และยังพระองค์ที่เราต้องกลับคืน” เสมือนเพื่อเป็นการย้ำเตือนตนเองว่า สักวันหนึ่งก็ต้องกลับคืนสู่พระเจ้า ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงรอดพ้นจากความตายไปได้ สำหรับคนทั่วไปความตายถือว่าเป็นเรื่องที่โศกเศร้า หากแต่ในทัศนะของศาสนาอิสลามถือว่าการตายเป็นการกลับสู่พระองค์ และเพราะพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างให้เกิดมาเพื่อให้โอกาสแสวงหา และกระทำความดีเพื่อนำกลับไปรับผลตอบแทนจากพระองค์ เพราะฉะนั้น ตามหลักศาสนาอิสลามจึงไม่อาจที่ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการถ่วงเวลาในการเดินทางกลับไปสู่พระเจ้าของผู้ที่เสียชีวิต และต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักศาสนาด้วยการชำระอาบน้ำศพให้สะอาด พร้อมกับการละหมาด

ยกเว้นการตายที่เป็นชะอีด หรือตายเนื่องจากการทำหน้าที่ในการปกป้องศาสนาจากศัตรู หรือการญิฮาด ซึ่งผู้ตายชะฮีดนั้น จะได้รับผลานิสงส์ผลตอบแทนจากพระเจ้าเป็นกรณีพิเศษแม้ว่าการตายไม่ใช่เป็นเรื่องโศกเศร้าในทัศนะ และความเชื่อของอิสลาม แต่อดที่จะโศกสลดไม่ได้กับการตายของคนจำนวนมากที่นำอาวุธทำร้ายผู้บริสุทธิ์ และปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในพื้นที่หมู่ 4 บ้านคลองช้าง ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ด้วยแผนการที่มุ่งร้ายต่อหน่วยกำลังที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบสุข และรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่น่าเศร้ามากกว่านั้น ก็เพราะผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้นเชื่อว่า การกระทำของพวกเขาเป็นไปในแนวทางของศาสนา หรือการญิฮาด และการเสียชีวิตของพวกเขาคือ การชะฮีด

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาศัยสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความแตกแยกด้านความคิด ด้วยผลิตสื่อเผยแพร่ทางสื่อสารออนไลน์ เพื่อเบี่ยงเบนความเชื่อให้เห็นคล้อยว่า เป็นการญิฮาด และเกิดความโกรธแค้นเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

ซึ่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาแล้ว อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ (ที่ผ่านมา) ทางสำนักจุฬาราชมนตรี ได้มีการประชุมนักวิชาการมุสลิมเพื่อวินิจฉัย และได้ยืนยันพร้อมมีเอกสารเผยแพร่แล้วว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในข่ายของญิฮาดแต่อย่างใด

หากย้อนดูประวัติศาสตร์อิสลามสมัยศาสดามูฮัมหมัด จะเห็นว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปี ของการเผยแพร่ศาสนา ศาสดามูฮัมหมัดได้รับการต่อต้านจากชนเผ่าต่างๆ ตลอดเวลา อันเนื่องจากหลักการอิสลามนั้นแตกต่างกับความเชื่อดั้งเดิมของแต่ละชนเผ่า ยิ่งมีคนศรัทธาต่อศาสดามากขึ้นเท่าใด ยิ่งได้รับการต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น เพราะสาวกของแต่ละชนเผ่าลดเหลือน้อยลง การต่อต้านก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ศาสดาอดทนยืนหยัดไม่กระทำการตอบโต้ใดๆ จนกระทั่งเข้าปีที่ 13 ปีแห่งการอพยพจากนครเมกกะห์ สู่นครมะดีนะห์ การต่อต้านยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การประกาศสงครามกับผู้มุ่งร้ายเหล่านั้นจึงได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความจำเป็น เพื่อปกป้องจากการถูกข่มเหงขับไล่ และทำลายบ้านเรือนสถานที่สำคัญของศาสนา และเพื่อให้สามารถยืนหยัดปฏิบัติตามหลักศาสนาของอัลลอฮฺได้อย่างมั่นคง

จากประวัติศาสตร์ครั้งดังกล่าว และจากหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน นักวิชาการจึงได้สรุปหลักการ และเหตุผลในการฮิญาด ซึ่งต้องประกอบด้วยเหตุผล 3 ประการดังนี้ คือ

1.บรรดามุสลิมถูกข่มเหงด้วยการก่อการร้าย และขับไล่ให้ออกจากบ้านเรือนของพวกเขาโดยปราศจากความเป็นธรรม

2.หากอัลลอฮฺไม่อนุมัติให้มนุษย์ทำการต่อสู้ป้องกันแล้ว บรรดาโบสถ์ วิหาร และหอสวดต่างๆ และมัสยิด จะถูกทำลายอย่างแน่นอน อันเนื่องมาจากการข่มเหงของพวกปฏิเสธ และไม่ศรัทธา

3.เป้าหมายของการญิฮาดคือ การมีอำนาจในการปกครอง และปฏิบัติตามแนวทางของศาสนาอย่างอิสระ

เมื่อเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ดังกล่าวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า ไม่มีเหตุผลใดที่มุสลิมจะประกาศสงครามญิฮาดได้เลย เพราะเงื่อนไขในการป้องกันทั้ง 2 ประการไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนเหตุผลข้อที่ 3 เพื่อให้มีอำนาจในการปกครอง และเพื่อปฏิบัติตามศาสนานั้น ขณะนี้สิ่งดังกล่าวมีอยู่ในสังคมมุสลิมทุกประการ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ระบุชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งได้บัญญัติสิทธิในการนับถือศาสนา และปฏิบัติตามหลักตามความเชื่ออย่างเสรีภาพ อีกทั้งได้กำหนดให้รัฐบาลกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

การสรุปว่า การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการญิฮาด และการเสียชีวิตของผู้ก่อความไม่สงบที่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเป็นชะฮีด แล้วมีการจัดการศพเยี่ยงผู้ตายชะฮีดนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้จัดการเกี่ยวกับการศพของกลุ่มคนดังกล่าวจึงต้องได้รับโทษในโลกหน้า เนื่องจากการกระทำผิดต่อหลักการของศาสนา กล่าวคือ มีการละทิ้งการอาบน้ำศพ และการละหมาดให้แก่ศพ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นตามหลักการของศาสนา

การปฏิบัติต่อศพของกลุ่มคนดังกล่าวเป็นไปตามความเชื่อ และอารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง โดยปราศจากการศึกษาข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง นับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และไม่น่าจะเกิดขึ้นในดินแดนที่การศึกษาด้านศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาช้านานตั้งแต่อดีต ซึ่งครั้งหนึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นระเบียงแห่งมักกะห์ อันเป็นแหล่งศึกษาความรู้ทางศาสนาอิสลาม อันเสมือนสาขาหนึ่งของนครมักกะห์แหล่งกำเนิดศาสนาอิสลามที่ลื่อเลื่องไปทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น