วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2567

เจ้าหน้าที่เน้นจับผู้ที่ใส่ชุดมลายู หรือเป็นข้ออ้างของ 9 ทรชน โจมตีฝ่ายความมั่นคง

ชุดมลายู คืออะไร ? ทำไมฝ่ายความมั่นคง ต้องจับผู้ที่สวมใส่ชุดมลายู

หรือเป็นเพียงข้ออ้างของ 9 ทรชนที่ใช้ในการโจมตีฝ่ายความมั่นคง วันนี้มีคำตอบ

บาจูเมอลายู (มลายู: Baju Melayu, باجو ملايو) เป็นชุดพื้นเมืองมลายู ที่มีต้นกำเนิดจากราชสำนักมะละกา และสวมใส่กันโดยผู้ชายในประเทศบรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บางส่วนของอินโดนีเซีย(โดยเฉพาะเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว), ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย มีความหมายโดยตรงว่า "ชุดมลายู" และแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ บาจู (เสื้อเชิ้ตแขนยาว) มีส่วนคอเสื้อที่มีชื่อว่า เจอกักมูซัง (แปลว่า สายจูงสุนัขจิ้งจอก) ส่วนที่สองคือกางเกงขายาวที่มีชื่อว่า เซอลัวร์ ทั้งสองส่วนทำมาจากผ้าชนิดเดียวกัน ซึ่งมักเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าโพลีเอสเตอร์ผสมฝ้าย เดิมที ศัพท์ บาจูกูรง ใช้หมายถึง ทั้งชุดผู้ชายและชุดผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในประเทศมาเลเซียปัจจุบัน ชุดผู้ชายได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น บาจูเมอลายู เพราะได้รับเลือกให้เป็นชุดประจำชาติมาเลเซีย นิยามแบบเก่า ยังคงมีใช้ในประเทศสิงคโปร์


ซึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้(South  East Asia) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ เอเซีย อาคเนย์ ในคาบสมุทรนี้ มีชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชนเชื้อสายมลายู (Bangsa Melayu) โดยส่วนใหญ่แล้วจะนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เคร่งครัดในระเบียบปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา โดยเฉพาะการแต่งกายที่สุภาพมิดชิดทั้งหญิงและชาย

ในอดีต ผู้ชายชาวมลายูมักนุ่งโสร่งไม่สวมเสื้อ หรือถ้าจะสวมใส่ก็เป็นเสื้อแขนสั้นหรือกางเกงขาสั้นหรือสามส่วนแทนโสร่ง ส่วนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้ากระโจมอก บางคนอาจมีผ้าบางๆไว้คลุมไหล่ ต่อมาเมื่ออิสลามมีอิทธิพล การแต่งกาย จึงถูกคิดถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ดูสุภาพและปกปิดมากขึ้น

โดยเริ่มใช้ในวังของสุลตานและชนชั้นสูง ก่อนลงมาเริ่มแพร่หลายในปุตุชนทั่วไป โดยเรียกว่า บาจู กูหรง (Baju Kurung) ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า ปกปิดมิดชิด

ลักษณะเด่นของชุดบาจู กูหรง ไม่ว่าของผู้ชายหรือผู้หญิง มักจะตัดเย็บด้วยผ้าผืนเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งสีและลวดลายบนผืนผ้า จึงเป็นแบบเดียวกันทั้งชุด แต่ชุดของผู้ชายกลับมีเครื่องเครามากกว่าของผู้หญิง ชุดผู้ชาย ทั้งเสื้อและกางเกงลวดลายสีสันเดียวกันทั้งชุด ไม่นิยมลวดลายสัตว์หรือผิดหลักศาสนาอิสลาม เสื้อผู้ชายเป็นแขนยาว ทั้งแบบคอลมและคอจีน  ซึ่งมีรังดุมราว 1-5  เม็ด ผ่าจากคอเสื้อลงมาถึงกลางอก

ส่วนท่อนล่างจะเลือกใส่กางเกงหรือผ้าโสร่งก็ได้ ถ้าใส่กางเกงต้องมีผ้าพัน หรือมองดูคล้ายโสร่งสั้น จากสะดือถึงเข่า ภาษามลายูเรียกผ้าพันนี้ว่า  ซัมปิน(Sampin) ซึ่งเดิมทีสีไม่ฉูดฉาด แต่ก็สวยงามบางทีเป็นผ้าดิ้นทอง

ซัมปิน ทำให้ชุดผู้ชายดูสุภาพเรียบร้อย ทั้งยังสามารถกันเปื้อนได้อีกด้วย ส่วนที่ศีรษะผู้ชายจะสวมหมวกกำหยี่สีดำ ภาษามลายูเรียกว่า ซองก๊อก(Songkok) แต่ถ้าจะให้เต็มยศ บางคนก็จะสวมผ้าพันเป็นรูปมงกุฎสวมทับไปบนหมวกอีกชั้นหนึ่ง

การพับผ้าเป็นรูปมงกุฎมีแบบต่างๆ เช่น รูปนกอินทรีปีกหัก รูปช้างรบ รูปสู้ลม ถือเป็นศิลปะที่ต้องใช้เวลาประดิดประดอย จึงไม่เป็นที่นิยม ในอดีตการสวมผ้าพับรูปมงกุฎนี้ เป็นเครื่องบอกชนชั้นในสังคมของชาวมลายู

ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทรงขององค์สุลต่านและราชวงศ์ ส่วนสามัญชนจะสวมใส่ผ้าพันมงกุฎนี้ในวันสำคัญเช่นในวันแต่งงาน ซึ่งหมายถึงเจ้าบ่าวเป็นเจ้าชายในวันนั้น


ชุดผู้หญิง มีเครื่องแต่งกายน้อยชิ้นกว่าชาย ทั้งเสื้อและกระโปรงตัดด้วยผ้าบางเบา เนื่องจากภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าว ผ้าเป็นลวดลายและสีเดียวกันทั้งชุด หรือสีที่เข้ากันดีระหว่างเสื้อกับผ้านุ่ง นิยมลวดลายดอกไม้สีสันสดใส เสื้อผู้หญิงเป็นแบบแขนยาว ชายเสื้อยาวลงมาถึงเข่า บางคนนิยมตัดเย็บเสื้อเข้ารูป แต่บางคนปล่อยให้หลวมๆ ไม่เน้นรูปร่าง ส่วนท่อนล่างเป็นกระโปรงยาวคลุมตาตุ่ม ไม่ผ่าข้าง เมื่อออกนอกบ้าน ผู้หญิงมลายูนิยมคลุมศีรษะด้วยผ้าบางเบา มีสีสันลวดลายดูกลมกลืนหรือเป็นลายเดียวกับเสื้อและกระโปรง ผ้านี้บางทีก็นำมาคลุมไหล่เป็นเครื่องประดับได้ด้วย สตรีมุสลิมที่เคร่งครัดก็มักคลุมฮิญาบ หรือที่ชาวมลายูเรียกว่าตุดง(Tudung)

ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก จนต่อมา การแต่งกายแบบนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชนชาวมลายูในแถบนี้จนถูกเรียก ชุดกูรงนี้ว่า ชุดมลายู หรือ Pakaian Melayu

ดังนั้น ชุดมลายูใส่กันมาหลายศตวรรษแล้ว ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายใด ว่าผู้ที่สวมใส่นั้นทำผิดกฎหมาย กระแสที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับ 9 ทรชนชายแดนใต้ เรื่องสวมใส่ชุดมลายูนั้น เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกปลุกปั่นจาก 9 ทรชน เพื่อหาความชอบธรรมให้กับตนเอง จะได้พ้นความผิดที่กระทำ นับเป็นเรื่องที่สกปรกมาก 

เพราะใช้จุดอ่อนที่เป็นความสัมพันธ์ทางอัตลักษ์ของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 ศาสนา ทำให้เกิดความแตกแยกทางพหุวัฒนธรรม สร้างความเคลือบแครงสงสัยการอยู่ร่วมกันของทั้ง 2 ศาสนา รวมไปถึงชาติพันธุ์อีกด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น