วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2567

ความมีชาติพันธุ์มลายูโดยสายเลือดของชาวมุสลิมมลายูบางกอก

ความมีชาติพันธุ์มลายูโดยสายเลือดของชาวมุสลิมมลายูบางกอก

คำว่า “ชาติพันธุ์มลายูโดยสายเลือด” นั้น เราคงมิได้มุ่งหมายตามคำนิยามของนักมนุษย์วิทยาหรือนักชาติพันธุ์วิทยา แต่หมายถึงความเป็นชาติพันธุ์มลายูโดยสายเลือดของบรรพบุรุษไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายบิดาหรือฝ่ายมารดา

ทั้งนี้หากเราจะสืบค้นถึงชาติพันธุ์มลายู ที่มีสายเลือดบริสุทธิ์ คือ ไม่ปนกับสายเลือดของชาติพันธุ์อื่นเลย ก็คงมิอาจจะหาชาวมลายูที่มีลักษณะเช่นนั้นได้อีกแล้วในปัจจุบัน

และโดยข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์แล้ว สายเลือดของชาติพันธุ์มลายูในปัตตานีดารุสสลามเอง ก็ปะปนกับสายเลือดของชาติพันธุ์อื่น ที่มิใช่ชาติพันธุ์มลายูมาก่อนแล้วในอดีต ไม่ได้ต่างอะไรกับชาติพันธุ์ “ไต,ไท” ที่เป็นบรรพบุรษของคนไทยทุกวันนี้ ที่ผสมปนเปกับชาติพันธุ์อื่นๆ จนไม่เหลือสายเลือดบริสุทธ์อีกแล้ว ในสายเลือดของคนไทย จึงมีทั้งมอญ เขมร ลาว ฝรั่ง แขก จีน ไม่เว้นแม้กระทั่งแอฟริกัน

ในเอกสาร “ตารีค ปาตานี” บันทึกว่า “คนอาหรับและเปอร์เซียจำนวนมากแต่งงานกับคนมลายูที่เมืองปัตตานี…” (หน้า 18-20) ทั้งชาวอาหรับและเปอร์เซีย มิใช่ชาติพันธุ์ มลายู และการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์นี้ ก็คงเกิดขึ้นกับคนจีนและคนสยามในหัวเมืองมลายูด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ชาวมุสลิมมลายูบางกอก ก็คงหลีกหนีไม่พ้นจากการปะปนทางสายเลือดกับชาติพันธุ์อื่นๆ แน่นอนการปะปนทางสายเลือดที่เกิดขึ้น ก็มิใช่ชาวมลายูบางกอกทั้งหมด แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะชาวมลายูโดยลักษณะนิสัยแล้ว มักจะเลือกแต่งงานกันในระหว่างกลุ่มประชาคมเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ชวา เขมรจาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมมลายูบางกอก ยังคงรักษาสายเลือดของพวกเขาเอาไว้ ไม่ว่าเป็นทางฝ่ายบิดา หรือมารดาก็ตาม เพราะโดยเงื่อนไขของศาสนาอิสลาม มุสลิมจะแต่งงานกับมุสลิมด้วยกันเท่านั้น คนที่มิใช่มุสลิมจะมีชาติพันธุ์ใดก็ตาม เมื่อจะแต่งงานกับคนมุสลิมก็ต้อง “มาโสะ นายู” คือเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเสียก่อน และเมื่อ “มาโสะ นายู” แล้วก็กลายเป็นมลายูไปโดยปริยาย ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม

ในอดีตที่ผ่านมาสังคมชาวมลายูบางกอก เป็นสังคมปิดและเป็นสังคมที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น การแต่งงานกับคนที่มิใช่มุสลิม แต่เดิมถือเป็นสิ่งที่สังคมในอดีตรังเกียจ เพราะชาวมลายูบางกอกจะถือในความเป็นมุสลิมบะกอ คือมุสลิมแต่เดิมเป็นเรื่องสำคัญ

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สภาพสังคมของชาวมุสลิมมลายูบางกอกเปลี่ยนไปกลายเป็นสังคมเปิด จากเดิมที่ในชุมชนมุสลิม จะมีเฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น และเกือบทุกครอบครัวในชุมชนก็จะมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ คือรู้จักกันหมดว่าใครเป็นใคร บางชุมชนมีต้นตระกูลอยู่เพียง 2 ถึง 3 ตระกูลก็แต่งงานเกี่ยวดองระหว่างกัน นานๆ ทีจะมีเขยหรือสะใภ้ที่เป็นคนต่างตระกูลหรือต่างกำปง

แต่การแต่งงานกับคนต่างศาสนาที่มาโสะ นายูนั้น ก็มีบ้างแต่ไม่มาก โดยมากจะเป็นมอญทางฝ่ายหญิง หรือเป็นคนไทยพุทธเดิมที่เข้ารับอิสลาม ทั้งนี้สังเกตได้ว่า ชาวมลายูถูกนำไปไว้ในพื้นที่ใด ก็จะมีชาวมอญพลัดถิ่นถูกย้ายเข้าไปไว้ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน อย่างกรณีชาวมอญที่บ้านปากเกร็ด ก็จะอยู่ใกล้กับชาวมลายูมุสลิมที่บ้านท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี ที่พระประแดงก็เช่นกัน มีชุมชนมลายูถูกย้ายไปไว้ที่นั่นเช่นเดียวกับชุมชนมอญพระประแดง หรือแม้กระทั่งที่จังหวัดปทุมธานีก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมของชาวมุสลิมมลายูบางกอก กลายเป็นสังคมเปิด เพราะบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีคนต่างถิ่นต่างศาสนาเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อประกอบอาชีพในบริเวณกำปงของชาวมุสลิมมลายู ซึ่งกลายเป็นเจ้าของที่ดินและพื้นที่อันเป็นทำเลที่เหมาะ สำหรับการสร้างบ้านเช่า ห้องเช่า อาคารที่พักอาศัย หรือหมู่บ้านจัดสรร ความเกี่ยวพันข้องแวะกับคนที่มิใช่มุสลิมในกำปงเดิมกับชาวมุสลิมเจ้าของที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

กอปรกับคตินิยมในการตั้งข้อรังเกียจกับการแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม แต่เดิมลดความเข้มข้นลง จึงเกิดคนมุสลิมมลายูที่ปะปนสายเลือดกับคนกลุ่มอื่น ปรากฏขึ้นในเกือบทุกชุมชนของชาวมุสลิมมลายูบางกอก ซึ่งชาวมุสลิมใหม่เหล่านี้ มีทั้งที่เป็นชาวจีนและชาวไทยพุทธ เมื่อพวกเขาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ก็ได้ศึกษาเรียนรู้หลักคำสอนของอิสลาม จนมีศรัทธาที่มั่นคงลูกหลานที่เกิดขึ้นในขั้นต่อมาก็เป็นมุสลิมโดยสมบูรณ์

ถึงแม้ว่า จะมีบางส่วนที่มีศรัทธาอ่อนแอและไม่มั่นคงในศาสนาอิสลามอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้นความเป็นชาติพันธุ์มลายู โดยสายเลือดสำหรับลูกหลานชาวมลายูบางกอก โดยส่วนใหญ่ยังคงได้รับการรักษาและสืบสานอยู่ต่อไป

เพราะพวกเขายังคงแต่งงานและเกี่ยวดองอยู่ในระหว่างคนมุสลิมมลายูหรือมิใช่มลายูก็ตาม ส่วนที่แต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์และต่างศาสนานั้นก็มาโสะ นายู เกือบทั้งสิ้น และสายเลือดมลายูในตัวบุตรหลานของพวกเขาก็ยังคงมีอยู่ไม่ว่าจากฝ่ายบิดาหรือมารดาที่เป็นมลายูมุสลิมก็ตาม

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ในปัจจุบันมีชาวมลายูบางกอก ได้แต่งงานเกี่ยวดองกับลูกหลานของชาวมลายูตานีและจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น เพราะการไปมาหาสู่สะดวกกว่าแต่ก่อน ลูกหลานของพี่น้องมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็นิยมมาศึกษาต่อที่เมืองบางกอก บางคนจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เมืองบางกอกแล้ว ก็หางานทำอยู่ที่นี่และแต่งงานมีครอบครัวกับชาวมลายูบางกอกในพื้นที่ กรณีเช่นนี้เห็นจะมีมากขึ้นทุกวัน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะเท่ากับเป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ขาดจากกันให้กลับมาผูกพันเกี่ยวข้องกันอีกครั้ง

และนั่นก็หมายความว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีคนมลายูรุ่นหนึ่งที่เป็นลูกหลานของคนมลายูตานีและมลายูบางกอกร่วมกัน ชาติพันธุ์มลายูก็ย่อมสืบต่อไป ตามวิถีของมันและต่อยอดออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนอย่างที่ดาโต๊ะ ลักษมณาแห่ง มะละกา นามว่า ฮังตุวฮได้เคยกล่าวเอาไว้ด้วยประโยคที่เลืองลือว่า “ตะอฺกัน ฮิลัง บังซอ มลายู ดะริดุนยาอินี” (ชาติพันธุ์มลายูไม่มีวันสูญสิ้นไปจากโลกนี้)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น