วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

เข้าใจเข้าถึงพัฒนา หัวใจพหุวัฒนธรรม

เข้าใจเข้าถึงพัฒนา หัวใจพหุวัฒนธรรม

พหุวัฒนธรรม คือ การอยู่รวมกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางด้านต่างๆ เช่น ภาษา ศาสนา การแต่งกาย หรือสิ่งที่มีความหลากหลายมาผสมกลมกลืนกัน แต่อาจจะไม่กลมกลืนกันสักทีเดียว

งานวิจัย “การศึกษารูปแบบการเมือง การปกครองและอัตลักษณ์ ที่สอดคล้องกับพหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ตุลาคม 2562) เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม และพัฒนามนุษย์ สะท้อนว่า ผลวิจัยเชิงปริมาณจะเห็นว่า “ประชาชน” ยังเชื่อมั่นในระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของตนเอง โดยมีความเชื่อมั่นว่า จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แก้ไขปัญหาได้ตรง ตามความต้องการ รวมทั้งเป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหา

แต่...เมื่อพิจารณารูปแบบการเมืองการปกครอง ที่สอดคล้องกับบริบท “พหุวัฒนธรรม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชัดเจนว่ารูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด คือ...“รูปแบบการกระจายอำนาจ” ในรูปแบบที่เป็นอยู่ แต่ต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้น

รองลงมา คือ “การปกครองตนเอง” กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะการกระจายอำนาจอย่างหนึ่ง แต่ประชาชนสามารถออกแบบรูปแบบการปกครองได้ด้วยตนเองมากกว่าแบบแรก

ในขณะที่การแยกเป็น “เอกเทศ” และ “อิสระ” โดยเด็ดขาดเป็นรูปแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระที่ใช้ในการสอบถาม สอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่พบว่าในทุกพื้นที่เห็นสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ว่าการกระจายอำนาจเป็นรูปแบบที่เหมาะสม

ส่วนหนึ่ง มองว่ารูปแบบการปกครองในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว เพราะเป็นการกระจายอำนาจอยู่แล้ว เพียงแต่ควรเพิ่มการกระจายอำนาจมากขึ้น...ประชาชนมองว่า วิธีการแยกเป็นเอกเทศ และอิสระโดยเด็ดขาดเป็นวิธีการที่เป็นไปได้ยาก ไม่เหมาะสม

ซึ่ง...ส่วนหนึ่งก็เห็นว่าการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ในปัจจุบันดีแล้ว สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติม คือการสร้างความเป็นธรรม

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมา “รัฐ” ได้ใช้ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาและแก้ปัญหา ที่หลากหลายและดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นยุทธศาสตร์หลัก ที่ถูกนำมาใช้ในปัจจุบันและมาถูกทาง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “การเข้าใจ” และ “เข้าถึง” เพื่อนำไปสู่การพัฒนานั้นยังเป็นปัญหาอยู่ในหลายแง่มุม ทั้งในเชิงลึกและภาพกว้าง โดยเฉพาะแง่มุม “การเมืองการปกครอง”

รัฐชาติไทย” ควรจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่มีชาติใดที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันของผู้คนไม่ว่าจะเป็นทางประวัติศาสตร์...สังคม ...วัฒนธรรม ในฐานะรัฐชาติ ที่มีบทบาทหน้าที่จัดการเรื่องราวสาธารณะของสังคม ไม่เพียงแต่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า...อัตลักษณ์เชิงซ้อนของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่างๆ เคารพอัตลักษณ์ของผู้คนที่หลากหลาย แต่ยังจำเป็นต้องกระจายอำนาจการปกครอง รวมถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ใน “ระบอบประชาธิปไตย” อย่างมีส่วนร่วม

ปัญหาใจกลางของการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนใต้คือ ...ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มและเครือข่ายทางสังคมผ่านกลไกการเมือง ของชุมชนและสังคมเพื่อสร้างอำนาจการควบคุมทางสังคม

สิ่งที่พึงปรารถนาก็คือ “โครงสร้างอำนาจ” และ “การใช้อำนาจ” ในระดับท้องถิ่นที่มีความชอบธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคติที่ว่าในสังคมทุกแห่ง จะต้องมีอำนาจการควบคุมทางสังคมที่ได้รับการยอมรับเชื่อถือ

...อำนาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการ แย่งชิงทรัพยากรของกลุ่มคนต่างๆในกิจกรรมทางการเมือง ในการพัฒนาและในเรื่องอื่นๆที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตทางการเมืองของชุมชน โดยแบบแผน ลักษณะของการใช้อำนาจดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบอำนาจรัฐ โครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำในท้องถิ่น และ...กระบวนการมีส่วนร่วมประชาธิปไตย

สิ่งเหล่านี้แสดงตัวออกมา ในแง่ของการครอบครอง...แย่งชิงทรัพยากรทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ในกระบวนการเลือกสรรผู้นำทางการเมือง การแข่งขันกันในทางการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เผชิญหน้ากันในชุมชน สิ่งสำคัญในกระบวนการนี้คือ...อำนาจในการควบคุมของสังคม และของชุมชน

“จะต้องมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการสร้างอำนาจความชอบธรรมของรัฐในการรักษาความสงบ การสร้างความมั่นคงมนุษย์ การพัฒนาทางการเมือง...การสร้างสรรค์พัฒนาทางเศรษฐกิจอันจะนำมาซึ่งความยุติธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของคนในพื้นที่”

บทสรุปสำคัญ...เกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษารูปแบบการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับบริบท “พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” คณะผู้วิจัยเห็นว่า ยุทธศาสตร์ที่นำมาใช้

เพื่อการแก้ปัญหาในปัจจุบัน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อยู่บนฐานของหลักการนี้

...เป็นยุทธศาสตร์ในลักษณะ “การเมืองนำการทหาร บนฐานการมีส่วนร่วมและการกำหนดใจตนเอง” โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 ส. ได้แก่

หนึ่ง...สร้างความถูกต้อง

“สร้างความถูกต้อง” ในความหมายนี้หมายถึง การสร้างความถูกต้องเชิงประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เนื่องจากมีการใช้และบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรม และผลประโยชน์ไปในทางไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนำประวัติศาสตร์มาสร้างความแตกแยก

สร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในศาสนา การชำระประวัติศาสตร์ให้มีความถูกต้องและทุกคนยอมรับในทุกฝ่าย จะเป็นการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

เสนอแนวทางให้มีการจัดทำ เผยแพร่สื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักการศาสนา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปาตานี ชาติพันธุ์ที่ถูกต้องครบถ้วนในทุกระดับการศึกษา

สอง...เสริมสร้างความยุติธรรมให้เป็นหัวใจหลักของการอำนวยความเป็นธรรม

“สภาวะปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าเกิดการรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่ยุติธรรมในหมู่ประชาชน นอกจากนี้ ต้องสร้างความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบายการบริหารงานยุติธรรม และเป็นนโยบาย ลดเงื่อนไขที่สร้างความไม่ยุติธรรม โดยในระยะเริ่มต้นอาจทำได้โดยการสังคายนากฎหมายต่างๆ”

สาม...ส่งเสริมการเรียนรู้ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกัน

สี่...เสริมสร้างพลังอำนาจ เริ่มตั้งให้กับประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เพื่อจะได้เกิดจิตสำนึก ร่วมกันในการสร้างความมั่นคง ทางสังคม

และ ห้า...สถาปัตยกรรมทางการปกครอง

อดีตสะท้อนปัจจุบัน...และอย่าให้ “ปัจจุบัน” สร้างปัญหาสะสมเรื้อรังยาวไปถึง “อนาคต”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น