วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

มิตรภาพไทยพุทธ-ไทยมุสลิมที่มีมาช้านานในสมัยอดีต

 

มิตรภาพไทยพุทธ-ไทยมุสลิมที่มีมาช้านานในสมัยอดีต

มิตรภาพที่ดีของคนไทยพุทธกับไทยมุสลิมในสมัยอดีตที่มีมาช้านาน

นางสาวสมประสงค์ อาลีอิสเฮาะ ได้เล่าเกี่ยวกับมิตรภาพของคนไทยพุทธกับไทยมุสลิมในสมัยอดีต ซึ่งบิดาของตน คือนายสนั่น อาลีอิสเฮาะ เป็นยุวทหารชาวไทยมุสลิมในสมัยนั้น โดยเพื่อนรักของนายสนั่น มีชื่อว่า นายเนียน ศรีสุวรรณ เป็นยุวทหารชาวไทยพุทธ ยุวทหารสองท่านนี้เป็นเพื่อนรักกัน และศึกษาเล่าเรียนด้วยกันในตอนวัยเด็ก ในสมัยนั้นชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมจะเป็นเพื่อนกัน จะไม่มีการแบ่งแยกกัน ซึ่งชีวิตในวัยเรียนของนายสนั่นกับนายเนียนเองในตอนนั้น เวลาพักเที่ยงก็จะไปร้านอาหารมุสลิม โดยที่เพื่อนที่เป็นไทยพุทธก็ไม่มีปัญหา บางครั้งก็มีไปนอนค้างคืนบ้านเพื่อนที่เป็นมุสลิม นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของคนไทยพุทธและไทยมุสลิมในสมัยนั้น เวลามีงานบุญเดือนสิบ ก็จะเอาข้าวต้มมัดให้เพื่อนมุสลิม ส่วนเพื่อนที่เป็นมุสลิม เมื่อถึงวันฮารีรายอ ก็จะเอาตูปะ (ข้าวต้มมัด) มาให้เพื่อนไทยพุทธด้วยเช่นเดียวกัน

ในสมัยที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเกิดเหตุการณ์กองกำลังญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี ยุวทหารทุกคนก็พยายามต่อสู้ ซึ่งนายสนั่นกับนายเนียน ก็เป็นสหายร่วมรบ กับกองกำลังญี่ปุ่นในสมัยนั้นด้วย ตอนที่กองกำลังญี่ปุ่น ได้บุกเข้ามา สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของทุกคนในยุคนั้น ที่ทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบสุข โดยไม่มีการเลือกฝ่าย เหตุการณ์ในตอนนั้น ชาวบ้านทุกคนจะช่วยเหลือกัน แม้แต่ชาวบ้านที่เป็นชาวไทยมุสลิม ก็เอาเรือข้ามมารับยุวทหารที่เป็นชาวไทยพุทธ ที่กำลังหนีข้ามแม่น้ำปัตตานี เพื่อมาตั้งหลักเนื่องจากต้านกำลังทหารญี่ปุ่นไม่ไหว และเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศยอมให้ญี่ปุ่นใช้เส้นทางผ่านประเทศ เพื่อเคลื่อนทัพไปยังประเทศมาเลเซีย การต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่นก็ได้ยุติลง นายสนั่น ก็หนีภัยไปอยู่ที่ตำบลปูยุด เนื่องจากบ้านถูกญี่ปุ่นยึดเป็นกองบัญชาการ ส่วนนายเนียน ก็อพยพไปอาศัยกับครอบครัวชาวมุสลิมในอำเภอยะรัง ชาวบ้านมุสลิมให้อยู่ โดยไม่ได้หวาดระแวง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าในสมัยก่อน ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันแม้จะต่างศาสนิกก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น