รอยยิ้มของกลุ่มเล็กๆ
ของเด็กนราฯ ที่มองเห็นคุณค่าของบ้านเกิดตนเอง
ถ้าเปรียบอำเภอแว้งเป็นเหมือนสินค้า เราก็เป็นเหมือนคนขาย แล้วคนที่จะมาขายก็ต้องรู้จักสินค้าอย่างดีเสียก่อน เราจึงปลุกปั้นเด็กๆ เยาวชนในอำเภอแว้งให้รู้จักบ้านเกิดของตนเอง แล้วไปเป็นตัวแทนในการบอกต่อความงดงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมที่นี่
กลุ่มยังยิ้ม
คือกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเยาวชนในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
เพื่อค้นหาความหมายของบ้านเกิดตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ
และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
กลุ่มยังยิ้มเกิดจากความฝันของผมที่อยากจะก่อตั้งกลุ่มเล็กๆ
ขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์อะไรสักอย่าง
เริ่มแรกเราเข้าไปพูดคุยกับโรงเรียนในพื้นที่อำเภอแว้ง 4 โรงเรียน ได้แก่
โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส โรงเรียนรอมาเนีย
(มูลนิธิ) และโรงเรียนจริยธรรมวิทยา (มูลนิธิ)
ได้รับความช่วยเหลือจากแต่ละโรงเรียน ส่งตัวแทนเด็กๆ 30 คน
นับเป็นกลุ่มยังยิ้มรุ่นแรก
น.ส.นูรฮีซาม บินมามุ หรือน้องซัม ผู้ก่อตั้งกลุ่มยังยิ้มกล่าวถึงที่มา “เราถามเด็กๆ
ว่า อยากทำอะไรในพื้นที่นี้ ในบ้านเกิดของเรา เราไม่คิดแทนเขา
แต่เปิดโอกาสให้เขาแสดงออกได้เต็มที่”
กิจกรรมของกลุ่มยังยิ้มแบ่งออกเป็นสองส่วน
ส่วนแรกคือ “Nature”
หรือ “ธรรมชาติ” คือการปลุกปั้นให้เยาวชนรักธรรมชาติ
อย่างที่รู้กันว่าในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสนั้นมีป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่มีชื่อว่า
“ป่าฮาลา-บาลา” (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา)
เป็นแหล่งอาศัยของนกเงือกที่หลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในประเทศไทย
ดังนั้นกิจกรรมหลักในส่วนของธรรมชาตินี้ก็คือสำรวจป่าพร้อมให้ความรู้แก่แด็กๆ
“เราไม่เน้นวิชาการแต่จะให้พวกเขาได้เห็นของจริง ได้เรียนรู้จริง สัมผัสจริง
เราสอนเด็กๆ เรื่องธรรมชาติผ่านนกเงือก ที่เป็นตัวแทนของป่า
ในหนึ่งชีวิตของนอกเงือกที่มีอายุประมาน 30 ปี มันสามารถปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 5
แสนต้น แล้วพวกเราล่ะ ในชีวิตนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกี่ต้น?” ซัมกล่าวถึงแนวทางการให้ความรู้แก่เด็กๆ
ซึ่งในแต่ละปีทางกลุ่มยังยิ้มจะรับตัวแทนเด็กๆ ในแต่ละโรงเรียนเพื่อมาทำกิจกรรมเดินป่าและดูนก เพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้กลับไป การปลูกฝังให้เด็กๆ รักธรรมชาติในบ้านเกิดของตนเองเช่นนี้จะทำให้พวกเขาภูมิใจ และมีความหวงแหนในธรรมชาติอันสมบูรณ์ที่พระเจ้ามอบให้ในพื้นที่แห่งนี้
“ผลตอบรับจากการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เด็กๆ นั้นดีมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเลยคือ ครั้งนึงเราไปทำกิจกรรมในพื้นที่แล้วมีรังนกกางเขนบ้าน เป็นรังตั้งแต่แรกเริ่มเลย เวลาผ่านไปนานวันเข้า รังนกตรงนี้ก็ยังคงอยู่ แสดงให้ถึงความเข้าใจของเด็กๆ หากเป็นเมื่อก่อนถ้าพวกเขาเห็นรังนกก็จะเข้ามาเล่นซน ไม่เหลือแล้ว” ซัมเล่าอย่างภูมิใจที่อุดมการณ์ของกลุ่มยังยิ้มนั้นถูกถ่ายทอดไปยังเด็กๆ อย่างแท้จริง
นอกเหนือจากส่วนของ
Nature
ที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว
อีกหนึ่งส่วนที่เป็นกิจกรรมของกลุ่มยังยิ้มก็คือ “Culture” หรือ
“วัฒนธรรมบ้านเกิด” ที่ทางกลุ่มพยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้ขึ้นในชุมชน
มีการหาสถานที่ต่างๆ ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และบุคคลต่างๆ
ที่มีเรื่องเล่าในท้องถื่น มีการเข้าไปพบปะพูดคุยกับคนเก่าคนแก่
และมีการสัมภาษณ์ถอดเทปเรียบเรียงออกมาเพื่อนำเป็นสื่อส่งต่อให้คนอื่นๆ ได้รับรู้
เพื่อไม่ให้เรื่องราวเก่าๆ เหล่านั้นถูกลบเลือนหายไปตามเวลา
นอกจากนี้กลุ่มยังยิ้มยังมีกิจกรรมอื่นๆ
เช่นการไปสัญจรตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ การจัดค่ายให้ความรู้
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความน่าประทับใจให้กับกลุ่มยังยิ้ม หากใครได้ติดตามข่าว
ภายหลังจากวันอีดที่ผ่านมา ที่ชายหาดนราทัศน์นั้นเต็มไปด้วยขยะเกลื่อนกลาดมากมาย
เป็นภาพที่น่าเหนื่อยใจเป็นอย่างยิ่ง แต่จากนั้นก็มีกลุ่มเด็กๆ
ที่มาช่วยกันเก็บขยะออกจากชายหาดคนละไม้คนละมืออย่างขยันขันแข็ง
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า “บางนรา…ยังยิ้ม”
ที่กลุ่มยังยิ้มร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ และอาสาสมัครเด็กๆ จากหลายโรงเรียน
อุดมการณ์อันมุ่งมั่นของกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดจากการรวมตัวเด็กๆ ที่ชื่อว่า “ยังยิ้ม” นั้น ไม่เพียงแต่ถูกถ่ายทอดไปให้กับสมาชิกในกลุ่มเท่านั้น แต่มันยังถูกส่งต่อให้กับคนรอบข้าง คนในชุมชน และคนนอกพื้นที่ได้เห็นการทำประโยชน์ของเด็กๆ “กลุ่มยังยิ้ม” และทุกครั้งเมื่อเรานึกถึงเด็กๆ กลุ่มนี้ แน่นอนว่าเราก็จะ…ยิ้มได้เสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น