แตกต่างด้วยศรัทธา
ไม่แตกแยกในความเป็นไทย
ถ้าศาสนาจะบ่งบอกถึงความเป็นไทย
ความเป็นไทยนั้นไม่ควร “ผูกขาด” ไว้กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ไม่สมควรนำความแตกต่างในการนับถือศาสนามาเป็นประเด็นในการแบ่งแยก
หรือนิยามความเป็นหรือไม่เป็นไทย
อคติที่เห็นการปฏิบัติตามหลักศาสนาเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
สะท้อนถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจศาสนบัญญัติ และหลักปฏิบัติของศาสนาอื่น
ศาสนาประจำชาติ หรือศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือ
จึงเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างความเข้าใจต่อความแตกต่างระหว่างศาสนา
“จินตนาการใหม่ความเป็นไทย”
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโอบรวมเอาความแตกต่างเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันให้ได้
นักศึกษาวิทยาลัยอิสลามยะลากลุ่มหนึ่ง
ได้สะท้อนสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่มองพวกเขาให้
นักวิจัยโครงการจินตนาการใหม่ “ความเป็นไทย” ศูนย์พัฒนาสันติวิธี
มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งร่วมสนทนาด้วยได้เห็นว่า
ส่วนใหญ่มองพวกเขาเป็นกลุ่มคนส่วนน้อย นับถือศาสนาอิสลาม และมีวิถีชีวิตที่แตกต่าง
ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหา
“ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
ที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามกันเป็นส่วนใหญ่ ถูกนำมาเชื่อมโยง และเข้าใจว่า
เกิดจากความเคร่งศาสนา ถ้าเราจะสามารถลดอคติ ลดความคิดที่ไม่ถูกต้องอันนี้ออกไปได้
ผมเชื่อว่า เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้”
นี่คือสิ่งที่นักศึกษาคนหนึ่งสะท้อนออกมา
เขาบอกว่า
คนทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาใดๆ และปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนานั้น
ความแตกต่างในการนับถือศาสนาต้องไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นความขัดแย้งทางโลก
ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
พวกเขาเชื่อมั่นว่า
ศาสนาไม่ใช่ที่มาของความขัดแย้ง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระดับโลก
แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตในฐานะอิสลามิกชน เหตุการณ์การก่อการร้าย 11 กันยา
ทำให้มุสลิมกลายเป็น “ผู้ร้าย” ของโลก ไม่เว้นแม้แต่มุสลิมในประเทศไทย
ซึ่งที่ผ่านมาก็อยู่ร่วมกันอย่าง “สงบสุข” มาก่อน
“มีความคิดซึ่งพยายามจะใส่ร้าย
พยายามให้ภาพศาสนาอิสลามและมุสลิมเป็นลบ เช่น
คนที่ใส่ฮิญาบแสดงว่าเป็นพวกเคร่งศาสนา จะต้องถูกปราบ ถูกจัดการ
นี่เป็นผลจากเหตุการณ์ 11 กันยา เราถูกมองเป็นผู้ก่อการร้าย
ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น นี่เป็นกฎของศาสนา ถ้าเราไม่กระทำก็คือผิดกฎ
เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ที่มีหลักปฏิบัติ ซึ่งผู้นับถือศาสนานั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม
ไม่ควรนำความหลากหลายทางศาสนามาเป็นประเด็น เพราะเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
ซึ่งแต่ละศาสนามีหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่แตกต่างกันไป”
นักศึกษาอีกคนขยายความคิดต่อว่า
อยากจะให้ทุกคนมองว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก เพราะทุกศาสนาต่างมีคำสอนและการปฏิบัติ
เพื่อให้ผู้นับถือเป็น “คนดี” ตามครรลองของศาสนา
นักศึกษากลุ่มนี้ยืนยันถึงการปฏิบัติศาสนกิจ
ซึ่งถูกมองในแง่ลบ ว่า การปฏิบัติอย่างเคร่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง
ก่อความสะเทือนใจให้แก่พวกเขา ยิ่งเปรียบเทียบกับความเคร่งของศาสนิกชนอื่นๆ
ซึ่งมักจะได้รับการยกย่อง ชื่นชม และได้ชื่อว่า เป็นศาสนิกชนที่ดี
ทำให้เห็นการถูกเลือกปฏิบัติ เพราะการเป็นมุสลิม
“ไม่ใช่ความเคร่งหรือไม่เคร่ง
แต่เป็นกฎของศาสนาที่มุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติ แต่ก็มีคำถามอีกว่า
ทำไมคนนี้ดื่มเหล้า ทำไมคนนี้ไม่ใส่ฮิญาบ ทำไมคนนี้ไม่ไปมัสยิด
พอมีคนปฏิบัติตามหลักของศาสนา กลับถูกมองว่า
เป็นพวกเคร่งกับศาสนามากเกินไปหรือเปล่า ผมจะตอบว่า นี่คือศาสนาที่เรานับถือ
คนที่เป็นมุสลิมบางคนอาจจะไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่ถูกกำหนดไว้
เช่นเดียวกับพุทธศาสนนิกชน การดื่มเหล้าย่อมผิดศีล แต่เขาก็ยังเป็นคนพุทธ”
ความเป็นไทยซึ่งถูกปลูกฝังและบ่มเพาะในสำนึกของสังคมผ่านระบบการศึกษา
ทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่แสดงถึงความเป็นไทย
เช่นเดียวกับภาษาไทยที่มีพื้นฐานมาจากภาษาไทยกลาง
จนกลายเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติ ได้กีดกัน ผลักไส
มิให้ความแตกต่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นไทย
การมองไม่เห็นที่ยืนของตนเองในความเป็นไทยดังกล่าว
ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ปฏิเสธที่จะจินตนาการความเป็นไทยผ่านศาสนา
“ระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้เราเข้าใจหลายๆ
อย่าง หลานสาวคนหนึ่งที่กลับมาตั้งคำถามว่า ทำไมที่โรงเรียนมีสอนแต่วิชาพุทธศาสนา
ทำไมไม่เห็นมีวิชาอิสลามศึกษา หรือคริสตศาสนาศึกษาเลย
ตัวเขาอยากจะเข้าใจศาสนาอื่นเช่นเดียวกัน ระบบการศึกษาไม่ได้เปิดโอกาสให้เรา
เพราะมันไม่มีการเรียนการสอน ซึ่งจะสร้างความเข้าใจ ทำให้เราเข้าใจศาสนาอื่น
นอกเหนือจากศาสนาที่เป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในสังคมเรา” เขามองว่า
ความเป็นคนไทยไม่จำเป็นว่าจะต้องพูดภาษาไทย ไม่จำเป็นว่าจะต้องนับถือศาสนาอะไร
เพียงว่าถือกำเนิด บ้านเกิดเมืองนอนอยู่ในแผ่นดินไทย รักประเทศไทย
ไม่จำเป็นว่าต้องนับถือศาสนาพุทธ หรือต้องพูดภาษาไทย
แต่สามารถที่จะพูดภาษาอะไรก็ได้
ความเป็นคนไทยจากการเกิดในประเทศไทย
ไม่ต้องนับถือศาสนาพุทธ ไม่ต้องพูดภาษาไทย
อาจเหมาได้ว่าใครก็อ้างการเป็นคนไทยและความเป็นไทยได้
แต่การนิยามเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับคนส่วนใหญ่
และไม่ได้พูดภาษาไทย
การขยายอาณาบริเวณของความเป็นไทยเปิดกว้างให้แก่ความแตกต่างเช่นนี้
ทำให้เขาสามารถมีส่วนร่วมในความเป็นไทยไปพร้อมๆ กับการดำรงอัตลักษณ์
การนับถือศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมของตนและชุมชนได้
จินตนาการความเป็นไทยจึงอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งความพยายามนิยาม
จำกัดความ ช่วงชิงการนิยาม
เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่ร่วมกัน
ขณะที่จินตนาการเดียวกันนี้ของบางคนเกิดขึ้นจากการเลี่ยง ละเว้นที่จะพูดถึง
เพราะเห็นว่า เป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่นการชี้ให้เห็นว่า
การนับถือศาสนาที่ต่างกันเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์
ไม่ได้เป็นสิ่งชี้วัดถึงความเป็นไทย หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิยาม
ความหมายของความเป็นไทย
เพราะความเป็นไทยที่ต้องนับถือศาสนาพุทธ
ทำให้เขาปราศจากจินตนาการความเป็นไทยในความหมายนี้ นั่นเอง
การจินตนาการใหม่ “ความเป็นไทย” จำเป็นอย่างยิ่งต้องสะท้อนถึงความแตกต่าง เพื่อให้จินตนาการนี้สามารถโอบกอดความหลากหลายของผู้คน เป็นจินตนาการเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น