วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567

แนวร่วม ผกร.ถูกวิสามัญเสียชีวิตซาฮีด เพื่อศาสนาหรือไม่

แนวร่วม ผกร.ถูกวิสามัญเสียชีวิต"ซาฮีด"เพื่อศาสนาหรือไม่!!

การเสียชีวิตของ นายรอบี แวสะมะแอ, นายอิสมาแอ จาเละ และนายต่วนอาเดล ต่วนฮาซิน ผกร.ระดับปฏิบัติการ มีหมายจับ ป.วิอาญา ที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ พิธีฝังศพไม่มีการอาบน้ำศพ มีการยกย่องสรรเสริญตายอย่างวีรบุรุษ "ซาฮีด" ตายเพื่อศาสนา

กรณี เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการร่วมบังคับใช้กฎหมายเข้าปิดล้อมตรวจค้นบริเวณป่าสวนยางพาราในพื้นที่ หมู่ 4 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี หลังได้รับแจ้งจากสายข่าวว่ามีกลุ่มก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวและหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมก่อเหตุร้าย และในระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มและปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ จนเกิดการปะทะกัน เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย 1 ในนั้นคือ จ.ส.อ.ธนศักดิ์ บัวขาว อาการสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนอีก 2 นาย ยังพักรักษาตัวที่ รพ.มอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.67 ตลอดระยะเวลาหลายวัน เจ้าหน้าที่ยังปิดล้อมตรวจค้นกระชับพื้นที่ป่าโดยรอบ และยังปะทะกันเป็นระยะๆ เจ้าหน้าที่เชิญผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ร่วมเจรจาเกลี้ย กล่อมให้คนร้ายมอบตัว เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่ไม่เป็นผล

เหตุการณ์ดังกล่าวรัฐไม่ต้องการใช้ความรุนแรง ที่ผ่านมารัฐเปิดโอกาสให้กับผู้ที่เห็นต่าง ผู้ที่หลบหนี มีคดีความติดตัว หมาย ป.วิอาญา หมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง รายงานตัวแสดงตนเพื่อต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม กรณี นายรอบี ฯ เจ้าหน้าที่ได้รับเบาะแสด้านการข่าวในการเคลื่อนไหวนำไปสู่การปิดล้อมตรวจค้น ซึ่งในขั้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มีวิธีการขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ซึ่งในขณะนั้น ผกร. ทั้ง 3 คน สามารถที่จะขอมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนยุติธรรม แต่ ผกร. ทั้ง 3 คน เลือกที่จะใช้ความรุนแรง ทำการต่อสู้ นำไปสู่การปะทะถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐและทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

การเสียชีวิตของ ผกร. ทั้ง 3 คนนั้น ฝ่ายญาติได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาและฝั่งศพที่กุโบร์ โดยไม่มีการอาบน้ำศพแต่อย่างใด และมีผู้เข้าร่วมพิธีฝังศพประมาณ 180 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และมีจากนอกพื้นที่บางส่วน

ความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ แอดมินเพจ: Cerita Patani ได้กล่าวถึงการไม่อาบน้ำศพผู้เสียชีวิต กลายเป็นความสะพรึงกลัวที่ตามหลอกหลอนสยาม เพราะกลัวการลุกฮือขึ้นประท้วงของประชาชนที่เห็นถึงความ    "อยุติธรรม" ที่สยามก่อให้มันเกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าว ผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม ได้กล่าวถึงดารุลฮัรบี โดยแยกให้เห็นถึงความหมายของคำว่า ดารุล หมายถึงแผ่นดิน ส่วนฮัรบี หมายถึง "เผด็จการทรราช" เพราะฉะนั้นเมื่อเอาคำสองคำผสมรวมกันคำว่า "ดารุลฮัรบี" หมายถึง "แผ่นดินแห่งทรราชที่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติภารกิจทางศาสนา" จึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมต้องญีฮาด (ต่อสู้) เพื่อเรียกร้องสิทธินั้นๆ กลับคืนมา

ส่วนจะดูว่าแผ่นดินใดเป็นฮัรบีหรือไม่นั้น ให้ดูที่กฎหมายแม่บทหรือรัฐธรรมนูญ "ญีฮาด" ไม่ใช่สงคราม และญีฮาดไม่ใช่ฟาซาด (การก่อการร้าย) "ญีฮาด" คือ "การป้องกันรักษาสันติ รักษาสัจธรรมแห่งอิสลาม" แต่กรณีที่กล่าวมาของการเสียชีวิตของ ผกร. ทั้ง 3 คน ไม่ใช่ญีฮาด

ดังนั้นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ต้องต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนประเด็นการ ไม่อาบน้ำศพนั้น เป็นเรื่องของศาสนา ดังนั้นจะใช่หรือไม่ใช่ให้กลับไปดูในอัล-กุรอาน และแบบฉบับของท่านรอซูล กล่าวไว้ว่าอย่างไร? ศาสนาอิสลามจะใช้ความรู้สึกเป็นตัวตั้งในการตัดสินไม่ได้

การต่อสู้ของแนวร่วม ผกร. ที่ผ่านมาได้ถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์และการบิดเบือนในหลักคำสอนของศาสนา ถูกบ่มเพาะความรุนแรงให้ทำการต่อสู้ สุดท้ายนำไปสู่ความสูญเสียที่ใครไม่อยากให้เกิด ครอบครัวเดือดร้อนได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับการเยียวยา การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ในความเป็นจริงรัฐ ฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคดีความ มีหมายจับ สามารถรายงานตัวแสดงตนเข้าสู่มาตรา 21 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งอำนาจตามมาตรา 21 นั้นอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ ซึ่งอยู่ในอำนาจและดุลยพินิจของอัยการสูงสุด ตลอดจนการถอนฎีกาคดีความมั่นคงได้ทั้งหมด ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก ผอ.รมน.ภาค 4 นำเข้าสู่กระบวนการอบรมตามโครงการพาคนกลับบ้าน แถมยังได้ฝึกอาชีพติดตัวเพื่อไปประกอบอาชีพสุจริตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น