วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

แจงโอไอซี มีขบวนการบิดเบือนอ้างศาสนาจุดไฟใต้

แจง “โอไอซี” มีขบวนการบิดเบือนอ้างศาสนาจุดไฟใต้

แม่ทัพ 4 แจงคณะทูตสมาชิกโอไอซี ผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาส นำความต่างศาสนาเป็นเงื่อนไข บิดเบือน ปลุกเร้าให้เกิดการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง ยก 3 เหตุการณ์ เจ้าหน้าที่มุสลิมถูกสังหาร ไม่เว้นแม้ผู้หญิง ทั้งๆ ที่ความจริงคนสองศาสนาอยู่กันสงบสุข ด้าน ศอ.บต.เปิดข้อมูลสัดส่วนมุสลิม 229 ราย – พุทธ 38 ราย นั่งบริหาร อปท. ชายแดนใต้ ย้ำรัฐไทยไม่เคยกีดกัน

พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวต่อคณะทูตประเทศมุสลิมสมาชิกโอไอซี ในโอกาสเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) มีภารกิจหลักในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย โดยปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงในหลายมิติ พื้นฐานเกิดจากความต้องการมีตัวตนและการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ภายใต้ความแตกต่างของสังคมและวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มผู้เห็นต่างบางกลุ่มได้ฉวยโอกาส ในการนำความแตกต่างเรื่องศาสนามาเป็นเงื่อนไข และนำหลักศาสนามาบิดเบือนเพื่อปลุกเร้าการต่อสู้ด้วยวิธีที่รุนแรง ซึ่งแท้จริงแล้ว ปัญหาของพื้นที่ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนา ดังที่สำนักจุฬาราชมนตรีได้เคยวินิจฉัยไว้ว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ “ดินแดนดารุลฮัรบี” ไม่ใช่ดินแดนแห่งสงคราม ตามที่คนบางกลุ่มกล่าวอ้าง

เหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นับถือศาสนาอิสลามถูกสังหารเสียชีวิต

- เหตุการณ์แรก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.67 อส.ทพ.หญิง นูรีชัน พรหมศรี สังกัด กรม ทพ.49 ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่ตลาดนัดดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ขณะอยู่ในห้วงลาพัก กลับบ้านและไปช่วยครอบครัวขายอาหาร

- เหตุการณ์ที่ 2 วันที่ 18 เม.ย.67 อส.ทพ.รุสลี ดาเส็ง สังกัด ร้อย ทพ.4716 ถูกลอบยิงเสียชีวิตภายในกุโบร์ บ้านจาเราะแป ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา ขณะอ่านคัมภีร์ หรือดุอาอ์ให้กับบิดาที่เสียชีวิต

- เหตุการณ์ที่ 3 วันที่ 25 เม.ย.67 มญ.มะดาโอ๊ะ วายีเกา อส.ชคต.บาเจาะ ถูกลอบยิงเสียชีวิต ในพื้นที่บ้านบียอ หมู่ 4 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะเดินทางกลับจากการประกอบศาสนกิจ (ละหมาด)

ข้อเท็จจริง ที่เราต้องการสื่อสารไปยังนานาชาติ คือ ดินแดนแห่งนี้ทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพในการดำรงชีวิตประจำวัน ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งรวมถึง การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเผยแผ่ศาสนาได้เป็นปกติไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ที่จะนำไปกล่าวอ้างได้ว่าเป็นความขัดแย้งทางศาสนาแม้แต่น้อย การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล

ปัจจุบัน เรามีแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครประจำพื้นที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างสภาวะแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้เอื้อต่องานด้านการพัฒนารองรับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เปิดข้อมูลสัดส่วนมุสลิม - พุทธ นั่งบริหาร อปท. ชายแดนใต้

ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รายงานให้คณะทูตประเทศมุสลิม ทราบถึงงานพัฒนาและการให้ความสำคัญต่อสัดส่วนของประชากรในพื้นที่ โดยเฉพาะสัดส่วนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีรวมทั้งหมด 267 คน แยกเป็นที่นับถือศาสนาอิสลาม 229 คน คิดเป็นร้อยละ 85.77 ของผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด และนับถือศาสนาพุทธ 38 คน คิดเป็นร้อยละ 14.23 ของผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด

โดยแยกเป็นระดับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ดังนี้

- ระดับ อบจ. นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด รวม 3 คน (ไม่มีที่นับถือศาสนาพุทธ) แยกเป็น จ.นราธิวาส 1 คน จ.ปัตตานี 1 คน จ.ยะลา 1 คน

- ระดับเทศบาล นับถือศาสนาอิสลาม รวม 37 คน นับถือศาสนาพุทธรวม 12 คน แยกเป็น

- จ.นราธิวาส ศาสนาอิสลาม 12 คน ศาสนาพุทธ 4 คน

- จ.ปัตตานี ศาสนาอิสลาม 15 คน ศาสนาพุทธ 2 คน

- จ.ยะลา ศาสนาอิสลาม 10 คน ศาสนาพุทธ 6 คน

- ระดับ อบต. นับถือศาสนาอิสลามรวม 189 คน ศาสนาพุทธรวม 26 คน แยกเป็น

- จ.นราธิวาส ศาสนาอิสลาม 61 คน ศาสนาพุทธ 11 คน

- จ.ปัตตานี ศาสนาอิสลาม 88 คน ศาสนาพุทธ 8 คน

- จ.ยะลา ศาสนาอิสลาม 40 คน ศาสนาพุทธ 7 คน

โดยสรุป การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นลักษณะของการกระจายอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลาง ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ในแต่ละท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้นําของตน ให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ พร้อมทั้งแก้ปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น