วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ในหลวงทรงอุปภัมภ์ทุกศาสนาในประเทศไทย

ในหลวงทรงอุปภัมภ์ทุกศาสนาในประเทศไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครอง รักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป  ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปภัมภกเถิด”

ปี 2560 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) ผู้มีพระจริยวัตรเรียบง่าย สมถะ เคร่งในพระธรรมวินัย ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ปี 2562 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชอุปัธยาจารย์ และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฺฒโน) สมเด็จพระ สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชกรรมวาจาจารย์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระคุณูปการที่มีต่อพระองค์และพุทธศาสนจักร

อีกทั้งยังทรงอุปภัมภ์และส่งเสริมทุกศาสนาในประเทศไทย เช่นทุก ๆ ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในศาสนพิธีและโอกาสสำคัญของชาวไทยมุสลิมอย่างสม่ำเสมอ อาทิ งานเมาลิดกลางที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงศาสดามูฮัมหมัด พิธีพระราชทานรางวัลแก่กรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดภาคใต้ พิธีพระราชทานรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับภาคใต้ และระดับประเทศ

และเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงรับสมเด็จพระสันตปาปาประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน อย่างสมพระเกียรติ ด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงาม แสดงถึงความสัมพันธ์อันดี เป็นที่ประจักษ์แก่คริสตศาสนิกชน และพสกนิกรทั้งหลาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตนเป็น “พุทธมามะกะ  ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ทรงสืบทอดประเพณีทางพระพุทธศาสนา โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา เคารพยึดมั่นในพระรัตนตรัย พรั่งพร้อมด้วยพระปัญญาอันสามารถเข้าพระราชหฤทัยในพระสัทธรรม เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติโดยทรงตั้งอยู่ในธรรม และทรงดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พสกนิกรชาวไทย รวมถึงการที่ทรงเป็น“พุทธศาสนูปถัมภก” ทรงอุปถัมภ์ค้ำชู จรรโลงพระพุทธศาสนา และทรงอุปภัมภ์และส่งเสริมทุกศาสนาในประเทศไทยด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น