วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ท่าน จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า นิมัตอันยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมคือได้อยู่ในประเทศ

ขอความสุข สันติ ความจำเริญแด่ท่านทั้งหลาย

กระผมมีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดงานเมาลิดกลางจังหวัดยะลา ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1445 และงานทดสอบอัล-กรุอาน 14 จังหวัดภาคใต้ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในครั้งนี้

ผมขอชื่นชมคณะกรรมการจัดงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน จะเห็นได้ว่า ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมากมาย, มีการทดสอบอัล-กุรอานและทดสอบการท่องจำอัล-กรุอานในระดับ 14 จังหวัดภาคใต้, มีการแสดงการขับร้องอานาซีด, มีการบรรยายธรรมจากนักวิชาการศาสนา ตลอดจนการแสดงนิทรรศการต่าง ๆซึ่งทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีการพัฒนาขึ้น แลเห็นศักยภาพของการทำงานลักษณะบรรณาการ ที่ขับเคลื่อนมิติทางศาสนา ถ่ายทอดทางวัฒนธรรมวิถีชีวิต แสดงถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น งานเมาลิด ถือเป็นงานที่แสดงการให้เกียรติและยกย่องท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) ศาสดาแห่งศาสนาอิสลามและสิ่งที่ท่านแสดงออกเป็นกิจวัตรประจำวันของท่าน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่มวลมุสลิมในการยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวัน พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะของท่านรอซูล ฯ ความว่า “ในตัวของท่านศาสนทูต/รอซูลนั้น มีแบบฉบับอันดีงามแก่พวกท่านทั้งหลาย” เป็นสิ่งที่เราจะได้ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว ในสังคม และในประเทศชาติของเรา

       การดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) นั้น ด้วยการที่เราได้ศึกษา และเรียนรู้การฟื้นฟูแนวทางของท่าน เพื่อนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติ การพัฒนาคุณภาพการประกอบอาชีพ ท่านรอซูล ฯ ได้กล่าวว่า มีคนถามท่านรอซูล ฯ ว่า “การประกอบอาชีพอะไร ประเสริฐที่สุด ?” ท่านรอซูล ฯ ตอบกลับไปว่า “การทำงานทุกอย่างที่ลงมือด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองและการค้าขายที่ไม่มีการหลอกลวง ไม่มีการทุจริต ไม่มีการพองป่น” และเมื่อท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ฮิจเราะห์/อพยพจากนครมักกะห์สู่นครมาดีนะ หลังจากที่ได้จัดทำข้อตกลงอย่างหนึ่งที่เรียกว่า อัลอิกกอบ คือการสร้างความเป็นพี่น้อง หรือสถาปนาความเป็นพี่น้อง ให้เกิดขึ้นระหว่างชาวมุฮาญิรีน (ผู้อพยพ) กับชาวอันศอร (ชาวเมืองมาดีนะ) ให้จับคู่ เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลกัน เพราะผู้อพยพนั้น ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติใด ๆ ติดตัวมาด้วย

ชาวเมืองมาดีนะ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ทำนา เพาะปลูก เพราะมีพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ แต่ในทางกลับกันนครมักกะห์ เป็นดินแดนไม่เหมาะกับการเพาะปลูก มีความแห้งแล้งกันดาร ชาวเมืองมาดีนะต้องการแบ่งสวนไร่ พื้นที่ให้ชาวมักกะห์ เอาไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ชาวมักกะห์ ปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีความชำนาญในอาชีพเกษตรกรรม แต่ถนัดอาชีพค้าขาย และขอให้ชาวมาดีนะ ชี้นำหนทางสู่การตลาด เพื่อค้าขาย

ตลาด ร้านค้าในเมืองมาดีนะ ดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวยิว การค้าขาย และธุรกรรมต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขของริบา (ดอกเบี้ย) และเมื่อท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้จัดตั้งตลาดขึ้น เป็น “ซูก่นมาดีนะ ตลาดแห่งเมืองมาดีนะ” โดยที่ท่านรอซูล ฯ เป็นผู้เลือกที่ตั้ง ที่ทำเลตลาดด้วยตนเอง เพื่อให้ชาวมุฮาญิรีน (ผู้อพยพ) สามารถประกอบสัมมาอาชีพค้าขาย โดยมีชื่อเรียกว่า ตลาดอัล-มานากอฮฺ สำหรับใครที่มีโอกาสได้ไป (ซียาเราะ) เยี่ยมเยียนกุโบร์ท่านรอซูล ฯ ที่นครมาดีนะ ก็จะได้เจอตลาดขายอินทผาลัมและเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

การค้าขายแบบระบบของอิสลาม แตกต่างไปจากชาวยิวที่อาศัยอยู่ในนครมาดีนะ และท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) ชอบเดินตราตลาดทุก ๆ วัน หลังจากเสร็จละหมาดซุบฮี/เช้าตรู่ วันหนึ่งท่านรอซูล ฯ เดินผ่านกองข้าวสาร ที่มีพ่อค้าวางขาย ท่านรอซูล ฯ จึงขออนุญาตเอามือล้วงเข้าไปในกองข้าวสารนั้น แล้วพบว่า ภายในกองข้าว เปียกชุ่มด้วยน้ำ ท่านรอซูล ฯ จึงถามว่า พ่อค้าเหตุใดกองข้าวสารนี้ ข้างนอกมันแห้ง ข้างในมันเปียก ? พ่อค้าตอบกลับว่า เมื่อคืนฝนตก และฉันก็หาภาชนะมาปกปิดกองข้าวสารจากน้ำฝน ไม่ทัน ฉันจึงเอาข้าวสารที่โดนฝนไว้ข้างในและเอาข้าวสารที่แห้งโชว์ไว้ด้านนอก เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านรอซูล ฯ มีความรู้สึกโกรธกับพฤติกรรมของพ่อค้าเช่นนี้ จึงกล่าวประกาศไป ความว่า “ใครที่ชอบตบตาหลอกลวงพวกเรา เขาไม่ใช่เป็นพวกเรา” นี้คือหลักการ ค้าขายตามแบบฉบับของอิสลาม ที่ต้องการความชัดเจน ต้องบอกให้ผู้ซื้อรู้ว่า สินค้านั้นมีข้อตำหนิ มีข้อดีและข้อเสียเช่นไร และคนในสมัยยุคนั้น เขามองว่า “เงินริบากับกำไรค้าขาย มีลักษณะที่เหมือนกัน” ในอัลกรุอานจึงเล่าให้พวกเราทั้งหลายได้ฟัง ความว่า “พวกเขาจะกล่าวว่า การค้าขายก็เสมือนระบบดอกเบี้ย” คือต้นทุน 100 บาท ขายไป 120 บาท ก็เหมือนริบา/ดอกเบี้ย เช่นเดียวกับยืมกู้ไป 100 ชดใช้คืน 120 มีกำไรที่เกิดขึ้นเหมือนกัน โองการอัลกุรอาน กล่าวความว่า “อัลเลาะห์อนุมัติกำไรจากการค้าขาย แต่ห้ามเรื่องกู้ยืมมีดอกเบี้ย” การอนุมัติการค้าขาย เพราะการค้าขายนั้นมี สภาวะเสี่ยง ในตำราอัลฟิกฮฺ กล่าวไว้ “การที่จะได้มานั้น ก็ต้องแลกกับการเสียไป” อาจเสียกำไรหรือได้กำไร มันคือสภาวะความเสี่ยงจากการค้าขาย

ฉะนั้น จึงสมควรได้รับกำไรจากการลงทุน แต่การปล่อยกู้ดอกเบี้ย ไม่มีความเสี่ยงในสภาวะเช่นนี้เลย และการค้านั้นเป็นการกระจายรายได้ ไปจนถึงชาวบ้านรากหญ้า ไม่ใช่กระจุก นั้นคือระบบดอกเบี้ย นายทุนเงินกู้เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่พวกเขาเรียกเก็บ ยิ่งระบบเงินกู้นอกระบบจะมีความรุนแรง ยิ่งร้ายกาจ และก็จะตกเป็นของนายทุนเฉพาะบางคนเท่านั้น

ทางรัฐบาล จึงได้จัดตั้งพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพื่อให้เรามีระบบการเงินปลอดจากดอกเบี้ย ด้วยการมีคณะที่ปรึกษาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่คอยดูแล คอยสกรีน ว่าธุรกรรมอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็พยายามให้เกิดในสังคมของคนไทยเรา เมื่อเรามีธนาคารอิสลามแล้วก็ช่วยกันรักษา ไปทำธุรกรรมสนับสนุนธนาคาร ฯ ที่เปิดให้บริการอยู่

ส่วนรูปแบบตะกาฟุล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือการประกันในระบบของอิสลาม ก็จะมีคณะที่ปรึกษาด้านชารีอะห์ของบริษัทตะกาฟุล คอยกำกับดูแลเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ พยายามที่จะเอาหลักกการของอิสลามมาใช้ และทางภาครัฐ ก็เอื้ออำนวยให้เราได้มีโอกาสใช้หลักการที่ถูกต้อง อันนี้ถือว่า เป็นนิมัต (สิ่งประเสริฐ) อันยิ่งใหญ่ ที่อยู่ในประเทศไทยของเรา

ประเทศไทยมีทั้งหมด 5 ศาสนา ที่ทางการให้การรับรอง ศาสนาพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้, รองลงมาคือศาสนาอิสลาม, ศาสนาคริสต์ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซิกข์ ทั้งหมดสามารถอยู่ด้วยกัน แม้จะมีหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติที่แตกต่างกัน ดังที่โองการอัล-กรุอานกล่าว ความว่า “ศาสนาของพวกท่าน พวกท่านก็ปฏิบัติไป ศาสนาของพวกเรา เราก็ปฏิบัติ” ที่เราอยู่กันได้สงบสุข ไม่ขัดแย้งในเรื่องศาสนา ก็เพราะ เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ให้การดูแลแก่ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

ทุกวันนี้เห็นได้ว่า พี่น้องมุสลิมสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ มีเครื่องบินให้บริการที่สนามบินนราธิวาส, สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินกรุงเทพฯ นอกจากนั้นแล้วทางรัฐบาล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดชุดทีมแพทย์ ไปสมทบคอยดูแล คอยเยี่ยวยา คอยบริการรักษาคนที่เจ็บไข้ ป่วยที่นครมักกะห์ เพื่อให้ได้ประกอบพิธีฮัจย์ที่สมบูรณ์กลับมา สิ่งเหล่านี้นับเป็นนิมัตอันยิ่งใหญ่ ที่พระองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ.) ได้โปรดประทานให้แก่เรา

จึงขอวิงวอนช่วยกันรักษาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ น้ำใจให้คงไว้ ดังที่ท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าว ความว่า “มุกมิน (ผู้ศรัทธา) ที่แข็งแรงดีกว่าและเป็นที่รักยิ่งสำหรับอัลเลาะห์ มากกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ” มุกมินที่เข้มแข็งตรงนี้ ไม่ได้หมายถึง เข้มแข็งร่างกายเพียงอย่างเดียว ต้องเข้มแข็งด้านการศึกษา, ทางด้านการเมือง, ทางด้านเศรษฐกิจ เราต้องพัฒนาคว้าโอกาส ทุกวันนี้โอกาสเปิดให้เราสามารถเข้าไปอยู่ในวงการต่าง ๆ ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่นทางการเมือง เราก็มีท่าน สส.นั่งในสภาผู้แทนราษฎร, มี สว.เข้าไปนั่งอยู่สภา และขออนุญาตเอ๋ยนามท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของพวกเรา ซึ่งเป็นชาวจังหวัดยะลา ถือเป็นนิมัตอันยิ่งใหญ่

ใบเบิกทางของทั้งหมดนี้ คือการศึกษา เมื่อเรามีการศึกษาดี มีการยอมรับ เรามีความสามารถ เข้าสู่ระบบการเมืองได้ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยการเมืองเสรีประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราจึงมี สส.หลายท่าน เข้าไปทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง เรามีรัฐมนตรีที่เป็นมุสลิม นับเป็นนิมัตอันยิ่งใหญ่ เมื่อเรานำเอาบทบัญญัติของศาสนา แนวทางที่ท่านรอซูล ฯ ได้ปูนเป็นแนวทางเอาไว้สู่การปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการจัดงานเมาลิด ไม่ได้หมายถึง การระลึกถึงท่านรอซูลมุฮัมมัด (ซ.ล.) เพียงอย่างเดียว ยังหมายถึง การนำเอาข้อปฏิบัติใช้ของท่าน รอซูลฯ มาสู่การปฏิบัติให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

และในด้วย พ.ศ. 2567 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง รัฐบาลจึงเห็นสมควรดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวาระสำคัญดังกล่าว ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรมุสลิม ทรงไม่ปิดกั้นการนับถือศาสนาใด ๆ

ดังนั้นการส่งเสริมกิจกรรมการทดสอบอัลกรุอานจึงเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนรักการอ่านอัลกรุอาน และได้แสดงศักยภาพผ่านการประกวดแข่งขัน ซึ่งเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดในระดับประเทศสู่ระดับนานาชาติ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทํานุบํารุงศาสนาให้ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาและปฏิบัติตามกรอบแนวทางของศาสนา เกิดความดีงาม นำมาซึ่งความสันติสุขของคนในสังคม

-------------------------------------------------------------------------

 “งานเมาลิดกลางจังหวัดยะลา ฮ.ศ.1445 และงานทดสอบอัลกรุอาน 14 จังหวัดภาคใต้ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ณ หอประชุมสิริสวัสดิธร สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา

                                                      นายอรุณ บุญชม

                                                       จุฬาราชมนตรี

งานเมาลิดกลางจังหวัดยะลา ฮ.ศ.1445 และงานทดสอบอัลกรุราอาน 14 จังหวัดภาคใต้ ประจำปี 2567

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น