วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567

อย่าฝากความหวังไว้แค่..."โต๊ะเจรจา"

คำถามแรกที่ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงไทย ต้องถามในวงพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ กับกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ก็คือ เหตุใดความรุนแรงที่กระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ ยังคงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทว่าตลอดห้วงเวลาเกือบ 19 ปีที่ผ่านมา กลับมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่หลายเหตุการณ์ และยังมีเป้าหมายอ่อนแอได้รับผลกระทบด้วย หลายครั้ง

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงไทย ต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าสถานการณ์ความรุนแรง ยังทรงตัวอยู่เช่นนี้ เป็นเพราะอะไร? หรือยังไม่ได้สื่อสารกับระดับปฏิบัติในพื้นที่ หรือมีเหตุผลอื่น หรือทางฝ่ายขบวนการจะสรุปว่าจำนวนเหตุร้ายขนาดนี้ถือว่าลดระดับลงแล้ว ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อนำคำตอบที่ได้มาประเมินผลต่อไป เนื่องจากหลายเสียงจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ติดตามสถานการณ์ภาคใต้อย่างใกล้ชิด ยังคงตั้งคำถามว่า กลุ่มบุคคลที่ทางการไทยไปเปิดหน้าเจรจาด้วยนั้นเป็น "ตัวจริง" หรือเปล่า

แม้ความเป็น "ตัวจริง" ในทัศนะของผมจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมาย แต่สำหรับในกระบวนการสันติภาพ ที่ใช้การตั้งโต๊ะเจรจาเป็นเครื่องมือแล้ว ความเป็น "ตัวจริง" มีผลต่อความเชื่อมั่นไม่น้อย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของสังคมที่เฝ้ามองอยู่ หากความเชื่อมั่นนี้หมดไป ความสำเร็จย่อมหดหายตามไปด้วย

จะว่าไปแล้ว ความเป็น "ตัวจริง" ซึ่งหมายถึง การมีศักยภาพสั่งการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้จริงๆ ในบางมิติอาจมีความสำคัญ เช่น มิติที่กลุ่มต่อต้านรัฐมีเพียงกลุ่มเดียวหรือน้อยกลุ่ม และมีตัวตนชัดเจน มีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่รับรู้ได้ ดังเช่น ขบวนการอาเจะห์เสรี หรือ กัม (GAM) ในกรณีอาเจะห์กับอินโดนีเซีย หรือขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) ในกรณีมินดาเนากับรัฐบาลฟิลิปปินส์

แต่หากพิจารณาในอีกบางมิติ ความเป็น "ตัวจริง" หรือ "ตัวปลอม" ก็อาจไม่ใช่สาระอะไรมากนัก โดยเฉพาะหากเราเชื่อในทฤษฎีที่ว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มีมากมายหลายกลุ่ม

ที่สำคัญ "กลุ่มหลัก" ที่ใช้ความรุนแรงมาตลอด (เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต) ยังเลือกใช้วิธีจัดโครงสร้างแบบ "องค์กรลับ" ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรไม่มีความชัดเจน และเมื่อการต่อสู้ มีความยืดเยื้อยาวนาน ย่อมมีโอกาสสูง ที่กลุ่มติดอาวุธอาจขยายวงไปมาก คือแตกกลุ่มแตกสาขากันไปตามอุดมการณ์ความเชื่อของแต่ละพวกแต่ละคน ทำให้เกิดภาวะ "ไร้เอกภาพ" อย่างสิ้นเชิง และองค์กรนำ (เดิม) ไม่อาจบังคับบัญชาได้ 100%

หากเราเชื่อว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในสภาพนั้น การเจรจากับใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมแทบจะไร้ผลในการยุติความรุนแรงในภาพรวม ฉะนั้นการที่เราตั้งความหวังกับกระบวนการพูดคุยเจรจามากๆ สุดท้ายอาจจะผิดหวังก็ได้

ส่วนตัวผมมองว่า ทฤษฎีที่หยิบยกมา ใกล้เคียงกับสภาพจริงในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากได้ลองให้คนในพื้นที่ช่วยสอบถามกลุ่มติดอาวุธที่ถูกเรียกว่า "อาร์เคเค" หลายครั้ง หลายคน ได้คำตอบใกล้เคียงกันว่าไม่รู้จักเลยว่ารัฐไทยไปเจรจากับใคร และไม่ได้รับสัญญาณไม่ว่าจากทางใดให้ลดระดับการก่อเหตุรุนแรงลง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าทางที่ดีและรอบคอบที่สุด คือเราควรใช้กระบวนการพูดคุยเจรจาเป็นเพียง "กลไก" หรือเครื่องมือหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทุ่มเทความหวังไปที่การพูดคุยเจรจาเสมือนหนึ่งว่า เป็นคำตอบเดียวของปัญหาชายแดนใต้ แล้วลืมการแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่เป็น "เงื่อนไข" ของความขัดแย้งและยังปรากฏอยู่อย่างดาษดื่น

เพราะท่ามกลางปัญหาที่มีมิติซับซ้อนสูง และมีกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐค่อนข้างหลากหลายเช่นนี้ หัวใจของการแก้ปัญหาย่อมหนีไม่พ้น การลดทอน "เงื่อนไข" ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้ความรุนแรงให้ลดลงเรื่อยๆ นั่นก็คือการมียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติที่หลากหลาย แล้วขับเคลื่อนงานไปพร้อมๆ กัน

หลายเรื่องผมไม่เห็นความจำเป็นว่า ต้องรอการพูดคุยสันติภาพ แต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่คนทำงานภาคใต้ก็ทราบๆ กันดีอยู่แล้วว่าควรทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรมทางคดี การลดการใช้กฎหมายพิเศษ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกพุทธ-มุสลิม ไม่เลือกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน การคลี่คลายคดีคาใจต่างๆ รวมไปถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (ที่เป็นการปกครองท้องถิ่นจริงๆ) ก็สามารถเดินหน้าไปได้เลย หากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เท่าที่ผมเคยร่วมเวทีพูดคุยวงปิดกับประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าสิ่งที่ประชาชนอยากได้มากๆ ไม่ใช่ "เขตปกครองพิเศษ" ในความหมายของการปกครองตนเอง หรือในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ แต่เป็นการเพิ่มช่องทางให้ "คนดีๆ" ได้เข้าสู่ระบบตัวแทน เพื่อเข้าไปเป็นผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ เช่น เพิ่มคุณสมบัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับต่างๆ โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.ต้องจบปริญญาตรี เพื่อแก้ปัญหาการใช้ระบบเครือญาติผูกขาดเก้าอี้ และมีกลไกลดความขัดแย้งในการเลือกตั้ง อาทิ ใช้ระบบประชาคมที่อิงกับหลักการทางศาสนา หรือการมี "สภาซูรอ" คอยคัดกรองผู้สมัคร เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้ผมว่าไม่เห็นต้องรอ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายบีอาร์เอ็น หรือแกนนำบีอาร์เอ็นคนไหน ออกมาเรียกร้อง เพราะสามารถทำได้ทันที และยังเป็นการแสดงความจริงใจด้วยว่ารัฐต้องการให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงโดยมี "ประชาชน" เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ถูกครหาว่ามี "ผลประโยชน์ทางการเมือง" เป็นตัวตั้งดังที่เป็นอยู่!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น