วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2567

ศาสนาพุทธ กับศาสนาอิสลาม ที่ชาวพุทธและมุสลิมควรเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (2)

O จงบอกชื่อศาสดา พระคัมภีร์ สถานประกอบพิธีทางศาสนาของศาสนาที่สำคัญๆ

ศาสดาในศาสนาที่สำคัญๆ เช่น ในศาสนาพุทธ คือ พระพุทธเจ้า (Lord Budha) ในศาสนายูดาย คือ โมเสส (Moses) ชาวมุสลิมเรียกศาสนายูดายหรือยิวว่า ยาฮูดี (Yahudi) เรียกศาสดาโมเสสว่า นบีมูซา (Nabi Musa) ในศาสนาคริสต์ คือ พระเยซู (Jesus Christ) ชาวมุสลิมเรียกศาสนาคริสต์ว่า นัศรอนี (Nasrani) และเรียกพระเยซูว่า นบีอีซา (Nabi Isa) ในศาสนาอิสลาม คือ มูฮัมมัด (Muhammed) หรือ นบีมูฮัมมัด (Nabi Muhammed)

คัมภีร์ในศาสนา เช่น ในศาสนาพุทธ คือ พระไตรปิฎก ศาสนายูดาย คือ โอลด์เทสทาเมนต์ หรือพันธสัญญาเก่า (Old Testament) ศาสนาคริสต์ คือ คัมภีร์ไบเบิล (Bible) หรือพันธสัญญาใหม่ (New testament) ศาสนาอิสลาม คือ อัลกุรฺอาน (Al-Qur’an)

ส่วนสถานประกอบพิธีทางศาสนาหรือประกอบศาสนกิจมีดังนี้ ศาสนาพุทธ คือ วัด ศาสนายูดาย คือ ซินนะก็อก (Synagogue) ศาสนาคริสต์ คือ เทมเปิล (temple หรือโบสถ์คริสต์) ศาสนาฮินดู คือ วิหาร (Vihara) และศาสนาอิสลาม คือ มัสยิด (Masjid) หรือสุเหร่า (Surau) ในภาษามลายู

O ท่านเข้าใจศาสนาพุทธอย่างไรบ้าง?

ศาสนาพุทธที่ข้าพเจ้าเข้าใจในเบื้องต้นคือ "ศาสนาแห่งมนุษยนิยม" (Humanism) จะเห็นได้ว่าความเป็นมาของศาสนาพุทธคือแนวคิดและคำสอนที่แยกออกจากศาสนาพราหมณ์–ฮินดู โดยการปฏิรูปหรือการปฏิวัติศาสนาดังกล่าว เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์ในสังคมประเพณีแบบพราหมณ์-ฮินดูมาอย่างยาวนาน ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรมด้วยลำพังพระองค์เอง และครั้งหนึ่งได้ทรงเข้าร่วมกับพวกปัญจวัคคีย์เพื่อทดลองทุกรกิริยาในแนวทางของกลุ่มนักแสวงธรรมกลุ่มนี้ แต่ภายหลังทรงปลีกตัวหันเข้าหาทางสายกลาง (มัชฌิมปฏิปทา) ด้วยหวังบรรลุสัจธรรม (Truth) ในเร็ววัน พระองค์ทรงพิจารณาสติและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปได้ระยะหนึ่งจนกระทั่งทรงตรัสรู้ในที่สุด

ก่อนอื่นจะต้องทราบว่า พื้นฐานเดิมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็น "ศาสนาแบบสรรพเทวนิยม" (Pantheism) ดังนั้นศาสนาพุทธ จึงเป็นศาสนาแห่งมนุษยนิยม เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธระบบความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นของ “พรหมลิขิต” พระพุทธเจ้าทรงเสนอระบบ “กรรมลิขิต” ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเท่ากับทรงปฏิวัติระบบความเชื่อดั้งเดิมอย่างถอนรากถอนโคน

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาแนว “กรรมนิยม” ศาสนาใหม่นี้นำพามนุษย์เข้าใกล้ชิดกับ “อัตตา” หรือ “ตัวตน” (self) ของ “ตัวเอง” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เริ่มแรกเสมือนว่ามนุษย์เป็น “เจ้าของ” ตัวเอง ซึ่งเป็นไปในแนวมนุษยนิยม ดังสะท้อนให้เห็นในคำกล่าวที่ว่า “ตนย่อมเป็นที่พึ่งของตน” (อัตตาหิ อัตโน นาโถ) การหลุดพ้น (วิมุติ) ด้วยการที่ “ดวงตาแห่งธรรม” (อุปติสสะ) แบบปัจจุบันทันด่วน (Sudden Enlightenment)

ตามปรัชญาของนิกายเซน (Zen) จึงได้รับการอธิบายในแบบ “กรรมลิขิต” หมายความว่า ผู้ที่จะบรรลุได้นั้นจำต้องสะสม “กุศลกรรม” หรือ “กุศลบารมี” อย่างยาวนานในหลายๆ ชาติภพมาก่อน การบรรลุธรรม (วิมุติ) อย่าง “ปัจจุบันทันด่วน” (sudden) จึงจะบังเกดขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ศาสนาพุทธ จึงแสดงให้เห็นการใช้ “อัตตา” เพื่อปูทางไปสู่การปฏิเสธ “อัตตา” นั่นคือการหยั่งรู้พ้นเข้าไปในภาวะ “อนัตตา” (ความไร้ตัวตน) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อมีการ “ละวาง” ตัวตน (self) ซึ่งกอปรด้วยเครื่องปรุงแต่งร้อยรัดทั้งปวง จึงจักเข้าสู่ภาวะแห่ง “สุญตา” (Nothingness) อันเป็นอุดมธรรม (บัญญัติในเรื่อง “อนัตตา” ปรากฏอยู่ในข้อธรรมว่าด้วย “ไตรลักษณ์”)

ผลก็คือศาสนาพุทธได้ก้าวไปไกลในลักษณ์ของศาสนาแนว “สุญนิยม” เชิงอุดมการณ์ ซึ่งไม่ใช่ทั้งเทวนิยมหรือมนุษยนิยมในลักษณ์ใดๆ อีกต่อไป ส่วนการเข้าถึงปรัชญาแห่ง “สุญตา” ก็มิได้ถูกระบุว่ามีเป้าหมายที่นอกเหนือไปกว่านี้ โดยการกำหนดใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” (ใช้ “ตัวเอง” เพื่อเข้าถึง) เพื่ออธิบายสิ่งที่ไม่อาจมีใครอธิบาย (แทน) ได้ หรืออาจขยายความได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถพบเห็นได้ด้วยตนเอง (สันทิฎฐิกะ) และนี่คือลักษณะพิเศษหรือลักษณ์เฉพาะของพุทธศาสนาซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

O เหตุใดจึงกล่าวว่า หลักคำสอนของศาสนาพุทธเป็น “จิตนิยม” จงอธิบาย?

คำกล่าวที่ว่าศาสนาพุทธเป็น “จิตนิยม” สามารถอธิบายได้ แต่ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เสียก่อน

...สรรพสิ่งทั้งหลายสามารถแยกออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็น “ร่างกาย” หนึ่ง และส่วนที่เป็น “จิต” หนึ่ง แนวคิดแบบจิตนิยมจะสนับสนุนว่า “จิต” มิใช่ปรากฏการณ์ หรือผลจากการกระทำของวัตถุ (คนละกรณีกับที่ว่า “ความคิด” เป็น “ผล” จากการกระทำของ “สมอง” ซึ่งเป็นวัตถุ)

ในทัศนะของแนวคิดแบบ “จิตนิยม” เห็นว่า การที่ร่างกายดำรงอยู่ได้เป็นเพราะมี “จิต” ซึ่งเป็น “ตัวตน” ชนิดละเอียดประณีตอาศัยอยู่และทำหน้าที่กำกับ “กายหยาบ” ดังนั้นการแตกสลายของ “กายหยาบ” มิได้ทำให้ “จิต” ดับไปด้วย (เพราะเป็นคนละส่วนกัน) หากทว่า “จิต” นั้นยังคงอยู่ต่อไป และจิตนี้เองจะเป็นผู้ “ชดใช้กรรม” (อันล่วงมาแล้ว) ใน “กายใหม่” ด้วยการเสวยชาติภพไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้น “กรรม” (หมดเวรหมดกรรมเสียที) อันเป็นเหตุแห่งการเกิด (หรือเกิดแล้วเกิดอีก) ซึ่งพัฒนาเป็นแนวอธิบายเหตุและปัจจัยแห่งการเกาะเกี่ยวกันตามหลัก “ปฏิจสมุปบาท” (Depending Origination) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อิทปฺปจฺจยตา”

ปรัชญา “จิตนิยม” ในศาสนาพุทธปรากฏอย่างชัดแจ้งจากความเชื่อที่ระบุว่า สรรพสิ่งในโลกมีจิตเป็นผู้นำและผู้กำหนด ดังปรากฏในพระบาลีว่า “จิตเป็นผู้เริ่ม เป็นต้นเหตุ การกระทำทุกอย่างย่อมเป็นไปตามอำนาจของจิต” : จิตฺเตน นียติโลโก ด้วยเหตุนี้ศาสนาพุทธจึงเน้นที่การชำระจิต

สำหรับมนุษย์ในทัศนะของศาสนาพุทธ นอกจากต้องกำจัดบาป ทำแต่กรรมดีแล้ว จะต้องชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ่วด้วย : สพฺพปาปสฺส อกรณํ, กุสลสฺสู ปสมฺปทา, สฺจิตฺต ปริโยทปนํ การกล่อมเกลาฝึกจิตหรือที่เรียกว่า “ฝึกสมาธิ” (Meditation) เพื่อให้บรรลุความสุขทั้งความสุขชั่วคราวและความสุขถาวรจึงเป็นประเพณีปฏิบัติในพุทธศาสนา ดังเช่นที่กล่าวในพระบาลีว่า “จิตที่ฝึกมาดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้”: จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

อย่างไรก็ตาม “ความสุข” ในทัศนะของพุทธศาสนา มุ่งที่ความสงบระงับของจิตที่มักฟุ้งซ่านคล้ายอาการ “จิตกำเริบ” เป็นประการสำคัญ “ความสุข” ดังกล่าวนี้มุ่งหมายไปยัง “ความสงบทางใจ” นั่นแน่แท้ เพราะในชีวิตจริงจิตที่ยุ่งเหยิงคือจิตที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับ “วัตถุธรรม” อันเป็นที่พิศวาสของบรรดา “มนุสโส” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “มนุสโส" ประเภทมหาเศรษฐีหมื่นล้านหรือ “มนุสโส” ประเภทที่อยาก “ถีบส่ง” ความจนไปให้พ้นๆ ตัวเร็วๆ!

ที่ว่าดังกล่าวนี้เพียงต้องการบอกว่า ลำพังการฝึกสมาธิอย่างเดียวจะยังไม่พบ “ความสุข” ที่แท้จนกว่าจะได้ “เข้าใจ เข้าถึง และละวาง” ซึ่ง “วัตถุ” หรือ “อาสวกิเลส” ทั้งหลายอันเป็นประหนึ่ง “กองอาจม” แม้ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานและอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งพุทธศาสนาเชื่ออย่างมั่นคงว่า บุคคลจะพบกับความสุขที่จีรังยั่งยืนนี้ได้ แต่ทัศนะจากศาสนาอื่นๆ อาจ “มองต่างมุม” ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตไปวันๆ ด้วยการหมกมุ่นเอาแต่สะสมหรือเพิ่มพูน “สมบัติทางวัตถุ” พุทธศาสนาในประเด็นนี้ก็คล้ายๆ กับศาสนาทั้งหลายนั่นแหละ ที่มองสมบัติทางโลกหรือ “สมบัติทางวัตถุ” เหมือนดัง “สมบัติบ้า” เพราะถึงอย่างไรตายไปก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ตรงกันข้ามสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงคือ “สมบัติทางธรรม” เพราะใช้เท่าไหร่ก็ใช้ไม่หมด ไม่ว่าบนโลกนี้หรือโลกหน้า

ยิ่งกว่านั้น “สมบัติทางธรรม” สามารถให้ความสุขทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เป็นความสุขโดยถ้วนหน้า ไม่จำกัดอยู่แต่กับคนในแวดวงของตัวเอง ญาติพี่น้อง และพวกพ้อง หากแต่สามารถเผื่อแผ่ไปได้อย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่ด้วยเชื้อชาติ สีผิว ภาษาหรือศาสนา...กระทั่งเกิดการขัดข้องขึ้นมา

O เมื่อศาสนาพุทธไม่เชื่อในพระเจ้าและไม่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่ง ศาสนาพุทธเชื่อว่าคนเราและสรรพสิ่งเกิดได้อย่างไร?

ศาสนาพุทธอธิบายหลัก “ปฏิจสมุปบาท” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่แสดงให้เห็นเหตุปัจจัยแห่งการเกิดของสรรพสิ่ง (รวมทั้งมนุษย์) ซึ่งมีลักษณะเป็นเหตุปัจจัยเกาะเกี่ยวอาศัยซึ่งกันและกันไปเรื่อยๆ ความเกี่ยวข้องในลักษณะแห่งเหตุปัจจัยหรือการเป็นเหตุเป็นผลกันเป็นลูกโซ่ดังกล่าว คือเหตุปัจจัยที่ทำให้อีกสิ่งอื่นเกิดขึ้น และเกี่ยวร้อยกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงภพปัจจุบัน

ศาสนาพุทธอธิบายอย่างละเอียดว่า จิตเดิมแท้มีลักษณะเป็นประภัสสร คือเป็นจิตที่สว่างไสว (Enlightenment) มีลักษณะ “วิชชา” แต่แล้วก็กลายเป็นจิต “อวิชชา” ซึ่งทำให้สามารถก่อกรรม หรือสร้าง “กรรม” ขึ้นมา และจาก “กรรม” ดังกล่าวทำให้สรรพสิ่ง (รวมทั้งมนุษย์) “เกิด” ขึ้นบนโลกนี้ (แต่ไม่ได้อธิบายว่ากรรมภพแรกเกิดเพราะเหตุใด) แต่มีการอธิบายเหตุผลของการ “เกิด” ของมนุษย์และทุกสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ด้วยการใช้หลักเหตุผลแบบ “ปฏิจสมุปบาท” ดังนี้

          เพราะมี อวิชชา เป็นปัจจัยจึงมี สังขาร (ร่างกาย)

          เพราะมี สังขาร เป็นปัจจัยจึงมี วิญญาณ (ความจำได้หมายรู้)

          เพราะมี วิญญาณ เป็นปัจจัยจึงมี นามรูป

          เพราะมี นามรูป เป็นปัจจัยจึงมี อายตนะ

          เพราะมี อายตนะ เป็นปัจจัยจึงมี ผัสสะ (ความรู้สึก)

          เพราะมี ผัสสะ เป็นปัจจัยจึงมี เวทนา

          เพราะมี เวทนา เป็นปัจจัยจึงมี ตัณหา

          เพราะมี ตัณหา เป็นปัจจัยจึงมี อุปาทาน (การยึดมั่นถือมั่น)

          เพราะมี อุปาทาน เป็นปัจจัยจึงมี ภพ (ชาติต่างๆ)

          เพราะมี ภพ เป็นปัจจัยจึงมี ชาติ (การเกิด)

          เพราะมี ชาติ เป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ และปรเทวะ เป็นต้น

O ท่านมีองค์ความรู้เกี่ยวกับนิกายเซนอย่างไรบ้าง?

นิกายเซนเป็นนิกายในพระพุทธศาสนาซึ่งมีผู้นับถือจำนวนไม่น้อยอยู่ในญี่ปุ่น อันที่จริงนิกายนี้แพร่หลายในจีนมาก่อน คำว่า “เซน” มาจากคำว่า “เซนา” หรือ “ฉาน” ในภาษาจีน หรือ “ฌาน” ในภาษาบาลี (ตรงกับ ธยาน ในภาษาสันสกฤต) ในภาษาบาลีคำว่า “ฌาน” หมายถึง การทำใจให้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการทำสมาธิจิตนั่นเอง

ในญี่ปุ่น นิกายเซนมี 3 กลุ่มได้แก่ นิกายรินไซ (Rinzai) ตั้งโดยพระญี่ปุ่นชื่อ อิไซ (Eisai: พ.ศ.1684–พ.ศ.1758) นิกายโซโต (Soto) ตั้งโดยพระญี่ปุ่นชื่อ โดเย็น (Dogen: พ.ศ.1743–พ.ศ.1796) และนิกายโอบากุ (Obaku) ตั้งโดยพระจีนอิเย็น (Igen)

สาระสำคัญของนิกายเซน คือ “จงพิจารณาที่จิตของตน แล้วท่านจะพบพุทธภาวะ”, “คำสอนอื่นใด ยกเว้นประเพณีนิยมไม่มีในตำราจงมุ่งตรงไปที่จิต” ดังนั้นนิกายเซนจึงมุ่งเน้นที่การทำ “สมาธิ” (Meditation) มีการฝึกสมาธิอย่างจริงจัง และคำสอนเข้าใกล้กวีนิพนธ์อย่างมาก ดังที่ปรากฏในคำสอน และปริศนาธรรมจำนวนมาก อาทิ

          1. “รูปกาย คือ ต้นโพธิ์

              จิต คือ กระจกใสสะอาด

              จงขัดถูบ่อยๆ อย่าให้ฝุ่นจับเกาะได้”

          2. “ต้นโพธิ์ไม่มี

              กระจกไม่มี

              ไม่มีสิ่งใดปรากฏ

              เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝุ่นจะจับที่ไหน”

          3. “จงนั่งนิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร

              ฤดูใบไม้ผลิมาถึง

               ติณชาติทั้งหลาย ย่อมงอกงามด้วยตัวของมันเอง”

          4. “ต้นสนเฒ่าแสดงธรรมเรื่องปัญญา

              นกป่ากำลังเล่นหยอกอยู่กับสัจธรรม”

          5. “เมื่อข้ามสะพานไป

              สายน้ำมิได้ไหล

              แต่สะพานไหลริน”

          6. “ผู้มีชีวิต คือ ผู้นั่ง แต่ไม่นอน

              คนตาย คือ ผู้นอน แต่ไม่นั่ง

              สุดท้าย คือ กองกระดูก”

                        ฯลฯ

นักรบญี่ปุ่นประทับใจกับกวีนิพนธ์สั้นๆ แนวปรัชญาอันลึกล้ำนี้เป็นอันมาก เนื่องจากสอดคล้องกับสิ่งที่นักรบยึดมั่นและเชื่อนั่นคือ นักรบจำต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง มั่นคง ไม่หวั่นไหว ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ก็โดยการฝึกฝนสมาธิจิตอย่างแข็งขันนั่นเอง

นิกายเซนแพร่หลายอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นเนื่องจากได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโชกุน มีผู้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นกล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี จิตรกรรม ศิลปะการจัดดอกไม้ พิธีชงชา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากพุทธศาสนานิกายเซนทั้งสิ้น

ที่เสนอมาทั้งหมดนี้ หวังว่าชาวพุทธและชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเกิดองค์ความรู้ในศาสนาของกันและกันไม่มากก็น้อย อันจะทำให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันดียิ่งขึ้น

------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น