วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

รู้จัก ยือลาแป ถนนสาย Killing Zone

เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มรถของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 2 วันซ้อนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นที่ต้องวิเคราะห์และหาคำตอบ 2 ประเด็นด้วยกัน

เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเป้าหมายเดียวกัน คือ กำลังพลของ ตชด. สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44

ทั้ง 2 เหตุการณ์ต้องบอกว่าสุดอุกอาจ ก่อเหตุกลางวันแสกๆ ใช้อาวุธสงครามแบบไม่กลัวเปลืองกระสุน

เหตุแรกเกิดขึ้นหน้าร้านขายของชำใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา วันพุธที่ 10 ม.ค.2567 มีกำลังพลบาดเจ็บสาหัส 2 าย

เหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นบนถนนสายเขายือลาแป ท้องที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส วันพฤหัสบดีที่ 11 ม.ค.2567 มี “ร้อยตำรวจโท” เสียชีวิต 1 นาย

2 ประเด็นที่ต้องหาคำตอบคือ ตชด.44 เป็นเป้าที่ถูกล็อกโดยกลุ่มก่อความไม่สงบในช่วงนี้หรือไม่ และจุดเกิดเหตุบนเขายือลาแป คือเส้นทาง Killing Zone สายหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สมควรสรุปบทเรียนเพื่อป้องกันเหตุร้ายซ้ำซากที่อาจเกิดขึ้นอีก

เริ่มจากเส้นทาง “เขายือลาแป” คือทางหลวงหมายเลข 4066 ตัดผ่านเทือกเขายือลาแป เป็นทางเชื่อมลัดระหว่าง จ.ยะลา กับ จ.นราธิวาส จากพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ไปยัง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และข้ามภูเขายือลาแป ลงไปอีกฝั่งที่ อ.ยี่งอ เขตนราธิวาส

ประวัติการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4066 เริ่มต้นที่บ้านตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา ไปสิ้นสุดที่บ้านปาลาปาต๊ะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส

ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร เป็นถนนที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รอคอย และใช้เวลาก่อสร้างยาวนานกว่า 8 ปีจึงจะแล้วเสร็จ

โครงการก่อสร้างถนนสายนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 เดิมกำหนดเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ 30 ก.ย.2547 แต่เนื่องจากประสบปัญหาจากความไม่สงบในพื้นที่ จนต้องมีการขยายอายุสัญญาถึง 5 ครั้ง

รวมถึงปัญหาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 มิ.ย.2545 - 3 มิ.ย.2550 ได้หมดอายุการบังคับใช้ ส่งผลให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ปัญหาผู้รับจ้างขอยกเลิกสัญญาก่อสร้างต่อกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2552

กระทั่งในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการมอบหมายให้กรมทหารช่าง เข้าไปรับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2553 ครบกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 มี.ค.2554

ด้วยสภาพถนนบริเวณช่วงทางขึ้นลงเขายือลาแป มีความโค้งและลาดชันมาก นับเป็นยุทธภูมิของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ใช้เป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีจากข้างทาง อีกทั้งยังเป็นถนนสายที่เจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ นิยมใช้เส้นทางนี้ในการเดินทาง เนื่องจากเป็นทางลัด และย่นเวลาข้ามจังหวัด จากยะลาไปนราธิวาส จึงทำให้ที่ผ่านมา มีเหตุซุ่มโจมตีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถือเป็น Killing Zone แห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ย้อนรอย 3 กรณี ซุ่มโจมตีขนาดใหญ่ “ยุทธภูมิยือลาแป”ย้อนเหตุซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นบนทางหลวงหมายเลข 4066 ทั้งขาขึ้นและขาล่องลงเขายือลาแป ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ไม่รวมครั้งล่าสุด) มีดังนี้

- วันที่ 31 ส.ค.2563 คนร้ายไม่ต่ำกว่า 10 คน ก่อเหตุซุ่มยิงรถกระบะหุ้มเกราะของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (บก.ภ.จว.นราธิวาส) ซึ่งมี พ.ต.อ.ธวัชชัย ดุกสุกแก้ว รอง ผบก.ภ.จว.นราธิวาส พร้อมตำรวจ 4 นายเดินทางผ่านถนนสายเขายือลาแป บริเวณบ้านยือลาแป หมู่ 3 ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

แต่โชคดีที่รถหุ้มเกราะและพลขับได้ขับรถหลบหนีออกจากจุดเกิดเหตุไปขอความช่วยเหลือที่ฐานทหารนาวิกโยธินในพื้นที่ อ.ยี่งอ ได้ทัน ทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่รถยนต์มีร่องรอยโดนยิงด้วยกระสุนปืน ได้รับความเสียหายหลายจุด

- วันที่ 29 ก.ย.2564 คนร้ายซุ่มยิงรถกระบะของ ตชด.44 ขณะลงเขายือลาแป ท้องที่ หมู่ 1 บ้านตายา ต.สุวารี อ.รือเสาะ ทำให้เจ้าหน้าที่ ตชด.ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 นาย

เหตุการณ์นี้ถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะเจ้าหน้าที่ ตชด.44 ชุดที่ถูกโจมตี เพิ่งถอนกำลังกลับจากปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในยุทธการ “ฮูแตยือลอ” บ้านฮูแตยือลอ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีการปิดล้อมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่หลบหนีจากหมู่บ้าน เข้าไปซ่อนตัวในป่าเสม็ด และสุดท้ายปฏิบัติการนี้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีัความมั่นคงถึง 5 ราย เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 2 นาย

- วันที่ 16 พ.ย.2564 คนร้ายซุ่มยิงรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เหตุเกิดในท้องที่หมู่ 3 ต.สุวารี อ.รือเสาะ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดได้รับบาดเจ็บ

หลังก่อเหตุคนร้ายได้หลบหนีไปเจอเจ้าหน้าที่ทหารพรานชุดลาดตระเวนเดินเท้า และเกิดการยิงปะทะกัน เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายได้ 1 ราย พร้อมยึดอาวุธปืนสงครามที่ใช้ก่อเหตุได้ 4 กระบอก (อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก, อาวุธปืน AK 47 จำนวน 1 กระบอก, อาวุธปืน AK 102 จำนวน 1 กระบอก)

       อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องค้นหาคำตอบ ก็คือข้อสังเกตที่ว่า ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ถูกโจมตี 2 ครั้งติดๆ กัน ห่างกันเพียงข้ามวัน มีกำลังพลเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 2 นาย เป็นเรื่องบังเอิญ หรือถูกล็อกเป้k

สอบถามอดีต ตชด.ในพื้นที่ มองว่า น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ไม่ใช่ความจงใจของคนร้าย หรือ ตชด.44 ตกเป็นเป้าในช่วงนี้

สาเหตุส่วนหนึ่งที่กำลังพลของ ตชด.อาจถูกลอบทำร้ายบ่อยครั้ง เป็นเพราะ ตชด.44 รับผิดชอบพื้นที่ทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยแบ่งออกเป็น 7 กองร้อย ประกอบด้วย

กองร้อยที่ 1 และกองร้อยที่ 2 อยู่ในกองกำกับการ ตชด.44 บ้านบุดี อำเภอเมือง จ.ยะลา

กองร้อยที่ 3 อยู่ที่บ้านมลายูบางกอก อำเภอเมือง จ.ยะลา

กองร้อยที่ 4 อยู่ที่บ้านโต๊ะตีเต อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

กองร้อยที่ 5 อยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา

กองร้อยที่ 6 อยู่ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส

และกองร้อยที่ 7 อยู่ที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

ร้อยตำรวจโทที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ซุ่มยิงบนเขายือลาแปล่าสุด ปัจจุบันเป็นหัวหน้าชุด ในฐานที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ฐานนี้เป็นกองร้อยสุไหงปาดีรับผิดชอบ ชุดหนึ่งไปอยู่ที่สุไหงโก-ลก อีกชุดหนึ่งไปอยู่ตากใบ ก่อนเกิดเหตุหัวหน้าชุดแต่ละชุดไปประชุมที่ยะลา แล้วก็กลับ และเย็นจะมีประชุมชุดของครู ตชด. แต่มาเกิดเหตุเสียก่อน” อดีต ตชด.ในพื้นที่ให้ข้อมูล

และว่า “สำหรับชุดที่ถูกยิงถล่มที่บันนังสตา ชุดหน่วยเฉพาะกิจ รับผิดชอบอยู่พื้นที่บันนังสตา ชุดนั้นจะอยู่ที่บ้านศรีท่าน้ำ ทั้งสองเหตุเชื่อว่ากลุ่มขบวนการเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นการบังเอิญมากกว่าที่จะจงใจกระทำเฉพาะ ตชด. เพราะช่วงนี้ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร เหตุยิงถล่มที่บันนังสตา กลุ่มขบวนการน่าจะเฝ้าจับตามาอย่างต่อเนื่อง”

       ชาวบ้านมองสวนทาง มั่นใจล็อกเป้า เตือนอาจไม่ใช่ขบวนการ แต่ประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะผู้ประสบเหตุยิงถล่มรถกระบะของ ตชด.ที่หน้าร้านขายของชำ อ.บันนังสตา กลับมองสวนทางกับอดีต ตชด.

เรารู้สึกแปลกๆ คนร้ายมากัน 4 คน กลางวันแสกๆ บุกเข้ามาพร้อมอาวุธครบมือแบบนั้น เหมือน ไม่น่าใช่ขบวนการ (หมายถึงไม่ใช่กลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) เพราะบันนังสตามีหลายกลุ่ม พวกค้ายาก็เยอะ อยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ดี มองหลายๆ มุม อย่างเพิ่งด่วนสรุป คู่ต่อสู้ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีกลุ่มเดียว ที่นี่มีอะไรมากกว่าที่ทุกคนเห็น”

ชาวบ้านในพื้นที่อีกราย มองไม่ต่างกันว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ถ้าบังเอิญจริง คนร้ายคงไม่มาพร้อมอาวุธครบมือแบบนั้นแน่นอน เหมือนคนร้ายรู้จักว่าใครเป็นใคร มากันกี่คน จะเห็นจากการยิงในคลิปที่มีการเผยแพร่ในโซเซียลฯ คนร้ายทั้ง 4 คนถล่มเจาะจงอย่างมั่นใจต่อเป้าหมาย ทั้งทีข้างๆ แถวนั้นก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งปะปนอยู่ คนร้ายที่มาแบบไม่ได้เตรียมพร้อม คงมีลังเลกันบ้าง อย่างน้อยต้องมีสักคนระวังซ้ายระวังขวา แต่ภาพที่เห็นคนร้ายทั้ง 4 มุ่งเป้าเดียวกัน”

คำกล่าวที่ว่า..สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น...ยังคงใช้ได้เสมอกับแทบทุกเหตุการณ์!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น