วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567

เล็งจัดอีเวนท์ใหญ่ “นกกรงหัวจุก” ปลุกเศรษฐกิจชายแดนใต้

เมื่อวันจันทร์ ที่ 22 ม.ค.67 ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่ประชุมติดตามและตรวจราชการการขับเคลื่อนงานในประเด็นการพัฒนาด่านการค้าชายแดน และนโยบาย Twin Cities ตามมติ กพต. ในพื้นที่ จ.สตูล

โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ตลอดจนผู้แทนส่วนราชการที่้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมติ ครม. ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยว 4-5 แสนคน และจำนวนการขนส่งสินค้าที่มีไม่มาก เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ป่า ภูเขาสูง และถนนหนทางยังไม่ค่อยสะดวก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องหาแนวทางแก้ไข เชื่อมั่นว่าการพัฒนาและยกระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาด่านการค้าชายแดนที่ถือเป็นเรื่องหลัก ซึ่งด่านวังประจันถือเป็นพื้นที่สงบ มีการท่องเที่ยว มีการนำเข้าและส่งออกสินค้า หากอนาคตมีการพัฒนาและยกระดับให้มีการเข้าออกที่สะดว กจะเป็นอีกหนึ่งด่านหลักที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น” รองนายกฯ กล่าว

นาสยสมศักดิ์ฯ บอกด้วยว่า ได้สั่งการให้ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในพื้นที่ เร่งรัดผลักดันการยกระดับการพัฒนาเมืองคู่แฝด (Twin Cities) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และมติ กพต. อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และรายงาน กพต. ทราบเป็นระยะ พร้อมจัดทำข้อมูลกรอบแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ด่านศุลกากร และให้นำเสนอต่อที่ประชุม กพต.ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 7 ก.พ.67 นี้ พร้อมกับการนำเสนอแนวทางการผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

เล็งจัดอีเวนท์ใหญ่ “นกกรงหัวจุก” ปลุกเศรษฐกิจชายแดน วันเดียวกันนี้ นายพุฒิธร วรรณกิจ นายกสมาคมอนุรักษ์เพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยชมรมและผู้เพาะพันธุ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางเข้าขอบคุณนายสมศักดิ์ ที่ให้การสนับสนุนการจัดตั้งชมรมและผู้เพาะพันธุ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น ตามนโยบายที่ต้องการจะส่งเสริมให้มีการแข่งขันกีฬานกเพื่อสร้างมูลค่า

นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า ยินดีที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้นกกรงหัวจุกเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากนกกรงหัวจุกเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม การผลักดันให้นกกรงหัวจุกเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักวัฒนธรรมของไทยมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย

ด้าน นายพุฒิธรฯ กล่าวว่า ขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับนกกรงหัวจุก และมอบหมายให้ ศอ.บต. ศึกษาและจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนานกกรงหัวจุกให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์

หากมีการปลดล็อกนกกรงหัวจุกให้พ้นจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เฉพาะนกกรงหัวจุกที่มีการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยง จำเป็นต้องเดินหน้าจัดอีเวนท์ใหญ่ เพื่อเชิญคนเล่นนกในต่างประเทศเข้าร่วม กระจายรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน” นายกสมาคมอนุรักษ์เพาะพันธ์นกกรงหัวจุกฯ กล่าว

บพท.ร่วม 3 มหาวิทยาลัย วางแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาส มีการประชุมแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ดร.ซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย ร่วมพูดคุยหาแนวทางร่วมกับคณาจารย์จาก 3 มหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยมี ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ผศ.ดร.เการี ลัดเลีย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

สำหรับการประชุมแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างกลไกภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการภัยพิบัติของสถาบันอุดมศึกษาชายแดนใต้ พร้อมทั้งประเมินผลกระทบจากอุทกภัยต่อการบริหารจัดการเส้นทางน้ำในอนาคต

ในเบื้องต้น บพท.ได้สนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาทในการดำเนินการทางการบริหารจัดการภัยพิบัติฯ โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมกัน จะมีการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเตรียมดำเนินการป้องกันภัยพิบัติในระยะยาวต่อไป

นายนัจมุดดีนฯ กล่าวว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นล่าสุดถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของพื้นที่นราธิวาส ผลกระทบเกิดขึ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงธรรมชาติที่เสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะน้ำตกซีโปที่เสียหายอย่างหนัก ทิศทางน้ำเปลี่ยนไป ป่าไม้ตามแนวเชิงเขาเสียหายทั้งหมด จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและวางแผนรับมือภัยพิบัติใหม่ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น