วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2567

ครูเวรกลางไฟใต้ ต้องใช้กำลังประจำถิ่นเป็นเกราะกำบัง

จาก ครม.ไฟเขียวให้ยกเลิก “เรื่องครูเวร” น่าจะได้รับ “เสียงเฮ” จากครูทั่วประเทศไทย แต่จากการสำรวจ พบว่าบางพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีระบบ “ครูเวร” หรือ “ครูที่ต้องเข้าเวรที่โรงเรียน” เหมือนพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างไกล และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย หรือ “พื้นที่สีแดง

เหตุนี้เองหากเป็นโรงเรียนในชนบท พื้นที่เสี่ยงอันตราย ก็จะมี อรบ.,ชรบ.,อส. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดูแลแทน แต่หากเป็นโรงเรียนใหญ่ๆ ในเขตเมือง ก็จะยังมี “ครูเข้าเวร” ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับพื้นที่เขตเมือง เช่น โรงเรียนปะกาฮารัง อำเภอเมือง จ.ปัตตานี มีการใช้ชาวบ้านในชุมชนช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยด้วย ครูยาเบ็น เรืองจรูญศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง ยืนยันว่า การอยู่เวรที่โรงเรียน สำหรับครูทุกคนเป็นระเบียบที่ทางราชการกำหนดมานานแล้ว ถือเป็นหน้าที่ และไม่มีเบี้ยเลี้ยงตอบแทน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับโรงเรียน แต่ความปลอดภัยของครูที่อยู่เวรก็สำคัญเช่นกัน จึงต้องใช้ “ชุมชนเข้มแข็ง” มาช่วยเสริม

“ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งและเป็นหูเป็นตา แม้ครูเวรจะเป็นผู้ชายก็ตาม ก็จะไม่ปลอดภัย เพราะคนร้ายมาพร้อมอาวุธ ขณะที่ครูไม่ได้มีอาวุธอะไรเลย ฉะนั้นความปลอดภัยต้องอาศัยชุมชนมีส่วนร่วม เปรียบสมือนเป็น รปภ.ให้กับโรงเรียน”

ซึ่งสถิติไฟใต้...เผาโรงเรียน-ทำร้ายครูในพื้นที่ แยกเป็น

- เหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน เกิดขึ้นมากกว่า 325 แห่ง ตลอด 20 ปีไฟใต้

- จำนวนโรงเรียนที่ถูกเผา มากกว่า 1 ใน 3 เป็นโรงเรียนของรัฐ

- ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนสายสามัญในระดับประถมศึกษา ทั้งสิ้น 876 แห่ง ระดับชั้นมัธยมศึกษาอีก 56 แห่ง รวมเป็น 932 แห่ง (โรงเรียนโดนเผาราว 1 ใน 3)

- ครู เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ 109 ราย บาดเจ็บ 130 ราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น