วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567

แม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยัน ออกหมายเรียกนักกิจกรรม จชต. ชุมนุมชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรี เมื่อปี 65

พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาค 4 กล่าวถึง การแจ้งดำเนินคดีทางกฎหมายกับนักกิจกรรม จชต.จำนวนทั้งหมด 9 คน กรณีการชุมนุมที่ชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรี ปัตตานี เมื่อปี 2565 ว่า ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการแต่งกายในชุดมลายู ตามที่มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจผิดในโลกออนไลน์

แต่มีสาเหตุจากผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนจัดกิจกรรม ที่เข้าข่ายแฝงกระทำที่ผิดกฎหมาย พร้อมยืนยันการแต่งกายชุดมลายูถือเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ที่มีความงดงามซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมและให้การสนับสนุนตลอดมา

พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.รมน.ภาค4 กล่าวถึงการสื่อสารในโลกออนไลน์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านที่ระบุว่า มีการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่แต่งกายในชุดมาลายูได้สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม พร้อมกล่าวถึงกรณีการชุมนุมที่ อ.สายบุรี จว.ปัตตานี ในเดือน พ.ค. 2565  โดยผู้มาร่วมงานแต่งกายด้วยชุดมาลายูที่เป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่


ซึ่งในการชุมนุมครั้งนั้น จนท.ได้รายงานถึงกิจกรรมแอบแฝงระหว่างการชุมนุม และมีภาพผู้มาร่วมชุมนุมบางส่วนนำธง BRN มาร่วมในกิจกรรม

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ถ้อยคำบนเวทีในลักษณะของการปลุกระดมกับกลุ่มเยาวชนที่มาร่วมงาน  จนท.ความมั่นคงที่ติดตามการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รวบรวมหลักฐานที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมาย

"การออกหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการแต่งกายชุดมลายู อย่างที่พยายามสื่อสารให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ชุดมลายูถือเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ที่มีความงดงามซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมและให้การสนับสนุน ทางกองทัพภาคสี่ก็ให้การสนับสนุนมาตลอด การจัดชุมนุมจัดกิจกรรมจัดเวทีพูดคุยเป็นเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่มีลักษณะที่ผิดกฎหมาย หรือปล่อยให้บุคคลที่สามมาทำกิจกรรมแอบแฝงกระทบความมั่นคงอย่างที่เกิดขึ้น" พล.ท.ศานติกล่าวในตอนหนึ่ง

ขณะที่ ช่วงสายของวันที่ 9 ม.ค.2557 สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี นักกิจกรรม จชต.จำนวน 9 ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา กรณีการจัดกิจกรรมที่ชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรีฯ ในงานฉลองวันฮารีรายอ เดือน พฤษภาคม ปี 2565 มีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา ม.116, ม.209 และ ม.210 ว่าด้วยการปลุกปั่นยุงยงให้เกิดความไม่สงบ อั้งยี่และซ่องโจร จากหลักฐานที่ปรากฎระหว่างการชุมนุม มีการนำธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN มาร่วมในกิจกรรม

รวมถึงการกล่าวบนเวทีและการร้องเพลงปลุกระดมที่มีเนื้อหาให้ต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี เป็นหลักฐานที่ทางจนท.ตำรวจใช้ประกอบในการดำเนินคดีอาญาเอาผิด และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือข่ายกลุ่มสิทธิมนุษยชนฯใน จชต.ทำจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้ UN กดดันรัฐบาลไทยให้ยุติการฟ้องการดำเนินคดีในลักษณะใช้กฎหมายปิดปาก ในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น