วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567

20 ปีไฟใต้...รู้หรือยังคู่ขัดแย้งคือใคร เป้าหมายสุดท้ายคือรัฐเอกราช?

วาระ 20 ปีไฟใต้ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน มีหลากหลายทัศนะจากผู้รู้และผู้ติดตามปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ณ ปลายด้ามขวาน

หนึ่งในนักวิชาการที่ “รู้ลึก” และ “รู้จริง” ซึ่งทุกฝ่ายให้การยอมรับ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงเอง ก็คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวาระ 20 ปีปล้นปืน อาจารย์สุรชาติ เขียนบทความที่ตั้งคำถามถึงทุกฝ่ายในบริบทของปัญหาไฟใต้อย่างแหลมคม

โดยเฉพาะคำถามถึงฝ่ายรัฐ...ผ่านมา 20 ปีแล้วรู้หรือยังว่า “คู่ขัดแย้ง” คือใครกันแน่ และเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขาคืออะไร ใช่ “รัฐเอกราชใหม่” จริงหรือไม่

พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนะ “หลักการที่ละเมิดไม่ได้” ของ “สงครามการก่อความไม่สงบ” ซึ่งมีลักษณะเป็น “สงครามชิงมวลชน” ระหว่างรัฐไทยกับองค์กรติดอาวุธในพื้นที่

ขณะเดียวกันก็ชี้ถึง “ทางออกของปัญหา” ซึ่งหนีไม่พ้นการพูดคุยเจรจา เพราะเป็น “สงครามการเมือง” แต่ก็ดักคอเอาไว้ล่วงหน้าว่าต้องไม่มีใครทำให้สนามรบกลายเป็น “ทุ่งเศรษฐี” และการเจรจาเป็น “เหมืองทอง” ของใครบางคน ทั้งหมดอัดแน่นอยู่ในบทความคุณภาพ...ชิ้นนี้!

แนวรบภาคใต้ : ยังล่อแหลมและท้าทาย! สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ก่อตัวมาจากเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส ในค่ำคืนของวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น ดำเนินมาเป็นระยะเวลาครบรอบ 20 ปีเต็มอย่างไม่น่าเชื่อ และเป็น 20 ปีของสถานการณ์ “สงครามการก่อความไม่สงบ” ชุดใหม่ที่สังคมไทยต้องเผชิญในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอมุมมองที่เป็นภาพมหภาคบางประการของ “สงครามภายใน” ของรัฐไทย

เราอาจต้องตระหนักในภาพมหภาคว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ของเวลาและสถานการณ์ความรุนแรงในเวทีโลก เพราะเป็นความรุนแรงใน “กระแสโลกมุสลิม” ซึ่งมาหลังจากเหตุการณ์การโจมตีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 และตามมาด้วยความรุนแรงที่เกิดกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในไทย

การก่อเหตุนับจากการปล้นปืนที่เกิดขึ้นเป็นบทบาทของ “ตัวแสดงภายในที่ไม่ใช่รัฐ” และตัวแสดงนี้มีกองกำลังติดอาวุธในความควบคุม อันทำให้้เกิดสภาวะ “สงครามของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” ซึ่งรัฐและหน่วยงานความมั่นคงต้องทำความเข้าใจกับ “คุณลักษณะของสงคราม” เช่นนี้ เพราะไม่ใช่สงครามตามแบบที่ผู้นำทหารไทยคุ้นเคย แม้รัฐไทยจะมีประสบการณ์จากสงครามคอมมิวนิสต์มาแล้วก็ตาม

การต่อสู้ใน “สงครามของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า “ธรรมชาติของสงคราม” ชุดนี้เป็น “สงครามการเมือง” ในตัวเอง ที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างจาก “สงครามการทหาร” ที่ชัยชนะไม่ถูกตัดสินด้วยอำนาจที่เหนือกว่าทางทหารทั้งหมด และในอีกมุมหนึ่ง สงครามภาคใต้เป็น “สงครามอสมมาตร

ความเป็น “สงครามอสมมาตร” ในรอบ 20 ปีจึงทำให้เกิดการก่อเหตุร้ายมากกว่า 1 หมื่นครั้ง มีความสูญเสียของชีวิตมากกว่า 6 พันคน และทั้งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่ปีที่ 21 งบในการแก้ปัญหาภาคใต้ทะลุเกินกว่า 5 แสนล้าน

การเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างรัฐกับรัฐเป็นทางเลือกที่สำคัญในการยุติปัญหาข้อพิพาท และอาจจะมีความง่ายมากกว่าในการดำเนินการแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” เพราะต่างมีสถานะที่เท่าเทียมกันของความเป็นรัฐ และต่างฝ่ายอาจดำเนินการในแบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (เว้นแต่เป็นปัญหาในแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเล็กกับรัฐมหาอำนาจใหญ่ เช่น กรณียูเครน-รัสเซีย)

การแก้ปัญหากับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐจึงอาจมีความยุ่งยากมากกว่า หรืออาจ “คุยยากกว่า” เพราะไม่ชัดเจนว่า จะคุยกับใคร เป็นต้น ดังนั้น การสร้างขีดความสามารถของผู้แทนฝ่ายรัฐในการเจรจาจึงเป็นหัวข้อสำคัญ และต้องไม่นำเอาเวทีการเจรจาไปใช้เพื่อการ “พีอาร์” ตัวเองดังเช่นเว็ปของผู้แทนไทยในปัจจุบัน

เมื่อคู่ขัดแย้งไม่มีสถานะเป็นรัฐ แต่กลับมีอำนาจในทางทหาร จึงทำให้การเจรจาต่อรองในทางการเมืองถูกขับเคลื่อนผ่านปฏิบัติการทางทหารเป็นด้านหลัก ดังนั้น การควบคุมความรุนแรงจึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะความรุนแรงนี้ในด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐได้โดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาทางการเมืองของการ “สร้างภาพลักษณ์” และการแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองและทางเศรษฐกิจจากภายนอก

รัฐไทยตอบคำถามในรอบ 20 ปีได้หรือไม่ว่าคู่ขัดแย้งครั้งนี้คือใคร จะเป็นตัวแสดงที่ชื่อว่า BRN หรือจะเป็นองค์กรใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนด “เป้าหมายและทิศทาง” การต่อสู้ เพราะการก่อเหตุในภาคใต้ไม่เคยมีองค์กรที่ประกาศความรับผิดชอบเช่นที่เกิดในเวทีโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในทางความมั่นคงว่า ทำไมกลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุในภาคใต้ไม่กล้าประกาศความรับผิดชอบ?

สังคมต้องทำความเข้าใจและตระหนักว่า การเจรจาเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงครั้งนี้ อาจไม่จบลงได้เร็ว หรือได้ผลตอบแทนเร็วอย่างที่หวัง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีระยะเวลานาน และมีส่วนที่พอกพูนขึ้นมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีนัยของปัญหาที่ผูกโยงกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา เศรษฐกิจ และการเมืองทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มและ/หรือกลุ่มบางกลุ่มจากสถานการณ์ในพื้นที่

สำหรับรัฐไทยแล้ว การวิเคราะห์ข้อเรียกร้องและความต้องการทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ถูกต้อง เป็นประเด็นสำคัญ ถ้าเช่นนั้นแล้วในรอบ 20 ปี รัฐตอบได้หรือไม่ว่า ฝ่ายตรงข้ามที่ก่อเหตุต้องการอะไรที่เป็นจุดสุดท้ายของความต้องการทางยุทธศาสตร์ หรือกล่าวให้ชัดคือ BRN ต้องการอะไรของ “บันไดขั้นสุดท้าย

เพราะการตั้ง “รัฐเอกราชใหม่” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

คำถามสำคัญในทางรัฐศาสตร์คือ ประเทศใดจะ “ออกหน้า” ประกาศรับรองรัฐเอกราชเช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่า รัฐไทยควรจะ “งอมืองอเท้า” โดยไม่คิดทำอะไร “เชิงรุก” ในเงื่อนไขเช่นนี้

ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เป็น “สงครามการเมือง” การเจรจายุติสงครามการเมืองจะต้องยุติเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุของสงคราม ถ้าเช่นนั้น อะไรคือเงื่อนไขทางการเมืองที่รัฐไทยจะต้องแก้ไขเพื่อคลี่คลายความรุนแรงชุดนี้

และการแก้ไขปัญหาจะต้องไม่นำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบของข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องบางส่วน กล่าวคือ จะต้องไม่ทำให้สนามรบกลายเป็น “ทุ่งเศรษฐี” ของบางคน เช่นเดียวกับที่การเจรจายุติปัญหาก็จะต้องไม่ใช่ “เหมืองทอง” ของบางคน บางกลุ่มไม่แตกต่างกัน

ตัวแสดงติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ” จะหมดพลังขับเคลื่อนต่อเมื่อเงื่อนไขและบริบทของความรุนแรงชุดนี้ ไม่มีเสียงตอบรับทั้งจากภายนอกและภายใน ดังตัวอย่างจากกรณีการสิ้นสุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการสิ้นสุดของสงครามแบ่งแยกดินแดนของกลุ่ม MNLF ในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะถ้าการสนับสนุนจากภายนอกลดต่ำลงมากแล้ว จะมีนัยโดยตรงต่อความสามารถในปฏิบัติการของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเสมอ

ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไร การสนับสนุนจากเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ละเลยไม่ได้ ผู้นำไทยทั้งในระดับการเมืองและฝ่ายปฏิบัติต้องแสวงหาหนทางในการ “พูดคุย” กับฝ่ายมาเลเซีย เพราะปัญหานี้จะแก้ไม่ได้จริงโดยปราศจากความร่วมมือของมาเลเซีย

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาคมมุสลิมในเวทีระหว่างประเทศว่า รัฐไทยไม่มีนโยบายในการต่อต้านและ/หรือกดขี่ทางสังคมและศาสนา

สิ่งสำคัญที่ถือเป็น “หลักการที่ละเมิดไม่ได้” ในสงครามก่อความไม่สงบคือ ฝ่ายรัฐจะต้องไม่ทำความผิดพลาดซ้ำซาก จนทำให้มวลชนถอยออกจากรัฐ และในทางกลับกัน รัฐจะต้องทำทุกวิถีทางในการดึงเอามวลชนกลับมาอยู่ฝ่ายรัฐ เพราะทั้งหมดนี้คือ ปัญหา “สงครามชิงมวลชน” ระหว่างรัฐไทยกับองค์กรติดอาวุธในพื้นที่

การกำกับในระดับนโยบายเป็นหัวข้อสำคัญในการแก้ปัญหา ความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการเสมอ คือ “เอกภาพและบูรณาการ” ของการดำเนินการขององค์กรภาครัฐ คือ “พลเรือน-ตำรวจ-ทหาร” เพื่อลดการต่อสู้และการแข่งขันของหน่วยราชการที่มักจะเป็นปัญหาสำคัญในการแก้ปัญหา

หลักการข้อสุดท้ายที่ต้องยึดมั่นเป็น “เข็มมุ่งหลัก” ในสงครามเช่นนี้คือ “การเมืองต้องนำการทหาร” และต้องนำให้ได้เสมอ อีกทั้งผู้นำทางการเมืองจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เช่นที่ผู้นำทหารและหน่วยงานความมั่นคงก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ไม่แตกต่างกัน

เพราะไม่มีความสำเร็จในการแก้ปัญหาความรุนแรงภายในเกิดได้โดยปราศจากการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การปรับตัวในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น