วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567

ศก.ดีจริงหรือไม่? คนชายแดนใต้แห่เข้ากรุงเร่ขายข้าวเกรียบ

ประเด็นหนึ่งที่เป็นสาระสำคัญที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ชี้แจงคำอภิปรายงบประมาณของฝ่ายค้านในประเด็นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความก้าวหน้าในการฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่

- สถานการณ์ไฟใต้ด้านความมั่นคงดีขึ้น

- เศรษฐกิจเริ่มดี ได้รับความร่วมมือจากมาเลเซีย

- อำนวยความสะดวกเรื่องคนเข้าเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลย์เพิ่ม 3 เท่า

- โรงแรมในสามจังหวัดใต้เต็มหมด รวมถึงหาดใหญ่ (เมืองท่องเที่ยวของ จ.สงขลา)

- มั่นใจว่าถ้าประชาชนมีเงินในกระเป๋า ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัญหาความรุนแรงก็น่าจะลดลง

นี่คือสาระสำคัญจากคำชี้แจงกลางสภาของนายกฯ

คำถามที่น่าสนใจก็คือ เศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ดีขึ้นจริงหรือไม่

สมาคมทีมข่าวภาคใต้ พบอาชีพใหม่ของคนกลุ่มหนึ่ง คือไปยืนขายข้าวเกรียบทอด ตามทางเข้าห้างสรรพสินค้า หรือทางเข้าปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ ที่มีรถราพลุกพล่าน กลางกรุงเทพมหานคร

รูปแบบการขายที่สะดุดตาก็คือ คนกลุ่มนี้จะหิ้วถุงข้าวเกรียบขนาดใหญ่ ซึ่งบรรจุข้าวเกรียบจำนวนหลายสิบห่อเอาไว้เต็มมือ แล้วก้มต่ำไหว้รถทุกคันที่ขับผ่าน ทำนองขอความเห็นใจให้ซื้อข้าวเกรียบ

ตัวแทนทีมข่าวได้แวะเวียนไปสอบถามคนขายรายหนึ่ง เป็นชายวัยรุ่น ร่างผอม ผิวคล้ำ ได้รับคำตอบว่า พวกเขามาจากจังหวัดปัตตานี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลือกมาประกอบอาชีพขายข้าวเกรียบ เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีงานทำ และเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก

หนุ่มปัตตานี เล่าว่า ตนเคยไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ทำงานร้านต้มยำกุ้ง (ร้านอาหารไทยในมาเลย์ ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมาก) มีรายได้ดีในระดับส่งเสียทางบ้านได้อย่างไม่เดือดร้อน แต่โชคร้ายเจอสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา มาเลเซียปิดประเทศ ปิดร้านอาหารทั้งหมด ทำให้ต้องตัดสินใจกลับไทย เมื่อกลับบ้านก็ไม่มีงานทำอีกเลย ไม่รู้จะทำอะไร ลำบากมาก จึงตัดสินใจขึ้นกรุงเทพฯ มารับจ้างขายข้าวเกรียบ

เมื่อสอบถามถึงราคาข้าวเกรียบที่ขาย พบว่าข้าวเกรียบบรรจุอยู่ในถุงใส 2 ถุง รวมเป็น 1 แพ็ค ใส่อยู่ในถุงหิ้วขนาดใหญ่อีกที - ราคา 1 แพ็ค 2 ถุง 100 บาท - เท่ากับว่าข้าวเกรียบถุงละ 50 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงพอสมควร

หนุ่มปัตตานีบอกว่า แต่ละวันตนจะรับข้าวเกรียบมา 15 แพ็ค ถ้าขายหมดจะได้เงิน 1,500 บาท ตนในฐานะคนขาย ได้ส่วนแบ่งแพ็คละ 40 บาท ขายหมดก็จะได้ 600 บาท เถ้าแก่ได้ 900 บาท โดยข้าวเกรียบทั้งหมดเป็นของเถ้าแก่ เจ้าของร้านขายข้าวเกรียบ อยู่ที่ซอยรามคำแหง 120

เถ้าแก่ก็เป็นคนจากชายแดนใต้ เป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ส่วนพวกตนเป็นแค่ “คนรับจ้างขาย” เมื่อรับของมา ก็กระจายกันไปยืนตามจุดต่างๆ หากขายไม่หมดก็นำข้าวเกรียบไปคืนได้ โดยพวกตนอาศัยอยู่กับเถ้าแก่เจ้าของร้าน ในซอยรามคำแหง 120 โดนหักค่าข้าวและค่าที่พักอีกวันละ 50 บาท ฉะนั้นหากวันไหนขายได้น้อย ก็จะมีเงินเหลือน้อยลงไปอีก

เมื่อถามถึงรูปแบบการขายที่ต้องไหว้แบบก้มต่ำ เหมือนขอความเห็นใจให้คนยอมควักเงินซื้อ หนุ่มปัตตานี บอกว่า เป็นเทคนิคที่เจ้าของร้านแนะนำมา ให้ใช้วิธีไหนก็ได้เพื่อทำให้คนสงสาร จะได้ตัดสินใจซื้อ โดยเจ้าของร้านข้าวเกรียบมีหลายเจ้า ส่วนคนรับจ้างขาย ส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไปยืนขายตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น บางปะอิน อยุธยา พร้อมย้ำว่าสาเหตุที่ต้องมาขายข้าวเกรียบไกลบ้าน เนื่องจากเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่ดีเลย

โควิดทำคนแห่กลับจากมาเลย์ ตกงานร่วมแสน

สมาคมทีมข่าวภาคใต้ ตรวจสอบข้อมูลกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. พบว่า ก่อนเกิดวิกฤตโควิด ชาวไทยจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปทำงานในมาเลเซียแบบถูกกฎหมายราวๆ 1 แสนคน เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดระบาดเมื่อปี 62-63 ทำให้แรงงานประมาณ 6-7 หมื่นคนต้องเดินทางกลับประเทศ โดยเป็นการเดินทางกลับก่อนที่มาเลเซียและไทยจะปิดด่านพรมแดน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 จากนั้นก็ปิดประเทศนานข้ามปี

เหลือแค่ 2 ทางเลือก เป็นยาม หรือขายข้าวเกรียบ คนกลุ่มนี้เมื่อกลับบ้านเกิด ก็ไม่มีงานทำในพื้นที่ จึงต้องหางานใหม่ โดยไปหางานทำที่กรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่ โดยมีงานที่ทำกันอยู่ 2 ประเภท คือ

1. ขายข้าวเกรียบ

2. เป็นยามรักษาความปลอดภัย หรือ รปภ.

เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.เผยว่า คนสามจังหวัดไปทำงานตามจังหวัดใหญ่ๆ จำนวนมาก นอกจากกรุงเทพฯ ก็มีที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ราชบุรี

ตกระกำลำบาก ถูกรถชนไร้คนเหลียวแล จากข้อมูลของ “ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ ระบุว่า ทางศูนย์ฯเคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนชายแดนใต้ ที่พาลูกไปขายข้าวเกรียบที่จังหวัดสมุทปราการ แล้วลูกโดนรถชน เถ้าแก่ไม่รับผิดชอบ ต้องพาลูกกลับมารักษาเอง เงินรักษาก็ไม่มี สุดท้ายลูกเสียชีวิต

ส่วนสาเหตุที่คน 3 จังหวัดไม่กลับไปทำงานที่มาเลเซีย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเปิดประเทศแล้ว เป็นเพราะ ค่าเงินริงกิตอ่อน เจ้าของร้านต้มยำลดจำนวนลูกจ้าง ทำให้ตำแหน่งงานไม่เยอะเท่าเดิม ประกอบกับทางการมาเลเซียเข้มงวด ต้องทำใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit ทุกๆ 6 เดือน ด้วยค่าธรรมเนียมสูงหลักหมื่นบาท หากไม่จ่ายก็ถูกจับ ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ หลายคนจึงไม่กล้ากลับไป และตัดสินใจหางานทำในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องเร่ขายข้าวเกรียบ หรือเป็นยาม

เรื่องราวคนชายแดนใต้ต้องไปเดินเร่ขายข้าวเกรียบในจังหวัดต่างๆ ถูกบอกเล่าผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลายแขนง และมีหลายคนแสดงความเห็นใจ ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมด้วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น