วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ปักหมุด รอมฎอนสันติสุข ประเดิมงานแรกคณะพูดคุยดับไฟใต้ชุดใหม่

ปักหมุด “รอมฎอนสันติสุข” ประเดิมงานแรกคณะพูดคุยดับไฟใต้ชุดใหม่

หัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ “ฉัตรชัย บางชวด” พบปะแนะนำตัวกับ “ผู้อำนวยการสะดวกมาเลเซีย” ประเดิมหลังรับตำแหน่ง พร้อมเชิญ “ซุลกิฟลี” เยือนไทย ทำความรู้จักคณะพูดคุยชุดใหม่ถอดด้าม ตั้งเป้ายุติเหตุรุนแรง “รอมฎอนสันติสุข” พร้อมเปิดเวทีพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มภายในประเทศ

ภายหลังนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 344/2566 แต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของคณะพูดคุยฯ โดยมีภาพถ่ายของ นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะ ที่ถ่ายร่วมกับ พลเอก ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลมาเลเซีย เผยแพร่ออกมา

มีรายงานว่า นายฉัตรชัยฯ ไปพบปะ ดาโต๊ะ ซุลกิฟลี ที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแนะนำตัวและทำความรู้จักกัน เนื่องในโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย

โอกาสนี้ นายฉัตรชัยฯ ได้หารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งการแสวงหาหนทางเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุข ตลอดจนดำเนินมาตรการหนุนเสริมอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างสันติสุขในพื้นที่

นอกจากนี้ยังได้แสดงความมุ่งมั่นและเน้นย้ำที่จะสานต่อความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยฯ ในห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขยายผลหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) ที่ผ่านการเห็นชอบร่วมกันใน “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan Towards Peace (JCPP)

แผนปฏิบัติการฯ มีรายละเอียดครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

ในระหว่างการหารือ นายฉัตรชัย ได้เชิญผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย เยือนประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อทำความรู้จักกับคณะพูดคุยชุดใหม่ และพบปะกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะมีการจัดการหารือเพื่อเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการพูดคุยโดยเร็ว

คาดว่าจะสามารถจัดการพูดคุยในระดับคณะทำงานทางเทคนิคได้ ภายในเดือน ม.ค.2567 และตามด้วยการพูดคุยอย่างเป็นทางการแบบเต็มคณะหลังจากนั้น

ทั้งนี้ในระยะเร่งด่วน คณะพูดคุยฯ จะเร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดัน 2 ประเด็นสำคัญ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้เเก่

1.การลดเหตุรุนแรง เริ่มด้วยการเตรียมการผลักดันให้เกิดโครงการ “รอมฎอนสันติสุข” โดยคาดหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อยุติเหตุรุนแรงครอบคลุมต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการปรึกษาหารือสาธารณะอย่างสร้างสรรค์

2.เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศอย่างครอบคลุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น