วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566

91 ปีรัฐธรรมนูญไทย การเมืองใหม่ยังทุลักทุเล

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวาระ 91 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย และประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ

วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญเวียนมาครบรอบอีกวาระหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกว่า ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมในการเมืองไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในสภาวะของการเมืองไทยปัจจุบันภายใต้ตัวบทของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น การเมืองไทยยังคงมีข้อน่าสังเกตดังต่อไปนี้

1. สังคมโดยรวมยังคงมีความฝันที่จะมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับ 2560 ซึ่งเป็นผลผลิตของระบอบทหารจากการรัฐประหาร 2557

2. ข้อถกเถียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังคงเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

3. แม้การเลือกตั้งจะเกิดในปี 2566 แต่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังคงมีปัญหาในการขับเคลื่อน เนื่องจากยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐธรรมนูญเดิม

4. อิทธิพลของการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการเมืองจะลดพลังลงหลังจากการสิ้นสุดอำนาจของ สว. ในเดือนพฤษภาคม 2567

5. การสิ้นสุดอำนาจของ สว. ที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่ากับบ่งบอกถึงอิทธิพลของ คสช.ที่คุมอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงการสิ้นสุดอำนาจของ สว.ในปี 2567 หรือเป็นการควบคุมการเมืองได้นานถึง 10 ปี

6. หลังจากการสิ้นพลังของ สว.ชุดเก่าแล้ว ย่อมทำให้เกิดการจัดการการเมืองใหม่อีกครั้ง และอาจมีนัยถึงการจัดอำนาจการเมืองใหม่ด้วย

7. การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันยังมีอาการทุลักทุเล เพราะมีปัญหาการเมืองรุมเร้าในทุกด้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตจะถูกมองว่าเป็นหนทางหนึ่งของการปลดล็อกอำนาจเก่าที่ใช้กลไกรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ

8. ระบอบรัฐธรรมนูญไทยจะถูกท้าทายจากปัญหาของระบบพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองยังไม่สามารถพัฒนาให้เกิดการยอมรับได้อย่างกว้างขวาง

9. ปัญหาของรัฐธรรมนูญอีกส่วนเป็นเรื่องของ “องค์กรอิสระ” ที่สังคมมีความรู้สึกในช่วงที่ผ่านมาว่า ไม่มีความเป็นอิสระ และไม่สามารถสร้างอำนาจในการตรวจสอบได้จริง แต่เป็นอำนาจในการใช้จัดการกลุ่มตรงข้ามในทางการเมือง

10. ระบอบรัฐธรรมนูญจะพัฒนาไม่ได้โดยปราศจากความเข้มแข็งของระบอบรัฐสภาเช่นในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งของระบอบรัฐสภา ไม่เพียงแต่จะช่วยลดเงื่อนไขการรัฐประหาร แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของระบอบรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ดังนั้นในวาระครบรอบอีกครั้งของวันรัฐธรรมนูญไทย จึงไม่ควรเป็นเพียงวันหยุดเพิ่มเติมอีก 1 วันในเดือนธันวาคม แต่อยากให้เป็นวันที่สังคมไทยจะมีความเชื่อร่วมกันในการมีรัฐธรรมนูญ

#ไม่ใช่เชื่อในการฉีกรัฐธรรมนูญ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น