วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566

มาเลย์รับปากให้ข้อมูลสำคัญ ผู้เห็นต่างฯ เข้าเมือง-หลบหนี

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เยือนกัวลาลัมเปอร์ พบรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงมาเลเซีย หารือ 5 ประเด็น ร่วมพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน แก้ปัญหาความมั่นคงดับไฟใต้ มาเลย์รับปากให้ข้อมูลสำคัญ “ผู้เห็นต่างจากรัฐ” ที่เข้าเมืองเพื่อหลบหนี

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย.66 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประกอบด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. และ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เข้าพบ YAB Dato Seri Dr. Ahmad Zahid Hamidi รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วงประชุมหารือใน 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1.ด้านการศึกษา โดยรองนายกฯมาเลย์ ขอให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะมีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การส่งเสริมให้ศึกษาต่อในหลักสูตรวิศวกรรมการบิน ทำให้เด็กนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาเข้าสู่อาชีพได้เป็นจำนวนมาก และไปทำงานในต่างประเทศไดด้วย

นอกจากนั้นยังเสนอให้มีหลักสูตรอาชีวศึกษา จัดโปรแกรมการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

2.ด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุน ประเด็นนี้มีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนของมาเลเซียเข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมากขึ้น โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการขอทั้งสองประเทศ

3.ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องด่านศุลกากรที่ อ.สะเดา จ.สงขลา (นายกฯของทั้งสองประเทศเพิ่งไปพบปะหารือ) เท่านั้น แต่ยังต้องเน้นลดเงื่อนไขข้อจำกัดทางกฎหมายให้มากขึ้น เช่น การกำหนดเขตสินค้าปลอดภาษี (Duty Free Zone) หรือสินค้านำเข้าต่างๆ ที่ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความต้องการร่วมกัน

ข้อแนะนำให้จัดตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเขตเศรษฐกิจและการกำหนดสำนักงานเขตพัฒนาร่วมไทย-มาเลย์ เพื่อผลักดันกระบวนการทำงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย มีผลสัมฤทธิ์ในระยะเวลาอันสั้น

4.ด้านอุทกภัยร่วมกันของไทยและมาเลเซีย มีข้อเสนอเรื่องการวางแผนการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ร่วมชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะการทำแผนการจัดการป้องกันระบบน้ำท่วม, การทำแผนอพยพ

5.ด้านความมั่นคง ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น อาทิ การให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้เห็นต่างจากรัฐในกรณีของการเข้าเมืองเพื่อหลบหนี, ข้อกฎหมายจากการกระทำผิดกฎหมายในประเทศนั้น, ความร่วมมือการแก้ไขปัญหายาเสพติด และความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งจะมีการแต่งตั้ง “คณะทำงาน” หรือมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและวางแผนร่วมกันในระยะต่อไป

รองนายกฯมาเลเซีย ให้คำมั่นว่า จะดำเนินการทุกสิ่งเพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง พร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในทุกประเด็นตามที่นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้มีการศึกษาหารือและเห็นชอบการทำงานร่วมกันใน 4 ประเด็น ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเกษตร ซึ่งจะต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น