วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กริชรามันมรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้

กริช เป็นอาวุธประจำกายที่สำคัญของชายขาวมลายู ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชายชาตรี บอกยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้ครอบครองและวงศ์ตระกูล เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย

ในจังหวัดยะลา มียอดฝีมือช่างทำกริช อยู่ที่อำเภอรามัน ครูตีพะลี อะตะบู ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูภูมิปัญญา ผู้อนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำ‘กริชรามัน’ กริชสกุลช่างปาตานีที่สืบต่อกันมายาวนานกว่า 200 ปี

ครูตีพะลีจัดตั้ง ‘ศูนย์ศึกษาหัตถกรรมตะโละหะลอ’ เพื่อถ่ายทอดวิชาทำกริช ฝึกฝนอาชีพ และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของกริช อีกทั้งให้เห็นความสำคัญของการสืบทอดภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ปัจจุบันมีเยาวชนรุ่นใหม่ สนใจเข้ามาเรียนองค์ความรู้ในการทำกริชรามันจากครูตีพะลีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ศูนย์ฯแห่งนี้ เปิดรับผู้สนใจมาศึกษาอย่างเต็มที่ ไม่จำกัดเพศ อายุ หรือศาสนา ขอเพียงปฏิบัติตามจรรยาบรรณช่างทำกริช 25 ข้อให้ได้ โดยคุณธรรมสำคัญอันดับต้นๆ คือ ต้องสำรวมกายใจให้บริสุทธิ์ ไม่มีเจตนานำกริชไปต่อสู้หรือฆ่าฟัน ต้องไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ของมึนเมาทุกชนิด เป็นต้น


ที่ศูนย์แห่งนี้ เปิดสอนวิชาทำกริชครบทุกศาสตร์ช่างศิลป์ทั้งงานไม้และงานโลหะ สอนทุกขั้นตอนการทำกริชทั้งเล่ม ไม่ว่าจะเป็น หัวกริช ใบกริช และฝักกริช โดยส่วนสำคัญที่สื่อความหมายแสดงสัญลักษณ์และบรรดาศักดิ์ คือ หัวกริช หรือ ด้ามกริช

ในสมัยก่อน เจ้าเมืองทุกเมือง จะต้องมีกริช ในความเชื่อของฮินดูพราหณ์ กริช เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมสถาปนาเจ้าเมือง ลักษณะหัวกริชของเจ้าเมืองจะเป็นรูปสมมุติเทพ และมีรายละเอียดวิจิตรบรรจงกว่าชนชั้นรองลงมา บุคคลทั่วไปก็สามารถครอบครองกริชได้เช่นกัน เพียงแต่รูปทรงและหัวกริชก็จะแตกต่าง ลดหลั่นรายละเอียดลงไป  ทั้งนี้ คนหนึ่งคน สามารถพกกริชได้มากกว่า 1 เล่ม  ปัจจุบัน ก็ยังมีคนนิยมสะสมกริชอยู่ทั่วไป อีกทั้งยังมีการมอบรางวัลเนื่องในการประกอบคุณงามความดีและประดับชั้นยศ ด้วยการมอบกริชด้วยเช่นกัน


นับว่าวัฒนธรรมการทำกริชและให้คุณค่ากริช ยังคงสืบสานและอยู่ในความสนใจของผู้คนจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น