วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เปิด 3 เป้าหมาย “ตันสรี ซุลกิฟลี” เยือนไทย กับ 1 คำถามที่ตอบยาก

แม้เป็นช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อแสวงหาสันติภาพในดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเดินหน้าต่อไป

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.66 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทย ได้ให้การต้อนรับ พล.อ.ตันสรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางมาแนะนำตัวและทำความรู้จักซึ่งกันและกันในหลังรับตำแหน่งใหม่

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ตันสรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ได้ไปพบกับทางฝ่ายขบวนการ BRN ที่มาเลเซียมาแล้ว ซึ่งขบวนการ BRN ก็ได้ตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เพื่อร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยเช่นกัน

ในการนี้ พล.อ.วัลลภ ได้แนะนำคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทยที่มาจากส่วนราชการต่างๆ ทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจ ให้ทางฝ่ายมาเลเซียได้รู้จัก และได้มีการหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยในระยะต่อไป

ทั้งจะได้หยิบยกเรื่อง Joint Comprehensive Plan Towards Peace(JCPP) หรือ กรอบความร่วมมือเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายผลหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) ให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมภายในปี 2566 ทั้งในเรื่องการลดการเผชิญหน้า, ยุติความรุนแรง, การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

โดย พล.อ.ตันสรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบว่า มีกำหนดการเชิญเข้าร่วมพูดคุยเต็มคณะอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 6 ในวันที่ 21-22 ก.พ.66 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

สำหรับ พล.อ.ตันสรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ 3 ของมาเลเซีย นับตั้งแต่เริ่มมีการตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชุดแรกเมื่อปี 2556 โดย พล.อ.ตันสรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก และ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย

เปิดข้อสังเกต “พิธีกรรม” ก่อนพูดคุยดับไฟใต้

เป็นที่น่าสังเกตว่า กำหนดการพบปะผู้คณะพูดคุยฯ และผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ไม่ค่อยเปิดเผยอย่างเป็นทางการมากนัก อย่างกรณีของ “ตันสรี ซุลกิฟลี” ผู้อำนวยความสะดวกฯคนใหม่ ก็มีข่าวออกมาก่อนประปรายอย่างไม่เป็นทางการ จนสื่อและประชาคมชายแดนใต้ ไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบมักจะทราบความเคลื่อนไหว และเร่งก่อเหตุรุนแรงเพื่อแสดงศักยภาพ สะท้อนชัดจากสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ที่มีเหตุรุนแรงรายวันในช่วงนี้

สำหรับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการเยือนไทย ก็คือ

1.แนะนำตัว ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน

2.รับฟังความเห็นของคณะพูดคุยฯฝ่ายไทย ว่าคิดอย่างไรกับการพูดคุยที่ผ่านมา และต้องการให้มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้า

3.ฝ่ายไทยมีประเด็นอะไรจะฝาก ตันสรี ซุลกิฟลี ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพื่อสื่อสารไปถึงตัวแทนบีอาร์เอ็นบ้าง และน่าจะนำประเด็นที่บีอาร์เอ็นฝากสื่อสารถึงฝ่ายไทย มาแจ้งด้วย

การพบปะกันครั้งแรกๆ น่าจะยังไม่มีสารัตถะอะไรมาก แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายอยากทราบ และมีผลอย่างยิ่งต่อการพูดคุย แต่อาจจะไม่มีใครยกขึ้นมาซักถาม หรือตอบคำถาม ก็คือ ถ้าไทยเปลี่ยนรัฐบาลในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีกไม่นานนี้ (ซึ่งก็มีแนวโน้มไม่น้อยอยู่เหมือนกัน) จะมีผลกระทบต่อคณะพูดคุยฝ่ายไทยหรือไม่

เป็นคำถามที่ตอบยากจริงๆ !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น