วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พหุวัฒนธรรมในชาติพันธุ์เดียวกัน ความสวยงามของแจกันที่มีหลากสี

 

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในอีกแง่มุมหนึ่งที่ที่สะท้อนถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมในชาติพันธุ์เดียวกัน และไม่ค่อยมีนักประวัติศาสตร์หยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในเชิงสร้างสรรค์ทางประวัติศาสตร์ มุมมองของความเป็นบรรพบุรุษในชาติพันธุ์เดียวกัน และเคยมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมเดียวกันนั้น  ไม่ว่าทางความเชื่อ ความศรัทธาที่ได้ยึดถือและสืบทอดกันมายาวนานมาเป็นประเด็นการเชื่อมใจสำหรับผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ ในบางตอนของบทความนี้ได้พูดถึงวิวัฒนาการของการนับถือศาสนาในยุคลังกาสุกะ(Lang kasuka)

เพราะก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามา ได้มีการนับถือลักธิโซโรอัสเตอร์ (ลักธิบูชาไฟ) มาก่อน ต่อมาอินเดียได้นำศาสนาพราหมณ์(ฮินดู) และต่อจากนั้นอาณาจักรศรีวิชัยจากอินโดนิเซียก็ได้เผยแผ่ศาสนาพุทธมหายานเข้ามาสู่ในดินแดนแห่งนี้

ดังนั้นสิทธิเหนือดินแดนแห่งนี้ จึงเป็นสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นทายาทสืบสายในความเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ว่าปัจจุบันเขาจะนับถือศาสนาใด ภาษาใด และมีวิถีวัฒนธรรมใดก็ตาม

อีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามที่จะอธิบายคำว่า “ชาติพันธุ์” อันเนื่องจากชาติพันธ์มลายู มิได้หมายถึงความเป็น“อิสลาม” และความเป็น“อิสลาม”ก็มิได้หมายถึงความเป็น“มลายู”เช่นกัน ผู้คนที่สืบสายชาติพันธุ์มลายูจะนับถือศาสนาใดๆนั้น ขึ้นอยู่กับสิทธิของปัจเจกบุคคล หากเราได้ศึกษาถึงการนับถือศาสนา ของผู้คนในประเทศอินโดนีเซียแล้ว จะพบว่าคนที่นั้นจะมีทั้งมลายูอิสลาม มลายูพุทธ มลายูพราหมณ์ มลายูคริสต์ และมลายูลักธินิกายอื่นๆมากมาย

แต่สำหรับผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นคนชาติพันธุ์มลายูจะนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาจะนับถือศาสนาพุทธและอื่นๆ ซึ่งมีไม่มาก และมีหลายพื้นที่ที่ยังคงมีประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมสืบทอดกันมาร่วมกัน สามารถสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์มลายูดั้งเดิม หรือที่เรียกกันว่า “วัฒนธรรมร่วมราก” เช่น ประเพณีแห่ขันหมาก ประเพณีแต่งงาน ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ รูปแบบการรักษาโรคทางไสยศาสตร์ อาหารพื้นบ้านดั้งเดิม ศิลปะการแสดงมะโย่ง มโนราห์ หนังตะลุง การแต่งกายของสตรี การนุ่งผ้าโสร่ง การโผกสะบัน ศิลปะภูมิปัญญาพื้นบ้าน ศิลปะการตกแต่งบ้าน การออกแบบงานก่อสร้างศาสนสถาน และอื่นๆ อีกมากมากที่มีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น