วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กำปงตักวา

 

          การสร้างชุมชนเข้มแข็งเป็นหนึ่งในนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากความเข้มแข็งของกองกำลังภาคประชาชนในการป้องกันตนเองแล้วความเข้มแข็งจากภายในอันเกิดความมีคุณธรรมประชาชนยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดเป็นแนวทางหนึ่งที่กองอำนวยนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า นำมาขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้ง กำปงตักวาชุมชนสันติสุขตามวิถีทางของศาสนา ซึ่งเป็นความต้องการของผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงของประเทศชาติอย่างยั่งยืน

          แนวคิดเรื่องกำปงตักวาเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ และได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดกลยุทธการดำเนินการ พร้อมจัดทำแผนงานที่มีชื่อว่า แผนการสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาประจำปี ๒๕๕๖เป็นแผนงานหนึ่งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกำปงตักวาให้เป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดกลยุทธในการดำเนินการตามขั้นตอน รวมทั้งกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของกำปงตักวา อันได้แก่ องค์ประกอบด้านความศรัทธา องค์ประกอบด้านบริหารชุมชน และองค์ประกอบด้านการควบคุมชุมชน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและจัดตั้งได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถอธิบายได้ดังนี้

          องค์ประกอบที่สำคัญประการที่ ๑ องค์ประกอบด้านความศรัทธา อาศัยกลยุทธการกล่อมเกลา ปลูกฝังความศรัทธาให้กับสมาชิกสังคมตั้งแต่เด็กแรกเกิดโดยบิดามารดา เติบโตสู่การเป็นยุวชนเข้ารับการฝึกอ่านกุรอาน กีรออาตีเข้าเรียนโรงเรียนตาดีกาตามลำดับ และเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เรียนกีตาป หรือฟังธรรมบรรยายธรรมประจำสัปดาห์ตามมัสยิดในทุกวันศุกร์ ได้เป็นไปตามหลักศาสนาซึ่งกำหนดไว้ว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในชุมชนมุสลิมทั่วไป อันเป็นต้นทุนความศรัทธาที่มีมาตั้งแต่อดีต

          องค์ประกอบประการที่ ๒ คือ องค์ประกอบด้านการบริหารจัดการชุมชน อาศัยกลยุทธสร้างความเข็มแข็งให้กับคณะกรรมการหมู่บ้าน  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำสี่เสาหลัก ผู้ทรงความรู้ด้านศาสนา และจัดตั้งสภาซูรอมีหน้าที่บริหารจัดการและควบคุมการดำเนินการขององค์กรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎกติกาชุม ฮูกมปากัตและที่สำคัญคือ มีการแบ่งเขตพื้นที่เป็น เขตบ้านซึ่งกำหนดเขตตามความเป็นเครือญาติ หรือตามภูมิประเทศ หรือตามจำนวนครัวเรือนที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดูแลด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง และสามารถควบคุมสมาชิกชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          องค์ประกอบประการที่ ๓ คือ องค์ประกอบในการควบคุมชุมชน ได้แก่ กฎระเบียบชุมชนหรือ ฮูกมปากัต

ซึ่งผ่านการปรึกษาหารือร่วมกันของคณะกรรมการต่างๆ และผ่านการวินิจฉัยจากผู้ทรงความรู้ทางศาสนาหรือ สภาซูรอที่เป็นไปตามหลักศาสนา วัฒนธรรม และสอดคล้องกับกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้งมีการกำหนดมาตรการ การลงโทษทางสังคมสำหรับยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

          มัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนหนึ่งที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ โดยอาศัยมัสยิดเป็นศูนย์กลางซึ่งมีการกำหนดกฎเกณฑ์ชุมชน ฮูกมปากัตที่ออกมาในรูปแบบของระเบียบมัสยิดที่มีชื่อว่า ระเบียบบริหารมัสยิดบ้านเหนือ พ.ศ.๒๕๔๘/ฮ.ศ.๑๔๒๖โดยนำหลักศาสนาผสมผสานกับระเบียบและธรรมเนียมราชการ รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นมาเป็นกรอบ ซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญชุมชน ครอบคลุมการบริหารจัดการทั้งด้านบุคคล สังคม ทรัพยากร โดยอาศัยองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการดังกล่าว คือ ความศรัทธา การบริหาร และกฎกติกาชุมชนเป็นเครื่องมือ

          กิจการที่เกิดขึ้นในชุมชนอันเป็นผลจากระเบียบดังกล่าว ได้แก่ การกำหนดให้เด็กเล็กฝึกอ่านกุรอาน (กีรออาตี) เยาวชนต้องศึกษาตาดีกาในวันเสาร์อาทิตย์ คนวัยหนุ่มต้องเข้ามัสยิด ผู้ใหญ่ต้องเรียนกีตาป ฟังบรรยายธรรมในทุกวันศุกร์ เพื่อปลูกฝังความศรัทธา สร้างความเข้มแข็งด้านศีลธรรม องค์ประกอบด้านความศรัทธาของชุมชน 

          ส่วนด้านสังคม มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับชุมชนทั่วไป คือ สหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ และอื่นๆ และที่สำคัญคือการออกซากาดทรัพย์สินตามหลักศาสนาสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินตามเกณฑ์ที่กำหนด อันเป็นซากาดที่นอกเหนือจากที่กำหนดสำหรับบุคคลทั่วไป นอกจากนี้มีกิจกรรมสันทนาการร่วมดื่มน้ำชาเพื่อบริจาคเงินเข้ากองทุนมัสยิด และนำเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินทั้งหมดนำไปใช้ในด้านต่างๆ โดยการบริหารจัดการเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามคือ ฮาลาลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในวิถีของสังคมมุสลิม

          นอกจากชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ ซึ่งถือเป็นโมเดลของกำปงตักวาแล้ว ปัจจุบันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้ขับเคลื่อนขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ตามแผนงานที่กำหนด โดยได้จัดโครงการนำผู้นำศาสนาจากพื้นที่ต่างๆ ไปศึกษา และร่วมเสวนาเพื่อนำแนวทางมาจัดตั้งในชุมชนของตนเอง ซึ่งขณะนี้ได้ขยายผลและจัดตั้งกำปงตักวาเพิ่มเติมไปแล้วหลายหมู่บ้าน และยังคงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ ๔ /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้เดินทางไปที่มัสยิดอัลฮีดายะห์บ้านบือแนยือราโมง หมู­่ ๔ ตำบล รือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และนายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิว­าส ร่วมเป็นประธานเปิดเวทีชาวบ้านที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกำปงตักวา ซึ่งแม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ผู้นำศาสนา รวมทั้งประธานคณะกรรมการอิสลามทั้ง ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างให้ความร่วมมือ และเชื่อว่าแนวทางกำปงตักวาเป็นหนทางที่จะสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน

          กำปงตักวา เป็นชุมชนที่มีการบริหารจัดการตนเองทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ ที่เป็นไปตามหลักศาสนา และตรงตามความต้องการของประชาชน ตรงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อที่ ๑๗  คือ ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามประเพณีและศาสนา เป็พพลังสร้างสรรค์สังคม เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งภายนอกและภายใน และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองไทย

สอดคล้องตามหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้สิทธิอำนาจในการบริหารตนเองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงเป็นศาสนูปถัมภกทุกศาสนา

          ปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งมาจากการนำเชื้อชาติ ศาสนาและประวัติศาสตร์มาบิดเบือนในลักษณะที่ว่า ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกกีดกันสิทธิด้านศาสนา และไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าหลักเกณฑ์การทำการญิฮาด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องต่อสู้เพื่อสถาปนาดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนอิสลามอันบริสุทธิ์ ฉะนั้นการขับเคลื่อนจัดตั้งกำปงตักวา การสร้างชุมชนที่ดำเนินวิถีตามหลักศาสนาจึงเป็นการตอบสนองความต้องการดังกล่าวโดยไม่ต้องมีการต่อสู้ และเป็นการขจัดข้ออ้างในการก่อเหตุ นำไปสู่การยุติสถานการณ์ สร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น