วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เริ่ม1มิถุนายน ปีนี้ เทียบตรงกับ 4เดือนต้องห้ามในศาสนาอิสลาม

 

ทัศนะอิสลามเกี่ยวกับการทำสงครามในเดือนต้องห้ามคืออะไร?

“เดือนต้องห้าม”กระทำความชั่ว..มุ่งทำแต่ความดี

การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์นับวันยิ่งทวีคูณ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องอยู่ร่วม ทำกิจกรรมร่วมกัน หลีกเลี่ยงไม่พ้นเพราะไม่สามารถใช้ชีวิตเพียงลำพังและโดดเดี่ยวได้ การอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องมีกฎหมายบ้านเมืองมาบังคับใช้เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม ในส่วนของศีลธรรมอันดีงามมีศาสนามากลัดเกลาจิตใจและเป็นที่พึ่ง ซึ่งจุดมุ่งหมายของทุกศาสนามุ่งสอนให้ศาสนิกกระทำแต่ความดีงาม ละเว้นการกระทำชั่ว

ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ทุกประเทศย่อมมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีวัฒนธรรม ส่วนในประเทศนั้นๆ ในแต่ละภูมิภาคจะมีอัตลักษณ์ ประเพณีความเชื่อ การนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ดั่งเช่นประเทศไทยของเราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และพูดภาษามลายูท้องถิ่น มีวิถีชีวิต สังคม ประเพณี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ที่ต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ภาพที่เราได้เห็นภาพคือความพิเศษเฉพาะถิ่น ศาสนิกจะเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจและการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสดา ความศรัทธาที่แท้จริงของชาวมุสลิมที่มีต่อ “อัลเลาะห์” นั้นย่อมหมายถึง การถวายทั้งกายและใจ ให้แก่พระองค์ การปฏิบัติที่ผิดแตกต่างไปจากนี้ เช่น การยอมรับนับถือพระเจ้าองค์อื่นด้วย หรือการนับถือสิ่งอื่นใดเทียบเท่าพระองค์ ถือว่าเป็นบาปมหันต์ที่มิอาจยกโทษให้ได้ มุสลิมที่ศรัทธาต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริงจะทำให้เขาละเว้นจากการทำชั่ว ทำแต่ความดี มีพลังใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย การศรัทธาต่ออัลเลาะห์ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นมุสลิม

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้คิดต่างจากรัฐ โดยแกนนำกลุ่มขบวนการได้ฉกฉวยโอกาสโดยใช้ความเชื่อความศรัทธาของผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนาชี้ให้เห็นว่าปัตตานีเป็นดินแดน“ดารุลฮัรบีหลอกให้สมาชิก ผกร.ทำการญีฮาด ในการก่อเหตุรุนแรงว่าทำ เพื่อความประสงค์ของพระเจ้าเพื่ออัลเลาะห์

เช่นเดียวกับเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งเป็นเดือนอันประเสริฐของมวลพี่น้องมุสลิมที่ประกอบศาสนกิจ เป็นเดือนแห่งบุญให้ทุกคนกระทำแต่ความดี แต่กลุ่มผู้ ผกร.กลับบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา และมีความเชื่อแบบผิดๆ โดยกลุ่มขบวนการได้ปลุกระดมความเชื่อชี้นำทางความคิดให้สมาชิกหลงผิดว่า การก่อเหตุในห้วงเดือนรอมฎอน เป็นการต่อสู้เพื่อศาสนา เพื่อแผ่นดินมาตุภูมิปัตตานี เป็นการทำสงครามต่อสู้กับผู้รุกราน ทำการเข่นฆ่าผู้คนโดยเฉพาะผู้นับถือต่างศาสนิกจะได้รับผลบุญหลายเท่า

การเข่นฆ่าคนแล้วได้บุญหลายเท่า ตามที่ได้มีการปลุกระดมจริงหรือ? แล้วทำไมสมาชิกเหล่านั้นจึงหลงเชื่อ ข้อเท็จจริง เดือนต้องห้ามในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่ว่าห้ามทำการสู้รบ และห้ามทำการล้างแค้น ซึ่งอัลเลาะห์ ตรัสไว้ในบทอัตเตาบะห์ โองการที่ 136 ความว่า “แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮ์มี 12 เดือน โดยระบุในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ในวันที่พระองค์ได้ทรงสร้างฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดินในจำนวนนี้มี 4 เดือนต้องห้าม” โดยมี 3 เดือนติดต่อกันคือ ซุ้ลกิอฺดะห์ (ذُوْالقِعْدَةِ), เดือนซุ้ลฮิจญะห์ (ذُوالحِْجَّةِ) และเดือนอัลมุฮัรรอม (اَلْمُحَرَّمُ) และเดือนรอญับ (رَجَب) ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนญุมาดา อัลอาคิเราะห์ (جُمَادٰىالآخِرة) และเดือนชะอ์บาน (شَعْبَانُ)

ความสำคัญของเดือนต้องห้าม 4 เดือน และสิ่งที่ควรปฏิบัติ

เดือนอัลมุฮัรรอม (اَلْمُحَرَّمُ) เป็นเดือนแรกของปฏิทินอิสลาม ส่วนวันที่สำคัญในเดือนนี้ได้แก่ วันอาชูรออ์คือวันที่ 10 มุฮัรรอม เป็นวันที่ท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ส่งเสริมให้ถือศีลอด และรวมถึงวันที่ 9 มุฮัรรอม ด้วย สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้.-

– ควรที่จะถือศีลอดสุนัตให้มาก ดังที่ท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้ทรงกล่าวว่า ความว่า“ความประเสริฐของการถือศีลอดรองจากเดือนรอมฎอนคือ การถือศีลอดในเดือนแห่งอัลลอฮ์ อัลมุฮัรรอม”

– เล่าประวัติศาสตร์หรือระลึกถึงการอพยพของท่านศาสดา ศ็อลฯ ให้บุตรหลานหรือสมาชิกของครอบครัวฟัง

– สุนัตให้ถือศีลอดในวันอาชูรออ์คือวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอมซึ่งถือเป็นแบบฉบับของท่านศาสดา ศ็อลฯ ดังมีอัลฮะดีษกล่าวว่า ความว่า“ท่านศาสดาได้ถูกถามถึงการศีลอดในวันอาชูรออ์ ท่านกล่าวว่า มันจะลบล้างความผิดหนึ่งปีที่ผ่านมา”

เดือนรอญับ (رَجَب) เป็นเดือนลำดับที่ 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับอยู่ระหว่างเดือนญุมาดา อัลอาคิเราะห์ (جُمَادٰىالآخِرة) และเดือนชะอ์บาน (شَعْبَانُ) คำว่า รอญับ มีรากศัพท์ในภาษาอาหรับที่หมายถึง ละอาย, เกรงกลัว, ครั่นคร้าม ชาวอาหรับเรียกเดือนนี้ว่ารอญับ เพราะยกย่องและให้ความสำคัญต่อเดือนนี้เป็นอันมาก นับแต่ยุคอัลญาฮีลียะห์ (ยุคก่อนอิสลามอันเป็นยุคแห่งอวิชชา) และถือว่าเดือนนี้เป็นหนึ่งในสี่เดือนต้องห้ามที่แยกเป็นเอกเทศ เมื่อชาวอาหรับเรียกเดือนนี้ว่า อัรร่อญะบานี (اَلرَّجَبَانِ)

วันสำคัญของเดือนนี้ วันที่ 27 เป็นวันที่ท่านศาสดา ศ็อลฯ เสด็จขึ้นชั้นฟ้า (อัลอิสรออ์วั้ลเมี๊ยะรอจ) สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ ระลึกถึงค่ำคืน อัลอิสรออ์วั้ลเมี๊ยะรอจ โดยการเล่าประวัติศาสตร์ของคืนดังกล่าว ให้บุตรหลานได้รับทราบ

เดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์ (ذُوالقَعْد) หรือ ซุ้ลกิอฺดะห์ (ذُوْالقِعْدَةِ) เดือนลำดับที่ 11 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับ เหตุที่เรียกเดือนนี้ว่า ซุ้ลเกาะอ์ดะห์ หรือ ซุลกิอฺดะห์ ก็เพราะว่าชาวอาหรับจะระงับ ละเลิก จากเรื่องไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานเผ่าอื่น การปล้นสะดม

ทั้งนี้เดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์ นับเป็นหนึ่งในสี่ของเดือนต้องห้าม (อัลอัชฮุรุ้ล ฮุรุม) ซึ่งปีนี้ จะตรงกับวันที่ 1 มิถุนายน 2565

และในช่วงเวลาการประกอบพิธีฮัจญ์ในเดือน ซุ้ลฮิจญะห์ ฉะนั้นจึงต้องมีช่วงเวลาที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสำหรับผู้ที่เดินทางสู่นครมักกะห์ตามเส้นทางสู่ประกอบการพิธี “ฮัจญ์”

เดือนซุ้ลฮิจญะห์ (ذُوالحْجَّةِ) เดือนสุดท้ายลำดับที่ 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับ อยู่ระหว่างเดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์กับเดือนมุฮัรรอม เหตุที่เรียกเดือนนี้ว่า ซุ้ลฮิจญะห์ (ذُوالحْجَّةِ) ก็เพราะว่าเป็นช่วงฤดูฮัจญ์ที่ชาวอาหรับจากทุกสารทิศจะเดินทางมุ่งสู่นครมักกะห์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ คำว่า อัลฮัจญ์ (اَلْحَجُّ) หมายถึง การเยี่ยมเยียน เช่น เยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญ ส่วนคำว่าอัลฮิจญะห์ (اَلْحِجَّةُ) หมายถึง “ปี” เพราะการประกอบพิธีฮัจญ์ จะถูกกระทำตามศาสนบัญญัติในทุกๆ ปี ชาวอาหรับบางทีก็นับจำนวนปีโดยอาศัยการประกอบพิธีฮัจญ์ เช่น อาศัยอยู่ในนครมักกะห์ มา 3 ฮัจญ์แล้ว เป็นต้น

วันสำคัญของเดือนนี้ เป็นเดือนแห่งการประกอบพิธีฮัจย์,วันที่ 9 คือวันอะร่อฟะห์, วันที่ 10 คือวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา(รายอกรุบาน), วันที่ 29 หรือ 30 เป็นวันสิ้นปีศักราชอิสลาม

สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ ไปประกอบพิธีฮัจย์สำหรับผู้ที่มีความสามารถ, สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์นั้น สุนัตให้ถือศีลอดในวันอะร่อฟะห์, ร่วมกันละหมาดอีดิลอัฎฮา, เชือดสัตว์กุรบ่าน และแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้, สำนึกตัว(เตาบัต)ในความผิดที่ผ่าน และออกซะกาตเมื่อครบพิกัดและครบรอบปี

จากการศึกษาจะพบว่า อิสลามมิได้เพียงแค่ห้าม การทำสงครามกันเฉพาะในเดือนต้องห้ามเท่านั้น แต่ยังได้มีบทลงโทษอันแสนสาหัสได้อีกด้วย เพื่อป้องกัน มิให้คนใดคนหนึ่งคิดถึงเรื่องการทำสงครามกันเดือนนี้ จนถึงขั้นที่ว่าอัลกุรอานโองการ ที่ถูกถามถึงนั้น, ได้ระบุชัดเจนว่าการทำสงครามกันในเดือนต้องห้าม ถือว่าเป็นบาปใหญ่ด้วยซ้ำไป นอกจากนั้น การสังหารผู้อื่นโดยไม่เจตนา ยังต้องจ่ายสินไหมชดเชยเป็นสองเท่าด้วย

ทั้งหมดเหล่านี้คือเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า อิสลามได้ให้ความสำคัญ และให้ความเคารพต่อเดือนต้องห้ามทั้งสี่ การห้ามทำสงครามในเดือนต้องห้ามทั้งสี่นั้น ก็เพื่อให้ชาวมุสลิมทั้งหมดให้เกียรติ และแสดงความเคารพต่อเดือนเหล่านี้ แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับได้ใช้ประโยชน์จากการที่ชาวมุสลิมให้เกียรติต่อเดือนเหล่านี้ และทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเดือนโดยจับอาวุธมาก่อเหตุ ทำร้าย เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริสุทธิ์ ทั้งพี่น้องชาวไทยพุทธ และมุสลิม

ทั้งที่ในความเป็นจริง การฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่ ในอัลกุรอานไม่อนุญาตให้ฆ่าคนบริสุทธิ์ โดยไม่คำนึงว่าเขาหรือเธอจะนับถือศาสนาใดชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีค่าตามคำสอนของกุรอานและทางนำของศาสดามุฮัมมัด ฉะนั้นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่ชอบแอบอ้างว่าต่อสู้เพื่อศาสนา ทำเพื่อ “อัลเลาะห์” เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วหรือ เพราะถ้าเราได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ คัมภีร์กุรอาน มีข้อความมากมาย ที่กล่าวถึงการส่งเสริมคนทำความดีละเว้นความชั่ว และ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างศาสนิกต่างๆ แต่ผู้คนกลับไม่กล่าวถึงและนำมาปฏิบัติ ในเมื่ออัลกุรอานเป็นคัมภีร์ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้าน และ มิติทีเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบทบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์ คือกฎหมายที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ

หากคำสอนของอัลกุรอานถูกนำไปตีความอย่างผิด ๆ หรือใช้เพื่อบิดเบือน อย่างที่กลุ่มขบวนการที่มีแนวคิดสุดโต่ง ได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้ บิดเบือน ปลุกระดมบ่มเพาะ เพื่อเป้าหมายของตนเอง เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะระหว่างหลักการของศาสนาที่ถูกต้องกับมุสลิม และมีการชี้แจงหลักศาสนาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการบิดเบือน และชักจูง ให้เข้าร่วมขบวนการของคนบาปนี้ที่ก่อเหตุในทุก ๆ โอกาส ไม่เว้นเดือนต้องห้ามที่ไม่ให้มีการทำสงคราม ในขณะเดียวกัน เราจะต้องร่วมกันประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบที่กระทำในนามของศาสนา และเป็นกำลังใจต่อผู้กระทำความดี ละเว้นความชั่ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น