วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

ความสำคัญของการให้อภัย...ในอิสลาม

 

การให้อภัย จึงเป็นส่วนหนึ่งจากจริยธรรมอันสูงส่ง และเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของการคบหาสมาคม เนื่องจากในการดำเนินชีวิตทางสังคมนั้นเราจะพบว่า มีน้อยคนนักที่สิทธิต่างๆ ของเขามิเคยถูกล่วงละเมิดจากผู้อื่น ดังนั้นการที่จะให้สังคมเกิดความสงบสุขได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการให้อภัย ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือ ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมไปถึงความรักและความเห็นอกเห็นใจกัน

หนึ่งในพระนามอันไพจิตรของอัลเลาะห์(ซ.บ) นั้นคือ "อัลอะฟูวุ" (العَفُوُّ) ซึ่งหมายถึง “ผู้ทรงให้อภัยยิ่ง” มีปรากฏในอัล-กรุอาน ถึง 5 ครั้ง และคุณลักษณะของพระองค์ที่เกี่ยวกับการให้อภัย และการยกโทษนั้น ก็มีอยู่จำนวนมาก ในเกือบทุกบทของอัลกุรอาน เพื่อที่จะสื่อให้มนุษย์ได้รู้ว่า พระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ให้อภัยยิ่งต่อปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรักการให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยอัลเลาะห์(ซ.บ.) ได้ทรงกำชับให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) เป็นคนที่รู้จักให้อภัยผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคือง อาฆาตมาดร้าย หรือผูกพยาบาท  ถึงแม้ว่าบรรดาศัตรูของท่านจะสร้างความเจ็บปวดและก่อกรรมทำเข็ญต่อท่านอย่างหนักหนาสาหัสสักเพียงใดก็ตาม

อัลเลาะห์(ซ.บ.) ได้ทรงตรัสต่อท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) ของพระองค์ว่า : "จงอภัยให้พวกเขาเถิด และจงละวาง(จากการถือโทษโกรธเคืองพวกเขา) เเท้จริงอัลเลาะห์ ทรงรักบรรดาผู้ประพฤตดี" (อัลมาอิดะฮ์/โองการที่ 13)

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) ก็ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า : "เเท้จริงอัลเลาะห์ ทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง พระองค์ทรงรักการให้อภัย" และท่านศาสดา(ซ.ล.) นั้นคือต้นแบบที่งดงามยิ่งในเรื่องของการให้อภัย ท่านไม่เคยผูกใจเจ็บหรืออาฆาตพยาบาทต่อผู้ประชาชาติที่เป็นศัตรูกับท่าน แต่ท่านมักจะวิงวอนขอต่ออัลเลาะห์(ซ.บ.) ให้บุคคลเหล่านั้นเสมอ โดยกล่าวว่า : "โอ้พระผู้เป็นเจ้า! โปรดนำทางกลุ่มชนของข้าพระองค์ด้วยเถิด เเท้จริงพวกเขาไม่รู้"

การให้อภัย จึงเป็นส่วนหนึ่งจากจริยธรรมอันสูงส่ง และเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของการคบหาสมาคม เนื่องจากในการดำเนินชีวิตทางสังคมนั้นเราจะพบว่า มีน้อยคนนักที่สิทธิต่างๆ ของเขามิเคยถูกล่วงละเมิดจากผู้อื่น ดังนั้นการที่จะให้สังคมเกิดความสงบสุขได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการให้อภัย ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือ ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมไปถึงความรักและความเห็นอกเห็นใจกัน

อิสลามกับการให้อภัย

ศาสนาอิสลาม ถือว่าการให้อภัยเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่หลากหลาย ย่อมต้องมีการละเมิด การเบียดเบียนและการกระทบกระทั่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การให้อภัยกัน จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่น่าอยู่ มีแต่ความสงบสุขและความสมานฉันท์ คนที่ให้อภัยก็มีความสุข และคนที่ได้รับการให้อภัยก็มีความสุขเช่นเดียวกัน

      ดังที่อัลเลาะห์(ซ.บ) ได้ทรงยกย่องและชื่นชม ผู้ที่ให้อภัยไว้ในอัลกุรอาน และทรงนับว่ามันคือ คุณลักษณะหนึ่งของบรรดาผู้ยำเกรง(มุตตะกีน) โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า : "(บรรดาผู้ยำเกรงนั้น) คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ระงับความโกรธ(ของตัวเอง) และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ประพฤติดี"(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 134)

และในอัลกุรอานบทอัชชูรอ โองการที่ 40 "ผู้ใดให้อภัยและแก้ไขปรับปรุงให้ดีนั้น รางวัลของเขาอยู่กับอัลเลาะห์"

และมีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งกล่าวว่า : "ผู้ใดที่ระงับจิตใจของตน เมื่อเกิดความปรารถนา เมื่อเกิดความหวั่นกลัว และเมื่อเกิดความโกรธ อัลเลาะห์จะทรงห้ามเรือนร่างของเขาจากไฟนรก"

การให้อภัย คือจริยธรรมที่ดีงามที่สุด

     "การให้อภัย" อิสลามได้ให้ความสำคัญต่อการให้อภัย และถือว่าเป็นคุณธรรมที่ดีงามที่สุด โดยท่านศาสดา(ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า : "จะให้ฉันชี้แนะแก่พวกท่านไหม ถึงจริยธรรมที่ดีเลิศที่สุดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า (นั่นคือการที่) ท่านจะเชื่อมสัมพันธ์ต่อบุคคลที่ตัดสัมพันธ์ต่อท่าน และให้แก่บุคคลที่ลิดรอนท่าน และท่านจะให้อภัยแก่บุคคลที่อธรรมต่อท่าน"

ประเด็นต่างๆ ที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้อภัย

การให้อภัยในความหมายข้างต้น ที่เป็นเกี่ยวกับส่วนบุคคลเท่านั้น จึงควรค่าแก่การยกย่อง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวม และเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า(หรือฮักกุลลอฮ์) นั้น การให้อภัยและการไม่ถือโทษเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสมควรต่อการถูกตำหนิ

      ในแบบอย่างหรือซุนนะฮ์ของท่านศาสดา(ซ็อลฯ) นั้นท่าน จะไม่ให้อภัยและจะลงโทษบุคคลทั้งหลายที่ล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และในกรณีใดที่มีบทลงโทษจากอัลเลาะห์(ซบ.) กำหนดไว้อย่างชัดเจน ท่านก็จะดำเนินการตามบทลงโทษนั้นๆ โดยไม่มีข้อผ่อนปรน และใครก็ไม่อาจให้ความอนุเคราะห์ต่อผู้กระทำผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น สตรีผู้หนึ่งจากครอบครัวที่มีเกียรติของชาวกุเรช ซึ่งมีนามว่า "ฟาฏิมะฮ์" ได้ทำการลักขโมย ท่านศาสนทูตแห่งอัลเลาะห์(ซ็อลฯ) ได้ออกคำสั่งให้ดำเนินการลงโทษนาง

ประชาชนจากเผ่าบนีมัคซูม รู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรง จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการลงโทษนั้น โดยขอร้องอุซามะฮ์ บินซัยด์ ซึ่งมีความใกล้ชิด เป็นพิเศษต่อท่านศาสนทูต(ซ็อลฯ) ให้เจรจากับท่านในเรื่องนี้ ท่านศาสนทูต(ซ็อลฯ) รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก และกล่าวว่า : "เจ้าจะให้การอนุเคราะห์(แก่ผู้อื่น) เกี่ยวกับบทลงโทษของอัลเลาะห์กระนั้นหรือ"

กรณีที่จะเรียกว่าเป็น"การให้อภัย" นั้นคือในสภาวะที่ คนเรามีความสามารถแก้แค้น หรือตอบโต้การกระทำผิดของผู้อื่นได้ แต่เขามิได้กระทำการตอบโต้ หากแต่การนิ่งเงียบหรือการวางเฉย เนื่องจากการที่ไม่สามารถตอบโต้ได้นั้น ไม่อาจนับว่าเป็นการให้อภัย

อีกทั้ง ยังเป็นสาเหตุนำไปสู่ความเคียดแค้นและความเกลียดชัง ซึ่งคุณลักษณะทั้งสองประการนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความชั่วอีกมากมาย เช่น การคาดคิดในทางไม่ดี การอิจฉาริษยา การนินทา และการใส่ร้ายป้ายสี เป็นต้น

และด้วยเหตุผลนี้เอง อิสลามจึงได้กำชับให้มุสลิมทุกคนให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกอธรรม และปกป้องสิทธิต่างๆ ของพวกเขาจากบรรดาผู้กดขี่ เพื่อที่ว่าความเคียดแค้นของเขา จะได้ไม่สะสมจนกระทั่งทำให้หัวใจที่ผ่องแผ้วและใสบริสุทธิ์ต้องถูกทำลายลงไป

     ภาคผลของการให้อภัยและการระงับความโกรธในขณะที่มีความสามารถนั้น มีคำรายงานมากมาย ดังตัวอย่างที่ท่านศาสดามูซา(อ.) ได้กล่าวว่า : "โอ้องค์พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ บ่าวคนใดของพระองค์ที่เป็นที่รักยิ่งของพระองค์" อัลเลาะห์ ทรงตอบว่า : "ผู้ซึ่งเมื่อเขามีความสามารถเขาก็ให้อภัย"

      ท่านอมีรุลมุอ์มินนีน อิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า : "เมื่อท่านมีอำนาจเหนือศัตรูของท่าน ดังนั้นจงให้อภัยต่อเขา เพื่อขอบคุณ (ต่ออัลเลาะห์) ในอำนาจที่มีเหนือเขา"

บ่อยครั้ง ที่คนเรากระทำผิดและละเมิดสิทธิต่างๆ ของผู้อื่น และก็มีความคาดหวัง ที่จะให้ผู้อื่นอภัยให้ตนเอง แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยที่จะให้อภัยให้แก่ผู้อื่นเลย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่คาดหวังจะให้ผู้อื่นอภัยในความผิดของตน ตัวเขาเอง ก็จะต้องให้อภัยต่อความผิดของผู้อื่นด้วยเช่นกัน และผู้ที่ตอบโต้ความเลวร้ายของผู้อื่นด้วยวิธีการแก้แค้นและเอาคืนนั้น จะเป็นเหตุ ทำให้ความเคียดแค้นชิงชังและความเป็นศัตรูกันในระหว่างพวกเขาเพิ่มมากยิ่งขึ้น

แต่หากเราตอบโต้ ความไม่ดีงามหรือความผิดของผู้อื่นด้วยกับการทำดีตอบ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้เขาสามารถทำให้ฝ่ายตรงข้ามคุกเข่ายอมสยบต่อเขาได้ ความเคียดแค้นชิงชังและความเป็นศัตรูของเขาก็จะเปลี่ยนเป็นความรักและกลายเป็นมิตรสนิท

      ดังที่มีกล่าวไว้อัลกุรอานความว่า : "ความดีและความเลวนั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน เจ้าจงตอบโต้(การกระทำที่เลวร้ายของผู้อื่น) ด้วยสิ่งที่ดีงามกว่า เมื่อนั้นผู้ซึ่งระหว่างเจ้าและระหว่างเขามีความเป็นศัตรูกันก็จะ (เปลี่ยนมา) ประหนึ่งเป็นมิตรสนิท" (อัลกุรอานบทฟุตซีลัต โองการที่ 34)

      ท่านอิมามอะลี(อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า : "ท่านจงตำหนิพี่น้องของท่าน (เมื่อเขากระทำผิด) ด้วยการทำดีต่อเขา และจงตอบโต้ความชั่วร้ายของเขาด้วยการให้สิ่งที่ดีงามแก่เขา"

กล่าวโดยสรุป

       การให้อภัยและการไม่ถือโทษโกรธเคืองนั้น คือผลพวงประการหนึ่งของความศรัทธาและคุณธรรมอันสูงส่ง และใครก็ตามที่ละวางต่อความผิดของผู้อื่น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ก็จะทรงละวางความผิดบาปต่าง ๆ ของเขาด้วยเช่นกัน และพระองค์จะทรงทำให้เขาเข้าอยู่ในความเมตตา และการอภัยโทษของพระองค์ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า : "และหากพวกเจ้าให้อภัย ละวางและไม่ถือโทษ (อัลเลาะห์ก็จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า) เพราะแท้จริงอัลเลาะห์นั้นทรงอภัยโทษยิ่ง อีกทั้งทรงเมตตายิ่ง" (อัลกุรอานบทอัตตะฆอบุน โองการที่ 14)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น