วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

มุสลิมกับการถือศีลอด 10 วันสุดท้ายของรอมฎอน วอนให้ภาครัฐต้องเข้าใจ

 


ในช่วง วันที่ 22 เม.ย.-1 พ.ค.2565 นี้ เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอดใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และไม่วันที่ 2 หรือ 3 พ.ค.2565 นี้ จะเป็นวันอีดิลฟิตรี(ฉลองหลังถือศีลอด)

การถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในช่วงนี้ จะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน(โดยเฉพาะกลางคืน) หลายๆ กิจกรรม

หากองค์กรของรัฐและหน่วยความมั่นคงไม่เข้าใจ และไม่ทราบหลักปฏิบัติของชุมชนมุสลิม อาจจะนำไปสู่การจับผิด และอาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวอันนำไปสู่ความรุนแรงได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่คิดร้าย(ส่วนน้อยของชุมชน) อาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้สร้างสถานการณ์ได้เช่นกัน

หลักปฏิบัติช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน

1.การเอี๊ยะติกาฟ(การพำนักในมัสยิด) หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสยิดโดยมี เจตนาปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลเลาะห์พระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือ การอดกลั้นในแง่ของการกักตัวในที่ ๆ จำกัด ไม่สามารถออกมาจากมัสยิด และไม่สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างที่สามารถทำได้ ถ้าหากอยู่นอกการอิอฺติก้าฟ ในจำนวนนั้นคือ การหลับนอนกับภรรยา ผู้ที่ถือศีลอดไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่อิอฺติก้าฟห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาตลอดช่วงเวลาสิบวันไม่ว่าทั้งกลางวันหรือกลางคืน ดังที่อัลเลาะห์ ได้ตรัสไว้ความว่า “พวกเจ้าอย่าได้แนบเนื้อพวกนาง ในขณะที่พวกเจ้าเก็บตัวอยู่ในมัสยิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 187)

เป้าหมายสำคัญก็คือ

- เพื่อปลีกตัวออกจากภารกิจทางโลก สู่การแสวงความผ่องแผ้วแห่งจิตวิญญาณ เสริมสร้างพลังและศักยภาพเพื่อเป็นกลไก ที่จะเอื้ออำนวยให้กิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น และดียิ่งขึ้นในอนาคต

- เพื่อทดสอบความอดทนทั้งกาย วาจา ใจ ตลอด 10 วัน

- เพื่อพยายามแสวงหาคืนอัล-ก็อดร์(ค่ำคืนที่พระผู้เป็นเจ้า จะพระทานผลบุญทวีคืน เทียบเท่าหนึ่งพันเดือน) ดังที่อัลเลาะห์ ทรงตรัสไว้ ความว่า ... "การประกอบความดี ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺดีกว่า หนึ่งพันเดือน ในค่ำคืนอื่นจากค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ" (ซูเราะห์อัลกอดัร/3) และท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ ความว่า “และผู้ใดที่ดำรงไว้อิบาดะห์ ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ ด้วยความศรัทธาต่ออัลเลาะห์ และหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น แท้จริงเขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปทั้งหลายที่ผ่านมา(มุตตะฟะกุนอะลัยห์:เศาะเฮี๊ยะห์/อัลบุคอรี 2/253 และมุสลิม760 (1/524)

- เพื่อปฏิบัติตามแบบอย่างและวิถีชีวิตที่ท่านศาสดาเคยปฏิบัติ เพราะท่านศาสดา ไม่เคยละทิ้งศาสนกิจดังกล่าว นับตั้งแต่ท่านเริ่มเข้ามายังนครมาดีนะห์ จวบจนกระทั่งท่านเสียชีวิต

ท่านหญิงอะอีชะ(ร.ด.) ภรรยาศาสดา กล่าวว่า “ท่านศาสดา เมื่อเข้าสิบวันสุดท้ายจากเดือนรอมฎอน ท่านจะมีความจริงจังในการประกอบศาสนกิจ(ที่มัสยิด) และนางยังกล่าวอีกว่าท่านศาสดาเอาจริงเอาจัง (ประกอบศาสนกิจ) ในช่วงสิบวันสุดท้ายรอมฎอนมากกว่าในช่วงอื่น ๆ"

- ทบทวน พฤติกรรมตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา อย่างสงบ เพราะมุสลิม เชื่อว่า การเอียะติกาฟ สามารถ ทบทวนตน และการสร้างจิตใจภายใต้หลังคามัสยิดอันเป็นบ้านของอัลลอฮ คงสามารถจะบีบคั้นน้ำตาให้รินออกมาชำระล้างความโสมมในหัวใจและสร้างพลังแห่งศรัทธาขึ้นใหม่ได้

ในจังหวัดชายแดนใต้ จะมีหลายมัสยิดจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ที่มีชื่อเสียงมีอยู่ไม่เกิน 10 แห่ง เช่น ที่มัสยิดอิบาดุรเราะมาน บ้านปูยุด อ.เมืองปัตตานี ภายใต้การอำนวยการโดย อ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา(อดีตกรรมการสมานฉันท์) และมัสยิดศูนย์ดะห์วะฮฺยะลา เพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจ และระบบสาธารณูปโภค

ทั้งสองแห่งนี้จะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคน จากทุกจังหวัดและผู้คนทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ข้าราชการมุสลิมยอมใช้สิทธิลาพักร้อนในช่วงนี้

2.การละหมาด ช่วง 10 วันสุดท้ายจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญ คือการละหมาดตะรอเวี๊ยะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 -21.00 น.(ความเป็นจริง การละหมาดดังกล่าว กระทำมาตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอน แต่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย ถูกบัญญัติให้ละหมาดรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ (รวมกันที่มัสยิด)

ละหมาดตะฮัจยุด ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.30น.- 04.30 น.(ช่วงกลางดึกถึงรุ่งอรุณ) ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง การละหมาดทั้งสองช่วงจะมีผู้คนมากที่สุดในคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน

3.การจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺ(ทานบังคับ) คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่าย อันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้นจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดยจ่ายเพื่อตัวเขา และเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน และคนที่ต้องรับผิดชอบด้วย

สำหรับปริมาณที่ต้องจ่าย คนละ 1 ศออฺ (ในภาษาอาหรับ) หรือประมาณเกือบ 4 ลิตรของอาหารหลักในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทยคือข้าวสาร เป็นต้นโดยจะจ่ายให้คนยากจน หรือให้เจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของมัสญิดก็ได้ เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตต่อไป

เพราะฉะนั้น จะเห็นชาวบ้านจำนวนมาก จะออกจากบ้าน ในคืนสุดท้าย หรือช่วงเช้าของวันอีดฯ (ฮารีรายอ) ไปหาคนยากจนหรือเจ้าหน้าที่มัสยิด

4.ภารกิจมุสลิมวันอีด (ฮารีรายอ) เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศกำหนดวันอีดฯ ชัดเจนแล้ว มุสลิมจะมีหลักปฏิบัติ ดังนี้.-

           - กล่าวตักบีร(สรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า) เมื่อมีการประกาศกำหนดวันอีดแล้ว มุสลิมทั้งชายและหญิงควรกล่าวตักบีรไปเวลาละหมาดอีด ในชุมชนมุสลิมจะเปิดเครื่องขยายเสียงดังที่มัสยิด

             - อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกาย ควรมีการอาบน้ำชำระล้างและทำความสะอาดร่างกายก่อนสวมใส่เสื้อผ้าไปยังที่ละหมาด พร้อมทั้งขจัดขนอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ตัดเล็บ กลิ่นกายที่น่ารังเกียจ และรบกวนผู้อื่น

              - แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ดีที่สามารถหามาได้ พร้อมกับใช้น้ำหอม ยกเว้นบรรดาสตรี ซึ่งไม่อนุญาตให้พวกนางใช้น้ำหอมในการไปละหมาด

             -ไปยังที่ละหมาดตั้งแต่เช้า สำหรับผู้เป็นมะมูม(สัปบุรุษมัสยิด) ควรรีบออกไปยังที่ละหมาดตั้งแต่เช้า เพื่อจองที่และรอละหมาด ยกเว้นผู้เป็นอิหม่าม(ผู้นำละหมาด) ให้ออกไปเมื่อใกล้เวลาละหมาด โดยการออกไปยังที่ละหมาดควรปฏิบัติดังนี้.-

                       ก.ควรออกไปและกลับด้วยการเดินเท้า นอกจากมีเหตุจำเป็น เช่น ไม่สบาย เป็นไข้ อยู่ไกล เช่นนี้อนุญาตให้ใช้พาหนะได้

                        ข.กล่าวตักบีรตลอดทาง ไปสู่ที่ละหมาด

                        ค.เดินเท้าไปและกลับควรใช้เส้นทางต่างกัน

                        ง.พาครอบครัวไปด้วยกัน

                       จ.ควรพาครอบครัว บุตร ภรรยา ไปที่ละหมาด เพื่อร่วมละหมาดหรือฟังคุฏบะฮฺ(ธรรมเทศนา) ร่วมกัน เช่นปีที่ผ่านมา

           -ภารกิจหลังละหมาดอีด

          หลังละหมาดให้ต่างคนต่างแสดงความดีใจและยินดีซึ่งกันและกัน โดยให้กล่าว "ตะก๊อบ บะลัลลอฮู มินนา วะมินกุม" ซึ่งแปลว่า "ขอให้อัลลอฮฺเจ้าจงตอบแทนความดีของเรา" และขออภัยซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นให้มีการบริจาคทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาสตรี สุดท้ายไปเยี่ยมญาติและเพื่อนๆ

5.ถือศีลอดอีก 6 วัน หลังจากวันอีดิ้ลฟิตรี ซึ่งเป็นการถือศีลอดซุนนะฮฺ(ตามความสมัครใจและตามแบบฉบับศาสดา) ตามรายงานของอะบีอัยยู๊บ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮฺ (อัครสาวกศาสดาท่านหนึ่ง) แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมฎอน แล้วติดตามหลังจากรอมฎอนอีก 6 วันจากเดือนเซาวัล เสมือนกับว่าเขาถือศีลอดทั้งปี"

นี่คือหลักปฏิบัติของอิสลาม พอสังเขป ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้ ซึ่งอยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจและนำเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติในพื้นที่ เพราะหลาย ๆ กิจกรรม เป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น

ในขณะเดียวกันการเรียกร้องให้องค์กรของรัฐ และสังคมอื่น เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มุสลิมเองต้องมีคุณลักษณะ และแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสดาทุกอริยะบทของการดำเนินชีวิต รวมทั้งเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน

หาก ทุกฝ่ายยึดตามแนวทางที่ถูกต้องและเข้าใจซึ่งกัน สังคมไทยจะอยู่ร่วมอย่างสมานฉันท์และหวังว่า "เหตุการณ์ตากใบสอง" คงไม่เกิดในช่วงท้ายรอมฎอนอีกครั้ง ในปีนี้

สุดท้าย ขอประณามเหตุการณ์ร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ฆ่าพระ, ทำลายทรัพย์สินของวัด, ฆ่าสตรี, เด็ก, คนแก่และผู้บริสุทธิ์ แอบอ้างว่าในนามศาสนา แน่นอนเป็นการขัดคำสั่งท่านศาสดา ตามบทบัญญัติอย่างชัดเจน

หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญ ในการอยู่ร่วมอย่างสันติ และขอดุอาร์(อวยพร)จากอัลเลาะห์(ซ.บ.) โปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำที่ดี และรวมหัวใจของพวกเรา ให้อยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง รวมทั้งขอให้ความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี

ขอให้พระองค์ ทรงทำให้วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน ให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน และทรงอยู่ใกล้ และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ สุขสวัสดี...วันตรุษอีดดิลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราชที่ 1443...อามีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น