วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

“ขนมอาเก๊าะ” บางปู ขนมพื้นบ้านต้นตำรับชาววัง

 

🍪😋“ขนมอาเก๊าะ” บางปู ขนมพื้นบ้านต้นตำรับชาววัง

“ไม่ต้องไปไกลถึงบางปู ปัตตานี” อาเก๊าะ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นขนมพื้นบ้านของชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่รู้จัก เป็นขนมที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตขนมอาเก๊าะจะมีให้รับประทานเฉพาะในเดือนถือศีลอด หรือเดือนปอซอของชาวมุสลิมเท่านั้น

แต่ปัจจุบัน ขนมอาเก๊าะได้มีการทำกันอย่างแพร่หลาย มีขายกันทั่วไป สามารถหาซื้อทานได้ ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน

สองสามีภรรยา นายอิบนีอาบัส อาแว และ น.ส.ฮัสมะห์ แสมา เจ้าของ อาเก๊าะบางปู(เจ้าเก่า) ที่มีขายกันเฉพาะในพื้นที่ปัตตานี 3 สาขา ได้ขยายสาขาที่ 4 มายัง จ.ยะลา เพื่อให้ชาวยะลาได้ชิมอาเก๊าะสูตรดั้งเดิม ที่มีรสชาติอร่อย นุ่มลิ้น หอมละมุน เน้นไม่หวานมาก และมีเอกลักษณ์ตรงที่ไข่อยู่ด้านบน หลังเปิดร้านเพียงอาทิตย์กว่า ๆ ที่ถนนเส้นทางสายตือเบาะ ชาวยะลาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แวะเวียนมาซื้อไปรับประทานกันในครอบครัว รวมถึงนำไปเป็นของฝากกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงบ่ายไปถึงหัวค่ำ

ลูกค้าที่มาซื้อ บอกว่า มาซื้อทาน 3 ครั้งแล้ว ซื้อไปแจกด้วย ชอบตรงที่ไม่หวานมาก แป้งน้อยไข่เยอะ หอมกรุ่น ทานคู่กับกาแฟอร่อย นอกจากจะซื้อทานแล้ว ยังช่วยโปรโมทเชิญชวนให้ประชาชนมาแวะลองชิมให้กับทางร้านด้วย คอนเฟิร์ม ความอร่อย

นายอิบนีอาบัส อาแว ผู้ที่สืบทอดการทำขนมอาเก๊าะ บอกว่า ขนมอาเก๊าะเป็นขนมโบราณ ที่ได้สืบทอดจากแม่ ซึ่งทำมา 40 ปี สานต่อมาได้ 4 ปีแล้ว โดยแม่ก็จะสืบทอดมาจากปู่ที่มาเลย์ และพัฒนามาเรื่อย ๆ อาเก๊าะถ้าเรียกภาษไทย คือ ขนมยก ใช้โซ่ล่าม ยกใช้ถ่าน มลายูเรียกอาเก๊ะ ต่อมาก็เพี้ยนมาเป็นอาเก๊าะ แต่ก่อนแม่จะทำเฉพาะเดือนปอซอ เดือนเดียว พอตนมาสานต่อก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ในแบบของเรา จนถึงปัจจุบัน เป็นขนมโบราณที่ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ต้องเฉพาะเดือนปอซออย่างเดียว เราอยากให้กินได้ทุกวัน ขนมชาววังปัตตานี กินร้อน ๆ ให้ได้ฟิวแบบนี้

วัสดุหลักของขนมอาเก๊าะ ก็จะมี แป้ง กะทิ ใบเตย รวมถึงไข่ไก่ ซึ่งเป็นไข่แดง เป็นลูก ๆ โดยจะจัดเตรียมส่วนผสมของขนมมาจากปัตตานี สด ๆ ใหม่ ๆ ทุกวัน พอมาถึงที่ยะลา ก็จะมาติดเตา ล่างบนโดยใช้ถ่าน หยอดแป้งที่ผสมแล้ว ลงบนแม่พิมพ์ ซึ่งจะทำได้ครั้งละ 25 ลูก แล้วปิดฝาครอบ เกลี่ยถ่านไปมาเพื่อให้ขนมได้ความร้อนทั่วถึง คล้ายกับการอบขนม ประมาณ 3-4 นาที ก็สุก อาเก๊าะก็จะส่งกลิ่นหอมกรุ่นชวนให้น่ารับประทานยิ่งนัก หลังจากนั้น ก็สามารถตักขึ้นนำขายได้เลย

ความอร่อยของขนมอาเกะนั้น จริง ๆ แล้ว คนมุสลิมทำอร่อยทุกอย่าง แต่จะถูกปาก อย่างไร ซึ่งของทางร้านเอง จะเน้นที่เอกลักษณ์ดั้งเดิมทุกอย่าง ไม่หวานมาก มีไข่ด้านบน และก็มีจะโลโก้ เป็นดอกชบา 5 เฉาะ สีเหลือง ซึ่งมาจากแม่พิมพ์ของขนมอาเก๊าะนั่นเอง

ในส่วนของการตอบรับนั้น นายอิบนีอาบัสฯ บอกว่า ลูกค้ายะลา ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ต้องขอบคุณชาวยะลามาก ๆ ทางร้านเองก็ได้โพสต์ ของอร่อยในยะลาด้วย ทำให้มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม มาซื้อไปชิมกันตั้งแต่วันแรกจนมาถึงวันนี้ ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำขายได้ประมาณวันละ 300 กล่อง ในราคา 3 ชิ้น 25 บาท พอขายได้ก็ทำให้เรามีความสุขด้วย ที่ได้สืบทอดขนมโบราณรสชาติดั้งเดิมให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก และก็ได้มีรายได้ด้วย ตอนนี้อาเก๊าะบางปู ก็จะมีขาย 4 สาขา สาขาแรกที่มัสยิดบางปู สาขาสองวงเวียน ม.อ.ปัตตานี สาขาสามที่ปานาเระ และสาขาสี่ที่ ยะลา สำหรับผู้ที่อยากลองชิมอาเก๊าะบางปู ก็สามารถแวะมาซื้อได้ที่ ถนนเส้นทางสายตือเบาะ ทางไปเทศบาลเมืองสะเตงนอก

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น