วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2567

หยุดบิดเบือนยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในพื้นที่ จชต.

หยุดบิดเบือนยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในพื้นที่ จชต.

ประเทศไทยนั้นมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว รัฐสนับสนุนพหุวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ท้องถิ่น อย่างเต็มที่ ไม่เคยมีใครไปขัดขวางปิดกันการแสดงออกทางอัตลักษณ์ภาษาวัฒนธรรม รัฐมีแต่จะส่งเสริมเพื่อจะรักษาอัตลักษณ์วิถีชีวิตของชุมชน

ปัจจุบันพี่น้องไทยมุสลิมใช้ชีวิตสงบสุขตามหลักของศาสนาอิสลาม และรัฐยังให้การสนับสนุนในการประกอบศาสนกิจทางศาสนา เช่น การสนับสนุนเงินบำรุงมัสยิด เงินค่าตอบแทนครูตาดีกา (ล่าสุดนี้เพิ่มเงินค่าตอบแทน) และยังสนับสนุนเที่ยวบินในการแสวงบุญที่ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นประจำทุกปี การนำนักการศาสนาอิสลามที่มีเชื่อเสียงมาพบปะบรรยายธรรมให้กับพี่น้องไทยมุสลิมเป็นประจำทุกปี และการมอบอินทผาลัมให้พับพี่น้องไทยมุสลิมในเดือนรอมฎอน และที่สำคัญประเทศไทยก็ไม่เคยไม่มีการกดขี่ ไม่มีการละเมิดสิทธิ ทุกคนยังคงอยู่ในแผ่นดินเดิมของบรรพบุรุษตนเอง มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเองถูกต้องตามกฎหมาย

สังคมจะสงบสุขได้อย่างไร ถ้ายังมีกลุ่มคน นักการเมือง (บางกลุ่ม) พยายามบิดเบือนยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกให้กับสังคมในพื้นที่ด้วยการกล่าวหาใส่ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำลายอัตลักษณ์ในพื้นที่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีแต่สนับสนุนเพื่อให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจ “ลดความขัดแย้ง” ความหมายของพหุวัฒนธรรม คือ ความหลากหลายทาง วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนาและประเพณีปฏิบัติ ที่มีความเหมือนและความต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเน้นการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้สังคมมีความสงบสุขและสันติได้

#หยุดยุยงปลุกปั่น

#หยุดสร้างความแตกแยก

ประเทศไทย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

👩‍🎤สังคมไทย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เพราะประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม การเรียนรู้ความแตกต่างเพื่อป้องกันความแตกแยก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยพึงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาชาติไทยให้เจริญก้าวหน้าและสงบสุข

อัตลักษณ์ของสังคมพหุวัฒนธรรม อัตลักษณ์ คือสิ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของบุคคลหรือสังคมนั้นๆ สังคมพหุวัฒนธรรมมีอัตลักษณ์สำคัญ คือ การอยู่ร่วมกันของผู้คนท่ามกลางความหลากหลายอย่างกลมกลืน ซึ่งความหลากหลายที่ปรากฎในสังคมพหุวัฒนธรรม ได้แก่ เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ศาสนา/ความเชื่อภาษาวิถีการดำเนินชีวิตขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี จารีต จากความหลากหลายข้างต้น ทำให้สังคมพหุวัฒนธรรมมีความยืดหยุ่นสูง และเกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน

การเคารพและการยอมรับความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง สมาชิกในสังคมควรเปิดใจให้กว้าง เพื่อยอมรับความแตกต่างที่เกิดขึ้น และพยายามปรับตัวให้เข้ากับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีความระมัดระวังในการกระทำและคำพูด ที่อาจนำมาซึ่งความแตกแยกขัดแย้ง ตลอดจนเคารพในหน้าที่ สิทธิเสรีภาพของกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมไทย จึงควรยึดแนวทางปฏิบัติดังนี้

เรียนรู้ความแตกต่างเปิดใจให้กว้าง พร้อมรับสิ่งใหม่ศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ภาษา ของชนกลุ่มอื่น ผ่านแหล่งความรู้ที่หลากหลาย และควรศึกษา ด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน

ยึดมั่นในขันติธรรมมีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างปรับวิธีคิดและท่าทีให้เป็นกลาง สอดคล้องกับสภาพสังคมแห่งความหลากหลาย

เคารพและให้เกียรติต่อความแตกต่างของเพื่อนร่วมสังคม โดยไม่เยาะเย้นถากถาง หรือลบหลู่ดูหมิ่น ความเป็นอัตลักษณ์ของกันและกัน

คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมีความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติหรือให้สิทธิพิเศษเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ แก่เพื่อนร่วมสังคม ปฏิบัติตามหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของตน โดยไม่ไปละเมิดหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น ...

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

ท.ทหารอดทนผจญน้ำท่วม

ท.ทหารอดทนผจญน้ำท่วม

ใครๆ ก็รู้ว่าบรรดาทหารหาญนั้น ถือเป็น 'รั้วของชาติ' เพราะหน้าที่หลักของพวกเขาก็คือการปกป้องอธิปไตยของประเทศ เรียกได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีศัตรูมารุกราน ทหารหาญทั้ง 3 เหล่าทัพก็จะเป็นด่านแรกที่ป้องกันภัยให้แก่ประชาชน

แต่บทบาทของกองทัพก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่อดีตกาลที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภยันตรายที่เกิดขึ้นภายใน กองทัพก็ดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งที่ไว้ใจได้มากที่สุด

ดังเช่นในปัจจุบัน ที่ประเทศไทยต้องประสบกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เรื้อรังและร้ายแรง ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ศักยภาพและน้ำจิตน้ำใจของเหล่าทหารที่มีต่อประชาชนชาวไทย จริงอยู่ที่งานเหล่านี้ไม่ใช่งานหลักของพวกเขา แต่ภาพของทหารจากกองทัพไทยทั้ง 3 เหล่าทัพ ตั้งแต่พลทหารวัยรุ่นจนถึงผู้บังคับบัญชาที่ออกมาช่วยเหลือและบริการประชาชน กลับเป็นภาพที่พบเห็นได้มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถสายพานลุยน้ำสูงเข้าพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย การออกแจกจ่ายสิ่งของหรือจะเป็นการก่อกระสอบทราย สร้างคันดินกั้นน้ำ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นงานหนักแค่ไหน ชายชาติทหารเหล่านี้ก็อาสาเข้ามาทำอย่างไม่เกี่ยงงอน และการทำงานอย่างสู้ตายถวายชีวิตของทหาร ก็ทำให้ทหารบางคนต้องเสียชีวิตไปจริงๆ

ตัวอย่างเช่น พลทหารสิทธิศักดิ์ ขันธประณีต ที่เสียชีวิตจากการโดนไฟดูดหลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดน่าน หรือกรณี สิบตรี ธีรภัทธ์ เอมกฤษ ก็เสียชีวิตด้วยการพลัดตกจากรถยนต์ขณะปฏิบัติหน้าที่ และล่าสุดก็คือกรณีเรือท้องแบนของทหารค่ายจิระประวัติล่ม เป็นเหตุให้ จ่าสิบเอกวสันต์ ธันนิธิ ซึ่งเป็นคนขับเรือจมน้ำสูญหาย และพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา

แต่กระนั้น ทหารเหล่านี้ก็ยังไม่ท้อ นั่นทำให้ประชาชนพอใจกับการทำงานของทหารเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากผลสำรวจจากนิด้าโพล (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ที่ระบุว่าประชาชนให้พึงพอใจความช่วยเหลือจากทหารมากที่สุด ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับมีคะแนนอยู่อันดับท้ายๆ คือมากกว่ากลุ่มดารานักแสดงอยู่นิดเดียว

น้ำท่วมเมื่อไหร่ ยังเห็นทหารให้อุ่นใจ

การทำงานสู้น้ำท่วมของทหารครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อย้อนกลับไปมองในอดีต ประเทศไทยก็ได้ผ่านอุทกภัยครั้งใหญ่น้อยมาแล้วก็หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งประชาชนก็มักจะเห็นภาพของเหล่าทหารไปลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอยู่เสมอ

นอกจากความสม่ำเสมอแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างที่ทหารมีก็คือศักยภาพในการช่วยเหลือ เนื่องเพราะกองทัพมีปัจจัยพร้อม ทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ โดยในส่วนของกำลังพลนั้น ทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ทั้งทหารเรือ ทหารอากาศ และทหารบก ล้วนมีฐานประจำการอยู่ตามแต่ละภูมิภาคของประเทศอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นกับจังหวัดใดภูมิภาคใดก็จะสามารถลงพื้นที่ได้ทันท่วงที บวกกับระบบทหารที่มีความเป็นระเบียบ มีการฝึกฝนวินัยอย่างเคร่งครัด ทำให้การบริหารจัดการกำลังพลเป็นไปอย่างไม่สับสนและปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่

ในส่วนของยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็ถือว่าพร้อม เพราะของที่ทหารมีสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างสารพัดประโยชน์ อาทิ รถวางสะพานที่สามารถใช้สร้างสะพานได้แบบทันทีในกรณีสะพานขาดและต้องเดินทางผ่านอย่างฉุกเฉิน, รถบรรทุกทางทหารหรือที่เรารู้จักกันว่า รถจีเอ็มซี ที่สามารถลำเลียงความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่, รถเกราะหรือรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกที่สามารถบุกตะลุยไปในพื้นที่น้ำท่วมขังได้, เรือขนาดต่างๆ เช่น เรือยกพลขึ้นบก หรือเรือระบายพลขนาดเล็ก ที่เป็นยานพาหนะแสนคลาสสิกยามน้ำท่วม และเครื่องบินลำเลียง หรือเฮลิคอปเตอร์ ที่ลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปแจกจ่ายพร้อมลำเลียงผู้ประสบภัยกรณีเร่งด่วน เป็นต้น

ดังนั้น แม้ทหารจะไม่เคยออกมาพูดว่า 'เอาอยู่' แต่จากการทำงานที่เป็นระเบียบและเข้มแข็งสุดความสามารถ ก็สามารถสร้างความอุ่นใจให้แก่คนในพื้นที่ประสบภัยได้มากกว่าคนที่แถลงการณ์ในทีวี

ทหารไทยกับมหาอุทกภัย ’67 จังหวัดเชียงราย

ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานในปัจจุบัน ทหารไทยก็ยังคงเป็นทัพหน้าและที่พึ่งของประชาชนได้อย่างดี ซึ่งผลงานก็มีให้เห็นกันได้แบบไม่ต้องโฆษณา ซึ่งเหล่าทหารได้อากาศใช้เฮลิคอปเตอร์ หย่อนเครื่องใช้อุปโภค บริโภคร์ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปด้วยเรือเล็ก ซึ่งในการทำงานช่วยผู้ประสบภัยนั้น ทหารก็ได้ตระเตรียมแผนงานไว้เป็นอย่างดี

นโยบายพร้อมฝ่ายปฏิบัตินั้น ‘ยิ่งกว่าพร้อม’

จะเห็นได้ว่ากองทัพได้มีการทำงานในเชิงนโยบายอย่างเต็มที่ และในภาคของการปฏิบัติงาน ทหารชั้นผู้น้อยก็ให้ใจกับการงานตรงหน้าแบบเต็มร้อย “รู้สึกภูมิใจครับ ภูมิใจว่าได้มาช่วยประเทศ ช่วยชาวบ้านให้ผ่านวิกฤตไปได้ มีของขาดของไม่พอเขาก็ช่วยกันหลายฝ่าย ก็เห็นเขาเอามาให้กันเยอะ ชาวบ้านเขาก็ดีใจว่าทหารก็มาช่วย แล้วเห็นหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกัน” พลทหารอนันตชัย ฯ ถ่ายทอดความรู้สึกหลังได้ร่วมลงพื้นที่น้ำท่วมกับพี่น้องทหารอีกหลาย ๆ นาย

และเมื่อถามถึงความเหนื่อยหนักของงาน ก็ได้รับคำตอบที่ไม่ต่างกันนัก เพราะแม้พวกเขาจะเหนื่อยกาย แต่เมื่อเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านชายชาติทหารอย่างเขาก็พร้อมจะสู้ต่อ

“ก็มีเหนื่อยมั่งไม่เหนื่อยมั่งสลับกันไป แต่ชาวบ้านมีการตอบรับดีมาก แล้วชาวบ้านก็มาช่วยกันด้วยครับ ...ดีใจครับ ที่ได้มาช่วยชาวบ้านครับ” พลทหารมโณพัศ ฯ แสดงความรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ ทำนองเดียวกับ จ่าสิบตรีสุภาพ สุใจบาล ที่เปลี่ยนความสงสารเป็นแรงผลักดันในยามที่กายอ่อนล้า

“ตอนลงพื้นที่ ผมมีความรู้สึกหลากหลายมาก บางทีก็สงสารที่เห็นคนแก่เดินลุยน้ำ ซึ่งเราก็ได้ไปรับส่ง และพอเห็นความลำบากของคนอื่นมากๆ เข้า ถึงแม้เราจะเหนื่อยอยู่แต่พอไปช่วยเขา มันก็หายเหนื่อยไปเลย ผมดีใจนะที่เห็นคนไทยยังมีน้ำใจให้กัน”

เสียงสะท้อนจากสหายร่วมรบ

ถ้าจะเปรียบมหาอุทกภัยครั้งนี้เป็นศึกที่เข้าล้อมกรุง เหล่าอาสาสมัครคนไทยผู้มีจิตอาสาคงเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมรบกับเหล่าทหารกล้า ที่พร้อมใจมุ่งหน้าลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อย่างไม่ย่อท้อ “ทหารเขาเข้ามาช่วยกรอกกระสอบทราย มาช่วยเรื่องการคมนาคมที่สำคัญมาก เพราะว่าทหารเป็นหน่วยงานเดียวที่มีเครื่องมือสามารถใช้งานได้ในสภาวะแบบนี้ พวกจีเอ็มซีอะไรพวกนี้” เสียงชาวบ้านผู้ประสบภัย กล่าวชื่นชม

“อย่างปกติก็จะออกสำรวจระดับน้ำอยู่แล้ว ถ้าตรงไหนมีทหารอยู่ก็จะรู้สึกว่ามันไม่ร้าง มันยังอุ่นใจ เวลาไปดึกๆ ก็จะน่ากลัวต้องไปกันเยอะๆ ต้องพกมีดป้องกันตัว แต่ตรงด้านหลังที่มีทหารดูแลตลอดก็จะไม่น่ากลัวเลย”

จริงอยู่ ที่งานเหล่านี้มันเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่กองทัพต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่จากการทำงานที่ฉับไว รวดเร็วเข้มแข็ง ก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กล่าวถึงและชื่นชม ถึงน้ำจิตน้ำใจ และมันก็อดไม่ได้ที่จะนำการปฏิบัติงานที่เข้มแข็งของทหาร ไปเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ตลอด 4 - 5 เดือนที่ผ่านมากลับไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากการสร้างความสับสนด้านข้อมูลข่าวสาร และแสดงชั้นเชิงในการเล่นเกมการเมืองให้ประชาชนดู

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567

การเสียชีวิตแบบชะฮีด

การเสียชีวิตแบบชะฮีด

นิยามคำว่า “ชะฮีด” และความหมาย

คำว่า “ชะฮีด” มาจากคำกริยาในภาษาอาหรับว่า ชะฮิด้า (شَهِدَ) หมายถึง บอกข่าว ที่แน่นอน หรือมาจากคำกริยาว่า ชะฮุด้า (شَهُدَ) หมายถึง เป็นพยานยืนยัน

มีคำนามร่วมกันว่า ชะฮาดะฮฺ (شَهَادَة) ซึ่งมีความหมายว่า ข่าวที่แน่นอน, การสาบาน, การเสียชีวิตในวิถีทางของ พระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์(ซ.บ.) เป็นต้น

ในกรณีหลังนี้ เรียกผู้ที่เสียชีวิตในวิถีทางของ พระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์ (ซ.บ.) ว่า “ชะฮีด” (شَهِيد) มีรูปพหูพจน์ว่า ชุฮะดาอฺ (شُهَدَاء)

(อัลมุนญิด ฟิลลุเฆาะฮฺ วัลอะอฺลาม ,หน้า 406;2002)

นักวิชาการได้อธิบายถึงเหตุที่เรียกผู้เสียชีวิตในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์(ซ.บ.) ว่า “ชะฮีด” เอาไว้หลากหลาย ดังนี้.-

1) อัลอัซฺฮะรีย์ กล่าวว่า : (เหตุที่เรียกเช่นนั้น) เพราะอัลเลาะห์(ซ.บ.) และท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ยืนยัน (หรือรับรอง) สวนสวรรค์ แก่บุคคลผู้นั้น (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ ชัรฮุ้ลมุ่ฮัซฺซับ , อันนะวาวีย์ 1/330)

2) อันนัฎรฺ อิบนุ ชะมีล กล่าวว่า : ชะฮีด คือ ผู้มีชีวิตดำรงอยู่ เพราะบรรดาชะฮีดยังคงมีชีวิตอยู่ ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา (อ้างแล้วหน้าเดียวกัน)

3) นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เหตุที่เรียกผู้เสียชีวิตในวิถีทางของอัลเลาะห์(ซ.บ.) ว่า “ชะฮีด” นั้นเป็นเพราะ บรรดาม่าลาอิกะฮฺ (เทวทูต) แห่งความเมตตาได้มาปรากฏ ร่วมเป็นสักขีพยาน และถอดวิญญาณของผู้เป็นชะฮีดนั้น (กิตาบ อัลมัจญฺมูอฺ 1/330 , อัดดุรรุ้ลมุคต๊าร ; 1/848, อัลลุบ๊าบ ; 1/135, มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจญฺ ; 1/350) เป็นต้น

นักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดกลุ่ม ชาฟิอียะฮฺ ได้นิยามคำ “ชะฮีด” ว่าหมายถึง “บุคคล ที่เสียชีวิตจากชาวมุสลิมในการญิฮาด (สงครามปกป้องศาสนา) กับเหล่าผู้ปฏิเสธศาสนาอิสลาม (กุฟฟ๊าร) ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดจากบรรดาเหตุแห่งการสู้รบกับเหล่าผู้ปฏิเสธก่อนการสิ้นสุดสงคราม (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ ; 5/220) หรือ หมายถึง “ผู้ที่ถูกสังหารในการศึกสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องและเชิดชูธงชัยแห่งศาสนาอิสลามให้สูงส่ง” (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญี่ย ; 1/264)

---------------------------------------------------------------

ประเภทของผู้เสียชีวิตแบบชะฮีด

นักวิชาการได้แบ่งประเภทของผู้เสียชีวิตแบบชะฮีดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกนี้และโลกหน้า คือ ผู้ตายชะฮีดในสมรภูมิ (เพื่อปกป้องและเชิดชูธงชัยแห่งศาสนาอิสลามให้สูงส่ง) ข้อชี้ขาดของโลกนี้คือ ไม่มีการอาบน้ำศพ และไม่มี การละหมาดให้ตามทัศนะของปวงปราชญ์ (ญุมฮูรุ้ลอุละมาอฺ) และข้อชี้ขาดของโลกหน้านั้น คือ ผู้ตายชะฮีดนั้นจะได้รับผลานิสงค์เป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นผู้ตายชะฮีดที่ได้รับภาคผลของการเป็นชะฮีด (ชะฮาดะฮฺ) ที่สมบูรณ์ (อัลฟิกฮุล อิสลามี่ย์ ว่า อะดิ้ลล่าตุฮู ; วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์, 2/559 , ดารุ้ลฟิกร์ , ดามัสกัส ; 1989)

2. ชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกนี้เท่านั้น คือ ตามความเห็นของนักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดกลุ่มชาฟิอียะฮฺนั้นคือ ผู้ที่ถูกสังหารในสมรภูมิกับกลุ่มชนผู้ปฏิเสธด้วยสาเหตุของสมรภูมินั้น โดยผู้นั้นได้ยักยอกส่วนของทรัพย์สงคราม (ฆ่อนีมะฮฺ) หรือผู้นั้นถูกสังหารในสภาพที่เขาหนีทัพ หรือผู้นั้นได้ทำการศึกอันเป็นไปเพื่อการโอ้อวด (ริยาอฺ) เป็นต้น (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/225)

3. ชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) เท่านั้น หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้เสียชีวิต ด้วยเหตุของการทำสงครามกับเหล่าชนผู้ปฏิเสธ (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/224) มีข้อชี้ขาดในการจัดการศพเหมือนกับผู้ที่มิใช่ชะฮีด กล่าวคือ มีการอาบน้ำศพให้ ห่อศพ ละหมาดให้และฝังศพ (อิอานะตุดตอลิบีน ; 2/124) ผู้ตายชะฮีดในประเภทนี้จะได้รับผลานิสงค์ในโลกหน้า และมีกรณีการเสียชีวิตหลายลักษณะ อาทิเช่น สตรีที่เสียชีวิตในการคลอดบุตร, ผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากท้องเดิน (ท้องร่วง) , ผู้ที่เสียชีวิตในคราที่เกิดโรคระบาดใหญ่ (ตออูน) , ผู้ที่จมน้ำตาย , ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุอาคารถล่มทับ , ผู้เสียชีวิตเนื่องจากไฟคลอก , ผู้ทีเสียชีวิตในสภาพทีแสวงหาความรู้ และผู้ที่ ถูกสังหารโดยอธรรม เป็นต้น (อิอานะตุดตอลิบีน ; 2/124, อัลฟิกฮุล อิสลามี่ย์ ; 2/560, กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/224)

--------------------------------------------------------------------------------

การจัดการศพของผู้เป็นชะฮีด

กรณีของผู้ที่เป็นชะฮีดในประเภท ข้อที่ 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นชะฮีดในข้อชี้ขาดของโลกหน้าเท่านั้น ให้จัดการศพเหมือนกับผู้เสียชีวิตในกรณีปกติ กล่าวคือ มีการอาบน้ำศพ, ห่อศพ, ละหมาด และฝังศพ (อัลฟิกฮุลอิสลามี่ย ; 2/561 , กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/224)

กรณีของผู้ที่เป็นชะฮีดในประเภท ข้อที่ 1 และข้อที่ 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นชะฮีดเนื่องจาก การทำสงครามเพื่อปกป้องและเชิดชูธงของศาสนา ปวงปราชญ์ (ญุมฮูรุ้ลอุละมาอฺ) ไม่นับรวมกลุ่มฮะนะฟียะฮฺ ซึ่งมีความเห็นแตกต่าง ถือว่า ไม่ต้องมีการอาบน้ำศพ การห่อศพ และการละหมาดให้แก่ศพ แต่ให้ขจัดสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นนอกจากโลหิตของผู้ตายชะฮีดเท่านั้น (อัลฟิกฮุลอิสลามี่ย์ ; 2/558) ในส่วนของมัซฮับชาฟิอีย์นั้น ถือเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ในการอาบน้ำศพและการละหมาดให้แก่ศพของผู้ที่ตายชะฮีด (กิตาบ อัลมัจญมูอฺ 5/221) ส่วนการห่อศพและฝังศพ ผู้ที่ตายชะฮีดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) (อิอานะตุดตอลิบีน ; 2/123 ,อาชียะฮฺ อัชชัยคฺ อิบรอฮีม อัลบัยญูรีย์ ; 1/466)

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567

ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน

ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน

นับตั้งแต่กระสุนนัดแรกลั่นออกมาในปี 2547 ณ ปลายด้ามขวานของประเทศไทยเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงไม่มีวี่แววคลี่คลายลง ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดต่างเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เราจึงได้เห็นการเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอยู่บ่อยครั้ง โดยหวังว่าจะนำมาสู่การแสวงหาสันติภาพในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ส่งผลแค่การเมืองในภาพใหญ่ที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง แต่ยังส่งผลถึงการแก้ปัญหาในชายแดนใต้ที่ถูกปรับเปลี่ยนอย่างมากด้วยเช่นกัน ทั้งเปลี่ยนคณะเจรจาจากพลเรือน มาเป็นคณะทหาร หรือเปลี่ยนการใช้คำจากการเจรจา ‘สันติภาพ’ มาเป็น ‘สันติสุข’ ซึ่งเป็นคำที่รัฐบาล คสช.นิยามขึ้น เพื่อวางกรอบกระบวนการพูดคุยกับผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐว่า การเจรจาจะไม่พูดคุยเรื่องการเมืองการปกครอง แต่เน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย

การดำเนินการลักษณะเช่นนี้ทำให้การเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างดูจะไม่ราบรื่น จนกระทั่งกลุ่ม ‘ BRN ’ ออกแถลงการณ์ขอยุติการพูดคุยชั่วคราว เนื่องจากต้องการรอรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้ง ส่งผลให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงเป็นเรื่องคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตัวละครหลักที่สังคมสนใจในประเด็นดังกล่าวมีแต่ตัวละครในการเมืองภาพใหญ่ อย่างรัฐไทย และกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่หลายครั้งสังคมกลับลืมตัวละครตัวเล็กตัวน้อย อย่างผู้คนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ว่าพวกเขาหวังและฝันถึงสันติภาพอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่าง ‘เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ผู้ต้องเติบโตภายใต้สังคมที่มีทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

อาสาพาไปฟังเสียงของเยาวชนชายแดนใต้ซึ่งพวกเขาเองต่างก็มีความหลากหลายทั้งความคิด ความเชื่อ ค่านิยม เพศ หรือศาสนา ว่าพวกเขามีความคิด ความหวัง และความฝันเกี่ยวกับพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ อย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไร แต่เพื่อยืนยันว่าเสียงของพวกเขามีคุณค่าที่จะรับฟังอย่างจริงใจ

ภายใต้ความหวังว่า หลังจากนี้เสียงของเยาวชนชายแดนใต้จะไม่ถูกกลบด้วยความรุนแรง และความหวัง ความฝันของพวกเขาจะไม่ถูกกลบด้วยกระสุนปืนและเสียงของระเบิดอย่างเช่นผ่านมา

เมื่อความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดนั้นเกิดอย่างไม่เลือกศาสนา

หากลองตั้งคำถามว่า ‘สาเหตุของปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร’ เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบของใครหลายคนคงหลีกหนีไม่พ้นประเด็นความขัดแย้งทางด้านศาสนา ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลาม ‘ความขัดแย้งทางด้านศาสนา’ เป็นเหมือนคำอธิบายของรัฐส่วนกลางที่ใช้อธิบายสถานการณ์ชายแดนใต้ และใช้มาอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา จนหลายครั้งรัฐส่วนกลางมองเลยเถิดไปถึงความต้องการ ‘การแบ่งแยกดินแดน

ฟรอยด์ (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 19 ปี นับถือศาสนาพุทธตั้งแต่กำเนิด หากมองจากจำนวนประชากรแล้วเขาคงถูกนับว่าเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ประโยคดังกล่าวถูกยืนยันผ่านจำนวนนักเรียนในโรงเรียนที่ฟรอยด์กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งฟรอยด์เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ‘คนเดียว’ ในโรงเรียน

หลายคนมองว่าการเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น เหมือนกำลังตกอยู่ในความอันตราย แต่ในความจริงนั้นทุกคนต่างหากต่างต้องพบเจอสถานการณ์เดียวกัน เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา พวกเราต่างไม่รู้ว่า ใครเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว อย่าบอกว่าผู้ก่อการร้ายมีแต่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทุกศาสนาก็ต่างมีคนดีและไม่ดีทั้งนั้น”

ด้วยฟรอยด์ ฯ เป็นนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธคนเดียวในโรงเรียน ทำให้มีทหารเข้ามาพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เข้ามาถามว่ารถที่ฟรอยด์ ฯ ขับสีอะไร ป้ายทะเบียนอะไร โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับทำให้ฟรอยด์ ฯ รู้สึกไม่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

“ช่วงสองปีที่ผ่านมา ทหารจะมาเป็นประธานพิธีในงานกิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน มีครั้งหนึ่งเหมือนพวกเขาคุยกันและรู้ว่าผมเป็นชาวพุทธคนเดียวในโรงเรียน หลังจากนั้นก็ยกทหารเกือบ 20 คนมาเยี่ยมถึงบ้านของผม ผมก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น”

ฟรอยด์ ฯ ยังเล่าต่อว่า หลายโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักติดกับค่ายทหาร จึงต้องเสียสละพื้นที่ใช้สอยของโรงเรียนให้กองทัพใช้ร่วมกัน แต่หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หนึ่งในเป้าหมายคือพื้นที่ของทหาร ทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่อันตรายด้วย แต่ไม่มีใครสามารถออกมาเรียกร้องได้เพราะพื้นที่ของโรงเรียนหลายแห่งก็เป็นพื้นที่ของรัฐบาล

เมื่อถามถึงความฝันในชีวิตของฟรอยด์ ฯ เขาเล่าว่าความฝันของเขาคือการเป็นทหาร เพราะเขาหวังจะเข้าไปเปลี่ยนระบบการทำงานของกองทัพภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“หากถามถึงความฝันของผมวันนี้เหมือนผมอยากเป็นอาชีพที่ผมไม่ชอบ พูดให้เข้าใจคือผมไม่ชอบการทำงานของทหาร ทุกวันนี้เขาอ้างว่าต้องตั้งด่านเพื่อความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาด่านตรวจมักเลือกปฏิบัติหรือกระทำที่ไม่เหมาะสม ขนาดผมยังเคยโดนคุกคามตอนเข้าไปในด่าน เขาถามผมว่า ‘น้องมีไลน์ไหม ขอเบอร์ได้ไหม’ ผมเลยไม่ชอบการทำงานของทหารและอยากเข้าไปเปลี่ยนระบบดังกล่าว

สำหรับประเด็นปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ฟรอยด์ ฯ มองว่าแม้สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนภาคใต้จะมาจากประเด็นเรื่องศาสนา แต่ยังมีสาเหตจากปัญหาอื่น เช่น ความต้องการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

เรื่องแบ่งแยกดินแดน ผมไม่เห็นด้วยเพราะผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกคนล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน การแบ่งแยกออกเป็นรัฐใหม่อาจจะยุ่งยาก และผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรืออิสลามต่างต้องการอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่อยู่ภายใต้คำว่าประเทศไทย

ด่านตรวจ – ทหารลาดตระเวน – ความรุนแรง ภาพแห่งความปกติที่ไม่ปกติ

“เด็กในพื้นที่สามจังหวัดส่วนใหญ่ เกือบจะร้อยละ 90 มีฐานะจนมาก ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ดีเท่าไหร่” – นี่คือสิ่งแรกที่พลอย (นามสมมติ) เล่าให้ฟัง

พลอย ฯ นักศึกษาวัย 25 ปี ตัดสินใจเก็บกระเป๋าจากบ้านเข้ามาในกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจของเธอ เธอตอบทันทีเลยว่า “ครอบครัวของเราไม่ได้มีฐานะที่ดีเช่นกัน”  คำตอบดังกล่าวชวนให้คนฟังรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก เพราะโดยปกติ การมาเรียนในพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่น ย่อมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการเรียนในพื้นที่ เธอจึงอธิบายต่อว่า การเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ทำให้เธอสามารถหางานทำระหว่างเรียนได้

“แม้ว่าเราอยากเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านจริง แต่ต้องอย่าลืมว่าเราต้องจ่ายค่าเทอม และเรารู้สึกว่าพ่อแม่เราที่เป็นเกษตรกร เขาไม่ได้มีรายได้มากพอจะส่งเสียเราได้ แต่ถ้าเราเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิด มันไม่มีค่าเทอม เราจึงตัดสินใจเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ”

ความแตกต่างหนึ่งที่พลอย ฯ รู้สึกหลังออกจากพื้นที่ชายแดนใต้สู่เมืองหลวง คือเธอได้เปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ได้พบผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ช่วงเริ่มแรกนั้นก็ได้ยินคำถามที่บั่นทอนจิตใจ อย่างเช่น “เธอมาจากสามจังหวัด แล้วพกระเบิดมาไหม” หรือแม้กระทั่งเมื่อเธอสมัครงาน บางที่ก็ไม่อนุญาตให้สวมฮิญาบ

คนอื่นๆ มักมองว่าคนมุสลิมที่มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่คนทั่วไป” คือความรู้สึกของพลอย ฯ หลังจากเข้ามาในพื้นที่อื่น ที่ไม่ใช่ ‘บ้าน’

เมื่อชวนเธอ มองย้อนไปยังอดีตที่ผ่านมาก่อนเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่าเธอมีความทรงจำร่วมกับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างไร – “รู้สึกปกติมากเลย” นี่คือคำตอบของเธอต่อคำถาม

“เรารู้แค่ว่ามีด่านเยอะ มีทหารเดินตระเวนตั้งแต่เช้าเป็นภาพแห่งความปกติ หรือบางวันตื่นมาแล้วรู้ว่าเกิดเหตุการณ์การระเบิดที่ตำบล มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแค่นั้น แล้วเราก็ไปโรงเรียนตามปกติ เรารู้สึกว่าความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ในช่วงวัยเด็ก

“คงเป็นเพราะวัยมั้งคะ ตอนเราเรียนมัธยมศึกษา เราก็ไม่ได้สนใจอะไรเลยนอกจากเรื่อง เรียน เรียน และเรียน จนกระทั่งมาเรียนมหาวิทยาลัยเนี่ยแหละ เราได้เข้าร่วมฟังการเสวนา ได้พบเจอผู้คน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้รู้ว่าในความจริงแล้ว พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นมีปัญหาเยอะมาก โดยที่เราไม่เคยมองเห็นมันเลย

“หากมองง่ายๆ เรามาอยู่ที่นี่ (กรุงเทพฯ) เราแทบจะไม่เห็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน หรือการตั้งด่านของทหารเลย แต่พอกลับไปที่บ้าน ทุกอย่างในพื้นที่ชายแดนใต้ก็เป็นภาพเดียวกันกับภาพที่เราเห็นตอนเด็กๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย มิหนำซ้ำด่านทหารอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ”

สำหรับพลอย ฯ ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่เพียงปัญหามิติความมั่นคงอย่างเดียว ปัจจุบันเธอยังมองเห็นว่าทรัพยากรในพื้นที่บ้านเกิดของเธอ จากที่อุดมสมบูรณ์กำลังถูกทำให้สูญหายและกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น กล่าวคือเริ่มมีนายทุนที่ใช้ความไม่ปกติภายในพื้นที่เข้ามาหากินและขูดรีดทรัพยากรภายในพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ จนทำให้พื้นที่สามจังหวัดเหมือนถูกครอบโดยอำนาจที่มองไม่เห็นภายใต้ข้ออ้างเพื่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’

เมื่อถามถึงความฝันของพลอย ฯ เธอเล่าว่า ‘นักวิจัยทางการเกษตร’ คือความฝันทางอาชีพการงานของเธอ เพราะครอบครัวทำอาชีพเป็นเกษตรกร เธอไม่คาดหวังอะไรนอกจากได้ทำงานในพื้นที่และมีรายได้มั่นคงเท่านั้น แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้น ก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากภายในพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้มีองค์กรหรือบริษัทรองรับให้คนในพื้นที่ทำงานอย่างเพียงพอ

“เราอยากกลับไปทำอะไรก็ได้เพื่อให้พ่อและแม่ไม่เหนื่อย ทุกวันนี้เริ่มกลับมาทบทวนแล้วว่า หรือต้องหางานทำที่กรุงเทพฯ เก็บเงินให้ได้ก้อนหนึ่งแล้วจึงกลับไปอยู่บ้าน เหมือนกับหลายๆ คนที่ทยอยขึ้นมาทำงานในกรุงเทพมหานครมากขึ้น เยาวชนสามจังหวัดต้องดิ้นรนตัวเองเพื่อให้ตนเองมีเงินเก็บ”

อย่างไรก็ตาม พลอย ฯ ยังมีความหวังในการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่าน‘พลังของเยาวชน’ เธอมองว่าปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ต่างเจ็บปวดจากที่ผ่านมา ส่งผลให้พวกเขาเริ่มตื่นตัวทางการเมืองและออกมาเรียกร้องสิ่งที่ควรจะเป็นมากขึ้น

“เด็กที่เติบโตมากับความเจ็บปวด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือไม่ ต่างก็มีความรู้สึกร่วมกันว่าเราถูกผลกระทบจากปัญหาสามจังหวัด ภาพของความรุนแรงทำให้พวกเขาฮึดสู้ ไม่นิ่งนอนใจ และไม่ยอมถูกกดขี่จากความไม่ปกติเช่นนี้

“หากวันนี้รัฐไทยยังสร้างบาดแผลภายในพื้นที่ หรือสร้างความเจ็บปวดให้แก่เยาวชนหรือใครก็ตาม เรารู้สึกว่าผู้คนจะฮึดสู้มากขึ้น ต่อให้คุณจะออกแบบกฎหมายอะไรลงมาบังคับใช้ในพื้นที่ พวกเขาก็จะลุกขึ้นสู้พวกคุณอยู่ดี” พลอย ฯ กล่าว

กำปงกอและ สะบารัง

กำปงกอและ  “สะบารัง”

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กดาอาเนาะญอ” แปลว่า “ตลาดมะพร้าว”

เรือกอและเดิมเป็นเรือที่ชาวพื้นเมืองปัตตานีใช้เป็น พาหนะในการเดินทางและทำการประมงยามว่างจากการประกอบอาชีพในยามคลื่นลมสงบ และเวลามีงานนักขัตฤกษ์ของท้องถิ่นชาวเมืองปัตตานี จะนำเรือกอและเข้ามาใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ โดยนำมาจัดแข่งขันพายเรือ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว

ที่จังหวัดปัตตานีในสมัยโบราณ มีหมู่บ้านหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่ต่อเรือกอและและมีเรือกอและมากที่สุด จนชาวบ้านทุกคนเรียกว่าหมู่บ้านกำปงกอและ ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านเรือกอและ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน “สะบารัง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กดาอาเนาะญอ” แปลว่า “ตลาดมะพร้าว

ซึ่งเป็นชื่อที่ได้ใหม่เมื่อภายหลังจากความนิยมในการต่อเรือกอและลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ติดแม่น้ำปัตตานีจึงมีต้นมะพร้าวมากพอๆ กับมีเรือที่จอดอยู่ตามชายฝั่งตลอดแนวแม่น้ำ

สมัยก่อนที่จังหวัดปัตตานีมีการแข่งขันเรือกอและในวันฮารีรายอ และวันรายอฮัจยี เป็นประจำทุกปี ต่อมาความนิยมในการต่อเรือกอและขยายไปเกือบทุกจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล นับตั้งแต่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย บริเวณอำเภอหัวไทร เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชเรื่อยลงมายังอำเภอเทพาจังหวัดสงขลา และอำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี ของจังหวัดปัตตานี ตลอดอีกหลายอำเภอในจังหวัดนราธิวาส (มัลลิกา คณานุรักษ์. 2544, 71 )

เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงาม นิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ เรือกอและมี ๒ แบบคือ แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว ขนาดของเรือแบ่งเป็น ๔ ขนาด โดยยึดความยาวของลำเรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง คือ ขนาดใหญ่ยาว ๒๕ ศอก ขนาดกลางยาว ๒๒ ศอก ขนาดเล็กยาว ๒๐ ศอก และขนาดเล็กมากเรียกว่า "ลูกเรือกอและ" ยาว ๖ ศอกโดยประมาณ และด้านนอกซึ่งค่อนขึ้นไปทางขอบเรือ ทำเป็นขอบนูนออกมาข้างนอก ลักษณะเป็นกันชนของเรือยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "ปาแปทูวอ" ที่ตอนล่างของปาแปทูวอทำรอยแซะเนื้อไม้ด้วยกบให้เป็นแนวยาวตลอดลำเรือเรียก ว่า "กอมา" เรือทั้งลำ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า " ลูแว" ส่วนท้ายเรียกว่า "บูเระแต" ถ้าแบ่งออกเป็น  ๓ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ปาลอ" ส่วนกลาง (ลำเรือ) เรียกว่า "ตือเราะ" ส่วนท้ายเรียกว่า "ปูงง"

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567

อส.หญิง ผู้รักชาติ โจรใต้ผวากลัวเสียมวลชน

อส.หญิง ผู้รักชาติ โจรใต้ผวากลัวเสียมวลชน

อส. ย่อมาจาก กองอาสารักษาดินแดน เป็นกำลังกึ่งทหาร เพื่อสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ เป็นกำลังสำรองของฝ่ายทหารเมื่อมีการร้องขอทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม โดยการรับสมัครราษฎรที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการและผู้บัญชาการโดยตำแหน่ง

          พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ได้กำหนดบทบาทภารกิจของสมาชิก อส. ไว้ 6 ประการ คือ

          1.บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก

          2.ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

          3.รักษาสถานที่สำคัญและ การคมนาคม

          4.ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว

          5.ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก

          6.เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น ภารกิจในปัจจุบันที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

          นอกจากนั้นแล้ว สมาชิก อส. ยังมีบทบาทหน้าที่ในด้านต่างๆ อีกมากมาย อาทิเช่น ด้านการบริการประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดระเบียบสังคม การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

          เราจะเห็นได้ว่าคนในพื้นที่ 3 จชต. ทั้งชายและหญิง สนใจที่จะเข้ามาเป็น อส. จำนวนมาก ซึ่งเป็นทั้งคนไทยพุทธ-ไทยมุสลิม เพราะการทำงานของ อส. ต้องคลุกคลีกับชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ การพูดภาษาพื้นบ้าน ก็จะทำให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ได้รับทราบปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหา นั้นๆ ไปด้วยกัน

          ที่ผ่านมากลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนมักจะลอบทำร้าย อส. เหล่านี้ เพื่อลดขวัญกำลังใจและเป็นการเตือนไม่ให้คนในพื้นที่ไปสมัครเป็น อส. เพราะกลัวจะเสียมวลชน แต่ก็ยังมีผู้คนไปสมัครเป็นจำนวนมากเหมือนเดิมเพราะทุกคนต้องการมารับใช้ชาติ รับใช้พี่น้องประชาชน และร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จชต. ให้หมดลง ผิดกับกลุ่มขบวนการที่คอยแต่จะเข่นฆ่าผู้คน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ก่อเหตุวางระเบิด ลอบสังหาร ฆ่าเด็ก ฆ่าผู้หญิง แล้วเรียกตัวเองว่านักรบ พากันยกย่องเชิดชู หลงผิดไปกันใหญ่ หญิงไทยมุสลิมเหล่านี้สิ นักรบตัวจริง เขาจะต่อสู้เพื่อประเทศ เพื่อประชาชนอันเป็นที่รัก กล้าหยิบปืนต่อสู้กับโจรร้ายที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงแล้วมาก่อเหตุ หน้าไม่อายจริงๆ เสียดายที่เกิดมาเป็นผู้ชายเสียเปล่า ยังไม่กล้าเท่า อส.หญิง เหล่านี้เลย

          ไม่ว่าจะอย่างไรเชื่อว่าพี่น้อง อส.ทุกท่าน ล้วนมีจิตใจที่ฮึกเหิม กล้าเผชิญหน้ากับอันตรายทุกเมื่อ และทุกคนจะร่วมกันดูแล ปกป้องพื้นที่ 3 จชต. ให้กลับมามีความสงบสุขอีกครั้งได้ ขอเป็นกำลังใจครับ