รัฐไทยสนับสนุนความแตกต่างทางอัตลักษณ์สู่สันติ
ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม
โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทั้งด้านชาติพันธุ์
ภาษา และศาสนา การสร้างความเข้าใจระหว่างกันเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
บทบาทของศาสนาอิสลามและหน่วยงานภาครัฐจึงมีความสำคัญในการหล่อหลอมสังคมให้ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดระแวงหรือการแบ่งแยก
อิสลามไม่สนับสนุนความแตกแยก
ศาสนาอิสลามมีหลักการที่ชัดเจนในการห้ามการปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในหมู่มนุษย์
ไม่ว่าจะในมิติของศาสนา เชื้อชาติ หรืออุดมการณ์
อัลกุรอานได้กล่าวถึงความสำคัญของเอกภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในหลายบท
โดยเน้นย้ำว่าความแตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประสงค์
เพื่อให้มนุษย์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิใช่เพื่อก่อความขัดแย้ง "และจงยึดมั่นเชือกของอัลลอฮ์ทั้งหมด
และอย่าแตกแยกกัน..." (อัลกุรอาน 3:103)
ข้อความนี้สะท้อนเจตจำนงค์ของศาสนาอิสลามที่มุ่งส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมมนุษย์
การปลุกระดมด้วยถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง
การแยกแยะคนออกจากกันด้วยเชื้อชาติหรือศาสนา
ถือเป็นการละเมิดหลักศรัทธาอย่างชัดเจน
ศาสนาอิสลามยังกำชับว่า
ผู้ที่ทำลายความสงบในสังคม หรือผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ผ่านความขัดแยก
จะต้องได้รับการปฏิเสธจากชุมชน ผู้ศรัทธาจึงมีหน้าที่ในการส่งเสริมสันติภาพ
และยับยั้งการกระทำใดๆ ที่นำไปสู่ความเกลียดชัง
แม้บุคคลนั้นจะแสดงตนว่าเป็นมุสลิมก็ตาม
ความเข้าใจจากภาครัฐไทย
: สนับสนุนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์
ในด้านของภาครัฐไทย
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้
ได้มีพัฒนาการที่น่าสนใจในการสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของประชาชน
เจ้าหน้าที่จำนวนมากตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพและสนับสนุนความแตกต่าง
ไม่เพียงแค่ในเชิงวัฒนธรรม แต่รวมถึงความเชื่อและวิถีชีวิต
โครงการต่างๆ
ที่ส่งเสริมการใช้ภาษามลายูถิ่นในโรงเรียน
สนับสนุนเครื่องแต่งกายตามหลักศาสนาในหน่วยงานรัฐ
หรือการร่วมพิธีกรรมของชุมชนในฐานะผู้สนับสนุน
ล้วนเป็นภาพสะท้อนของความพยายามสร้างสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจ ไม่ใช่กำแพงแบ่งแยก
เจ้าหน้าที่รัฐที่มีแนวคิดเปิดกว้าง
มองเห็นว่าอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็น “ทุนทางสังคม” มากกว่าจะเป็น
“อุปสรรคต่อความมั่นคง” ทำให้สามารถวางนโยบายในลักษณะ “การพัฒนาเพื่อสันติภาพ”
มากกว่า “การควบคุมเพื่อลดความเสี่ยง”
การมีบทบาทเชิงบวกนี้
ช่วยลดแรงต่อต้านจากชุมชน เพิ่มความไว้วางใจ
และเปิดโอกาสให้ภาครัฐทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีอคติต่อศาสนาอิสลามหรือวิถีชีวิตของชาวมุสลิม
ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นบนฐานของ “ความเคารพซึ่งกันและกัน” ไม่ใช่แค่ “ความจำยอม”
การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ
สังคมไทยมีความหลากหลายเป็นพื้นฐาน
เจ้าหน้าที่รัฐจึงควรเป็นแบบอย่างของความเข้าใจอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ในขณะเดียวกัน
ผู้นำศาสนา และประชาชนที่มีศรัทธาควรส่งเสริมอิสลามในแบบที่ไม่สร้างกำแพง
ไม่ตัดสินผู้อื่น และไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรืออุดมการณ์สุดโต่ง
ความสันติสุขที่แท้จริงจึงไม่ได้เกิดจากความเหมือนกันทั้งหมด
หากแต่เกิดจาก “การอยู่ร่วมกันอย่างต่างอย่างเข้าใจ”
บทบาทของศาสนาและรัฐจะต้องเดินคู่กัน
เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความมั่นคงที่มีรากฐานจากหัวใจของประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น