วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ไอ้โม่งอยู่ที่ไหน ต่างฝ่ายต่างโทษกัน

 

🚩🚩วิวาทะ “มาเลย์-ไทย” ใครเตะสกัดกระบวนการสันติภาพใต้

เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ยิบในช่วงนี้ที่ชายแดนใต้ มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลไทยเร่งเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุข สันติภาพ ที่หยุดชะงักไปนาน และไร้ความคืบหน้า

โต๊ะพูดคุยสันติสุขฯ ยุติไปโดยปริยายในรัฐบาลชุดก่อนที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ทั้งๆ ที่เพิ่งฟื้นการพูดคุยขึ้นมาหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพูดคุยต้องสะดุด คือ การยอมรับแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ที่คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยไปยอมรับร่วมกับคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแผนปฏิบัติการที่รัฐไทยเสียเปรียบ จึงถูกวิจารณ์และขัดขวางจากบางฝ่าย

นับจากนั้นกระบวนการพูดคุยก็หยุดไป ขณะที่ฝ่ายไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จากอดีตนายกฯเศรษฐา สู่นายกฯแพทองธาร ชินวัตร แม้จะมาจากพรรคแกนนำเดียวกัน คือ พรรคเพื่อไทย แต่กระบวนการพูดคุยกลับไม่มีการสานต่อ

ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้ตั้งคำถามถึงผลสัมฤทธิ์ของยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ เพราะผ่านมา 21 ปี กลับไม่มีความคืบหน้าในการยุติความรุนแรงเท่าที่ควร จึงสั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยขีดเส้นกำหนดกรอบเวลาเอาไว้เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน รัฐบาลเผชิญปัญหาเรื่องการตัดไฟฟ้าและท่อน้ำเลี้ยงขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสร้างเมืองเศรษฐกิจอยู่บริเวณชายแดนไทยฝั่งประเทศเมียนมา ทำให้ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาหารือเพื่อสานต่อ

มีเพียงข่าวจาก “การหารือวงปิด” ที่มี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากรองนายกฯภูมิธรรม ให้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในระดับนโยบาย

ขณะที่ในพื้นที่เองมีแต่ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ และเป้าหมายของการก่อเหตุ คือเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานราชการอย่างชัดเจน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ จู่ๆ ก็มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายมาเลเซีย ออกมาแสดงทัศนะเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข สันติภาพชายแดนใต้ ที่หยุดชะงัก โดยอ้างว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มไม่อยากให้การพูดคุยเดินหน้าและประสบความสำเร็จ

คนที่พูดเรื่องนี้ ถือว่ามีน้ำหนักและต้องจับตา เพราะคือ ดาโต๊ะ สรี โมฮัมหมัด บิน ฮาจี ฮาซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ได้กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 6 ก.พ.58 โดยระบุตอนหนึ่งว่า มีคนบางกลุ่มในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย ไม่ต้องการให้กระบวนการสันติภาพสำเร็จ กลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุข

อย่างไรก็ดี คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ไม่ได้ระบุชัดว่ากลุ่มไหนที่ไม่อยากให้กระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จ

เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวในสื่อต่างประเทศและสื่อไทยบางแขนง ทำให้ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาชี้แจงว่า การพูดถึงเรื่องนี้ เชื่อว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียไม่ได้หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐไทย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนอยากให้พื้นที่สงบ มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนมีความปลอดภัยและมีความสุข ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยจึงมีความต้องการทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความสงบเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“อยากเรียนว่า ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มันซับซ้อน และไม่ได้มีแค่ปัญหาของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น มันมีเรื่องของภัยแทรกซ้อนด้วย ซึ่งมีมานานและเป็นปัญหาที่ซับซ้อน มีการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างผู้ก่อเหตุรุนแรงกับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย อย่างเช่น การหลบหนีหลังก่อเหตุ เขาต้องมีที่พักพิง ซึ่งเขาก็อาจจะไปพึ่งพากลุ่มอิทธิพล กลุ่มค้าของเถื่อน กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มค้าของผิดกฎหมาย กลุ่มเจ้าพ่อที่มีอิทธิพลพวกนี้ และมีการเลี้ยงดูกันอยู่”

พ.อ.เกียรติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่คนในรัฐบาลมาเลเซียพูดแบบนี้ สำหรับในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มาเลเซียอาจเพิ่งทราบข้อมูล ก็เป็นได้ เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว แต่มีภัยแทรกซ้อนเข้ามาผสมโรง ทำให้เหตุการณ์รุนแรงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตนายทหารที่เคยทำงานในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาหยุดยิงของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. จนทำให้มาเลเซียแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นเขตติดต่อกับไทยได้สำเร็จ กล่าวถึงคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียว่า อยากฝากถึงมาเลย์ ตนไม่รู้ว่าหมายถึงใครที่ขัดขวางกระบวนการพูดคุย แต่สำหรับตนในฐานะที่มีประสบการณ์ตรงในพื้นที่ บอกได้เลยว่า ปัญหาชายแดนใต้นั้น หากมาเลเซียมีความจริงใจช่วยเหลือ ส่งกลับกลุ่มที่หลบหนีไปพักพิงอยู่ในฝั่งมาเลเซียให้ทางการไทย ปัญหาก็น่าจะจบลงนานแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น