ชัยชนะของสันติวิธี•สันติสุขที่ปลายด้ามขวาน•
สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ยืดเยื้อมาจนกระทั่งปัจจุบัน ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
สูญเสียโอกาสในการพัฒนาทุกรูปแบบ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิต
เศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งความสูญเสียดังกล่าวล้วนเกิดจากการใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่ง
เผด็จการและก่อการร้ายควบคู่กับการเคลื่อนไหวบิดเบือนข้อเท็จจริง
แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และชี้นำทางความคิดในประเด็นการละเมิด
สิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค
4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
ได้บูรณาการทุกกลไกแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นเอกภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทาน
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางการเมืองนำการทหาร
โดยใช้หลักคิดพื้นฐานที่สำคัญ คือ สันติวิธีเป็นหนทางสู่สันติสุข ภายใต้หลักกฎหมายที่เป็นธรรม
ให้การเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน
และสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางความคิดที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมายและความมั่นคงแห่งรัฐ
ทั้งนี้ เพราะปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นปัญหาภายในประเทศที่รัฐจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้อง คุ้มครอง
และดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินให้พี่น้องประชาชน ด้วยความเสมอภาค
สำหรับในกรณีที่ต้องใช้กำลังทหารก็ได้กำหนดมาตรการจากเบาไปหาหนัก
เท่าที่จำเป็นเข้าติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนา
ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเครือญาติในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ
ตั้งแต่การช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมในขั้นการจับกุมและร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนการควบคุมตัวและซักถาม
เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ทำให้หลายๆ เหตุการณ์ไม่เกิดการสูญเสีย
ทุกฝ่ายมีความเข้าใจและรับรู้ถึงเจตนาต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรง
อีกทั้งสามารถอธิบายให้สังคมได้รับทราบความจริงที่ถูกต้อง และเข้าใจในเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายตามพยานหลักฐาน
เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีเจตนาคุกคาม ลิดรอน
และละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามที่บางองค์กรพยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ดังเช่นกรณีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดพร้อมกัน
3 จุด ในเขตเมืองนราธิวาส เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยได้หลายคน และต่อมาภายหลังจึงทราบว่า เป็นนักศึกษาและอดีตนักศึกษาสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ผลจากการสอบสวนหลายคนได้ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดในครั้งนั้นจริง
ซึ่งมีนักศึกษารายหนึ่งได้ให้การรับสารภาพต่อหน้าบิดาและภรรยาว่า เหตุระเบิดครั้งดังกล่าว
ตนเองเป็นผู้วางแผนและควบคุมการปฏิบัติในทุกขั้นตอน
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดพร้อมกันหลายจุดในเขตเทศบาลนครยะลา
ในห้วง 14 – 16 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งเหตุการณ์ปล้นรถยนต์ในพื้นที่ อำเภอยะหา
จังหวัดยะลา เมื่อ 31 พฤษภาคม 2558
ที่ผ่านมาสามารถควบคุมผู้ต้องสงสัยได้หลายคน
ผลการซักถามในขั้นต้นมีผู้ให้การรับสารภาพว่า ร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิดจริงจำนวน
7 คน เป็นนักศึกษาและอดีตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เช่นเดียวกัน
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักนิติรัฐ
โดยไม่อาจละเว้นหรือเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจ
ให้การยอมรับและเคารพในหลักกฎหมายของประเทศไทย
เพราะเป็นกติกาในสังคมที่ไม่มีใครสามารถละเมิดหรือฝ่าฝืนได้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่
49 ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย 2 คน พร้อมอาวุธปืน 2 กระบอก เมื่อ 10 เมษายน 2558
ในพื้นที่ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นอาวุธปืนที่ถูกแย่งชิงมาจากเหตุการณ์เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ
ร้อย.ร.15121 เมื่อ 19 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา
และเคยนำไปใช้ก่อเหตุความรุนแรงก่อนหน้านี้มาแล้ว 6 คดี
ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย และต่อมาภายหลัง ผู้ต้องสงสัย 1 ใน 2
รายได้ให้การรับสารภาพต่อหน้าบิดาและมารดา ว่าเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรง
ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แม้แต่บุคคลในครอบครัวก็ไม่เคยทราบมาก่อน
ทำให้มารดารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่รู้ว่าบุตรชายได้เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างสถานการณ์ซึ่งได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่
รวมทั้งพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้สถานการณ์ความรุนแรงนอกจาก
จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐและพี่น้องประชาชนแล้ว
ยังส่งผลกระทบต่อสมาชิกแนวร่วมผู้กระทำผิดที่ต้องหลบหนีจากการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่
หลายรายหนีออกไปอยู่นอกพื้นที่หรือประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ภาค 4 สน.
ยังคงเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้
ให้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวตามโครงการพาคนกลับบ้าน
โดยเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อปลดเปลื้องพันธนาการทางจิตใจและพันธะทางกฎหมาย
ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีบุคคลดังกล่าวกลับเข้ามารายงานตัวมากกว่า 1,400 ราย
ส่งผลให้สถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ อันเป็นความปรารถนาร่วมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่า
ผู้นำศาสนา และส่วนราชการทุกส่วนรวมทั้งรัฐบาล
กอ.รมน.ภาค
4 สน. ยังคงดำรงความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยการสร้างจิตสำนึกร่วมในการแก้ไขปัญหา
และการทำงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้องของทุกกลไกอำนาจรัฐและภาคประชาชน
รวมทั้งยังคงให้ความสำคัญกับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และปัญญาชน
โดยการเสริมสร้างและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
สร้างโอกาสและสร้างอนาคตให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมเติมเต็มในกระบวนการแก้ปัญหา
และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง อย่างสร้างสรรค์เพื่อนำสันติสุขกลับคืนมา
นั่นคือชัยชนะของสันติวิธีอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น