กับพลังแห่งสันติภาพบนสังคมพหุวัฒนธรรม
ที่ถูกแต่งแต้มด้วยสองมือของเยาวชน
มันจะสร้างได้จริงหรอ
?
“สันติภาพบนสังคมพหุวัฒนธรรม” เพ้อเจ้อ
ขายฝัน หรือเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูหรือเปล่า ?
ประโยคเหล่านี้มักจะได้ยินผ่านการตั้งคำถามของผู้คน
ที่บางครั้งก็เหมือนถามขึ้นมาด้วยความใฝ่หาในคำตอบ
แต่บ่อยครั้งก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นประโยคเชิงกระแทกแดกดันคนทำงานประชาสังคมอย่างผม
ที่เสียสละและมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ในการสร้างสันติภาพหรือสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านเกิดจริงๆ
แต่คำถามเหล่านั้นก็คงไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกอะไร
ที่คนทั่วไปหรือคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน
หรือประชาสังคมด้วยกันเองจะมีความรู้สึกข้องใจจนเกิดคำถามขึ้นมาในใจ
เพราะการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมา
ยังคงขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน ถึงความจริงใจของภาคส่วนต่างๆ
ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
หนำซ้ำกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่มีความพยายาม จากหลายๆ
ฝ่ายมาโดยตลอดในการพูดคุย ยังส่งผลให้เห็นผลลัพธ์ได้เพียงลางๆ เท่านั้น
ผนวกกับการทุ่มงบประมาณลงมาของรัฐบาลจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้น
ก็ยังเป็นเพียงการละลายงบประมาณ
ที่หาให้ได้เกิดการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงลงแต่อย่างใดไม่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่
ไม่ว่าคำจำกัดความของคำว่า “สันติภาพ” จะมีความหมายเป็นอย่างไร หรือคำว่า “พหุวัฒนธรรม”
จะเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูตามคำถามที่ผมได้ยินมาตลอดหรือไม่ จะมีคนเชื่อมั่นใน 2
คำนี้ว่ามันสามารถสร้างได้และอยู่ด้วยกันได้จริงๆ หรือไม่
วันนี้เรามีตัวอย่างชุมชนที่สามารถสร้างพลังแห่งสันติภาพบนความเป็นพหุวัฒนธรรมของคนในชุมชน
ยิ่งไปกว่านั้นคือสันติภาพและสันติสุข ที่ถูกแต่งแต้มด้วยสองมือของเยาวชน
มาเป็นคำตอบเพื่อตอกย้ำว่า “เราเชื่อในพลังแห่งสันติภาพ”
และเรายังเชื่อมั่นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา
และความเป็นชาติพันธ์ คือความสวยงามของสังคม
บ้านไทยสุข
เป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรม ที่มีชาวบ้าน 2 ศาสนา (พุทธ-อิสลาม)
อาศัยอยู่ด้วยกันด้วยความรักใคร่กลมเกลียวกัน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ต.ลาโละ
อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีประชากรประมาณ 176 ครัวเรือน ซึ่งเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธ
43 ครัวเรือน นอกนั้นก็เป็นมุสลิม เราอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ไปมาหาสู่กันโดยที่ไม่เคยมีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
สถานการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาในพื้นที่ จชต. ในช่วงแรกๆ
อาจจะมีบ้างที่ทำให้เราทั้ง 2 ศาสนาต้องห่างกันในความรู้สึก
แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่ผูกแน่นไว้ตั้งแต่อดีต
จึงมิอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันของคนในชุมชนจนกลายเป็นหวาดระแวงต่อกันได้
ด้วยความที่ผมเองในฐานะที่เป็นเยาวชนคนหนึ่ง
ที่ได้โลดแล่นบนเส้นทางการเป็นคนทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด
จนได้มีโอกาสเป็นผู้นำการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่มาเป็นเวลาก็กว่า
16 ปีแล้ว ผมตระหนักอย่างถ่องแท้อยู่เสมอว่า การจะแก้ปัญหาสังคม
โดยเฉพาะสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งและความรุนแรงได้นั้น
จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องยอมรับในความต่างและความหลากหลายในมิติต่างๆ
ของพื้นที่ให้ได้ และหากจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตได้
ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของการออกแบบชุมชนและสังคมของคนทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เปรียบประหนึ่งเป็น “อนาคตของชาติ” นั่นก็คือ “เยาวชน”
นั่นเอง
ตั้งแต่ปี
พ.ศ.2559 ได้กำเนิดกลุ่มเยาวชนเล็กๆ ขึ้นมาในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เรียกว่า “กลุ่มเยาวชนบ้านไทยสุข”
เพื่อทำหน้าที่เป็นฟั่นเฟือนเล็กๆ ในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในชุมชน
สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและน่าอยู่ เกิดความสันติสุขบนพื้นฐานของความเป็นชุมชน
2 วิถี (พุทธ-มุสลิม) ด้วยพลังของเยาวชน
กลุ่มเยาวชนบ้านไทยสุขดำเนินกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบเพื่อการดูแลและพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง
เรามีความฝันอยากเห็นการอยู่ร่วมกันของคนทุกศาสนาในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรัก
ความสามัคคีและความเข้าใจ อันจะนำไปสู่ความสงบสุขของชุมชนได้ เราจึงรังสรรค์กิจกรรมต่างๆ
มากมายเพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
ซึ่งในงานเขียนชิ้นนี้อยากจะขอนำตัวอย่างกิจกรรมที่กลุ่มฯ
จัดขึ้นเพื่อบอกว่าสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราฝัน สิ่งที่เราพูด
และสิ่งที่เราถูกตั้งคำถามนั้นมันสามารถเป็นจริงได้ด้วยการแต่งแต้มจากสองมือของพวกเรา
“ศาสนสานสัมพันธ์
เข้าใจกันและกัน สู่การสร้างสังคมแห่งสันติสุข”
คือชื่อโครงการที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมในการหลอมรวมคนในชุมชนทั้ง 2
ศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยความเข้าใจในกันและกัน
สร้างความเป็นพหุสังคมซึ่งมีวัฒนธรรมความเชื่อที่มันหลากหลายให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้แม้จะแตกต่างกัน
ที่สำคัญคือไม่เบียดเบียนกัน
งานนี้ได้รับการสนับสนุนจาก
ศอ.บต. ในนามของกลุ่มเยาวชนบ้านไทยสุข
เพื่อจัดกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้พหุชุมชน
โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของคนทั้ง 2 ศาสนาที่อยู่ร่วมกันในชุมชนนี้
โดยกิจกรรมจัดให้มีการ “กวนขนมอาซูรอ” สำหรับพี่น้องมุสลิมที่มีอยู่ประมาณ
70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านอีก 30%
ซึ่งเป็นพี่น้องไทยพุทธมาร่วมด้วยช่วยกันเตรียมวัตถุดิบและกวนอาซูรอ
เพื่อร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของมุสลิม
ในส่วนของการส่งเสริมประเพณีของไทยพุทธ ก็ได้จัดให้มีการมอบข้าวเหนียวพร้อมน้ำมันปาล์ม
ให้พี่น้องพุทธในหมู่บ้านทุกครัวเรือน เพื่อใช้ในการทำขนมในงานบุญ “วันสารทเดือนสิบ”
อันเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธด้วยอีกเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้วยังมีกิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์ชุมชน
ซึ่งนำเอาเด็ก เยาวชน และชาวบ้านทั้ง 2 ศาสนามาเล่นร่วมกัน
เพื่อสร้างความสนุกสนานและเรียกเสียงหัวเราะให้กับทุกคนในชุมชนได้สนุกกันอย่างถ้วนหน้า
ต่อด้วยในช่วงท้ายของงานยังได้จัดให้มีการสานเสวนาถึงวัฒนธรรมประเพณีของทั้ง 2
ศาสนา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ตลอดจนการเสวนาจากภาครัฐและภาคประชาสังคม
ในเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบนพื้นฐานของความเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม
และภายในงานยังได้มีการรับประทานอาหารเที่ยงแบบบ้านๆ ร่วมกัน ของชาวบ้านทั้ง 2
ศาสนาที่มาร่วมงาน และมีไอศกรีมถังรวมถึงขนมนมเนยแจกเด็กๆ
และชาวบ้านได้ทานกันอย่างเอร็ดอร่อยด้วย
งานที่จัดขึ้นดำเนินไปด้วยความเป็นมิตรและรอยยิ้มของชาวบ้านที่มาร่วมงานทั้งพุทธและมุสลิม
ซึ่งจริงๆ แล้ว
ภาพเหล่านี้อยู่คู่กับหมู่บ้านผมเป็นระยะเวลามาอย่างยาวนานแล้วด้วยซ้ำ
จบงานทีมงานทุกคนเหนื่อยก็จริง แต่มีความสุขมากกว่า
ทั้งพุทธ-มุสลิมได้กินอาซูรอกันทั้งหมู่บ้าน
แถมพี่น้องไทยพุทธยังได้วัตถุดิบกลับไปเตรียมทำขนมในงานบุญส่งตายายอีก
ผมพยายามที่จะสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ต่อสังคมสาธารณะว่า
“กวนอาซูรอ-สารทเดือนสิบ” จะเป็นพุทธหรือมุสลิม เราเพียงแค่ “แตกต่างบนความเหมือน”
เหมือนกันตรงที่เราล้วนคือ “เพื่อนมนุษย์” ด้วยกัน !
นี่เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมหนึ่งที่ถูกแต่งแต้มด้วยสองมือของกลุ่มเยาวชนบ้านไทยสุข
ที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพลังแห่งสันติภาพบนสังคมพหุวัฒนธรรมมันยังคงดำเนินอยู่และสัมผัสได้ด้วยตาเปล่า
ที่นี่ในทุกวันนี้ มุสลิมสบายใจ พุทธสบายดี ชาวบ้านสุขใจ ชุมชนอยู่ดี ทุกคนต่างเข้าใจกัน
ไปมาหาสู่กันได้ ที่สำคัญเราต่างก็ยังรักกันเหมือนเดิม
ท้ายงานเขียนชิ้นนี้
ผมคิดว่า “สันติภาพบนสังคมพหุวัฒนธรรม” สามารถเกิดขึ้นได้
หาใช่เป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูเท่านั้นไม่ และด้วยพลังอันบริสุทธิ์ของเยาวชน
ผมเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างสรรค์ชุมชนบ้านเกิดและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่ความสงบสุขได้ในเร็ววัน
ซึ่งวันนี้ผมกล้าป่าวประกาศเลยว่า หากอยากเห็นการอยู่ร่วมกันของคน 2 ศาสนา
อยากสัมผัสกับสันติภาพหรือสันติสุขบนความเป็นพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง “บ้านไทยสุข”
ชุมชนต้นแบบด้านสังคมพหุวัฒนธรรม เรามีให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งเป็นที่ประจักษ์แล้ว “เราจะอยู่กันอย่างไรก็ได้
แต่เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น