วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ปัญหาการไม่อาบน้ำศพของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จชต.

ปัญหาการไม่อาบน้ำศพของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จชต.

ปัญหาการไม่อาบน้ำศพของผู้ก่อการร้ายที่เสียชีวิต จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดูแลความมั่นคงและความปลอดภัยในพื้นที่ ในการการบังคับใช้กฎหมายติดตามจับกุม นับว่าเป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ยังคงมีอยู่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การไม่อาบน้ำศพ แห่ศพมีการแชร์ต่อในสื่อสังคมออนไลน์ถ่ายทอดสถานะให้เป็นนักรบแห่งพระเจ้าผู้ปกป้องศาสนาอิสลาม ยอมพลีชีพ เป็น “ซาฮีด” ที่สมบรูณ์

ล่าสุดกลุ่มขบวนการมีการปลุกระดม บิดเบือนความคิดความเชื่อหลักศาสนา “ซาฮีด” นายอายิ ยามา สมาชิกแนวร่วมผู้ก่อการร้าย ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำศพ รวมทั้งไม่ละหมาดศพ ชี้ให้เห็นการต่อสู้ เพื่อทวงคืนอธิปไตยปาตานีนั้น เป็น “ฟัรฎูอีนหมายถึง เป็นข้อบังคับที่มุสลิมปาตานีจะต้องปฏิบัติ หากใครละทิ้งหรือปฏิเสธถือว่ามีความผิด

ที่ผ่านมา “ผู้นำศาสนาอิสลาม” ในพื้นที่ไม่กล้าแย้งและปล่อยปละละเลยให้มีความเชื่อที่ผิดๆ เป็นเวลาถึง 20 ปีมาแล้ว ที่ต่างไม่มีใครที่จะ “หาญกล้า” ลุกขึ้นอรรถาธิบายเพื่อสร้างความกระจ่างชัด สร้างความเข้าใจในหลักศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงต่อประชาชนในเรื่องนี้

แต่ในทรรศนะส่วนหนึ่งของนักวิชาการอิสลาม หรืออูลามะอ์อิสลามที่ถูกต้องนั้น การต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ในทางศาสนา จึงไม่ถือว่าการเสียชีวิตนั้นเป็นการตาย“ซาฮีด” จึงจำเป็นจะต้องอาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาดศพ และฝังศพให้ถูกต้องตามหลักศาสนา

สอดรับกับคำกล่าวของคณะของนาย Madani ผู้แทน OIC ในการมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 11–12 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า OIC เคารพเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย แต่สิทธิของพลเมืองทุกคนต้องเท่าเทียมกัน และที่สำคัญรากเหง้าของปัญหาภาคใต้ไม่เกี่ยวกับเรื่อง“ศาสนา”

อีกทั้งสารของสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ สฬ.0001/489 ลงวันที่ 24 ก.ค. 61 ซึ่งลงนามโดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล อดีตท่านจุฬาราชมนตรี ตอบกลับหนังสือ ศอ.บต. ขอความอนุเคราะห์ฟัตวาหลักการศาสนาอิสลามในเรื่องการญิฮาด การซะฮีดและดินแดนฮัรบี “หากมุสลิมดำรงชีพในดินแดนหนึ่ง  ซึ่งในดินแดนนั้นหรือศาสนาหลักในดินแดนนั้นเป็นศาสนาอื่น มิใช่ศาสนาอิสลาม และมุสลิมนั้นสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนได้โดยเสรี ก็ถือว่าผู้นั้นอยู่ในดินแดนอิสลาม (ดารุสสลาม)

โดยมุสลิมดำรงชีพในดินแดนนั้น ครบองค์ประกอบหลัก 2 ประการคือ

(1) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเกียรติยศในฐานะพลเมือง

(2) เสรีภาพในการนับถือศาสนา การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
และการเผยแพร่ศาสนาอันเป็นปกติ ถือว่าดินแดนนั้นไม่ใช่ดินแดนแห่งสงคราม (ดารุ้ลฮัรบี)

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ เป็นองค์ศาสนูปภัมภกในทุกศาสนา และมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจและเผยแพร่ศาสนา ดังนั้น จึงไม่มีพื้นที่ส่วนใดของประเทศไทยที่เป็นดินแดน “ดารุ้ลฮัรบี” (ซูเราะฮฺอาละอิมรอน/104 และ ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ/122 และข้อบันทึกของอิหม่ามบุคอรีย์)

การเสียชีวิตของผู้ก่อการร้ายที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนายมะรอโซ จันทรวดี นายอายิ ยามา หรือหลายๆ คนที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วไม่มีการอาบน้ำศพ ไม่ละหมาดศพเป็นความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนในเรื่องศาสนา จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะบุคคลเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรเข่นฆ่าคน มีหมายจับ ป.วิอาญาติดตัว ไม่ได้เสียชีวิตจากการทำสงครามหรือต่อสู้กับผู้ที่รุกราน กดขี่ด้านศาสนาต่อชาวมุสลิม เป็นการ “ซาฮีดอาคีเราะห์” เท่านั้น

จะเห็นได้ว่ารูปแบบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายในการติดตามจับกุม มีขั้นตอนในการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มุ่งใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง นำหลักการเจรจามาใช้เพื่อลดความสูญเสีย อีกทั้งยังมีผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวมามีส่วนร่วมในการเจรจา เช่นกรณีการเสียชีวิตของ นายอาลียะ อาหะแม และนายกาดาฟี ตามะแซ เมื่อ 8 พ.ย.60 (ผู้นำศาสนา พ่อแม่ เจรจา 6 ครั้ง)

เจ้าหน้าที่รัฐ บังคับใช้กฎหมายก็ต่อเมื่อคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ก่อน เช่นกรณีเมื่อ 12 ม.ค.62 ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติ กำลัง 3 ฝ่ายเข้าปิดล้อมบ้านหลังหนึ่งในหมูบ้านท่าด่าน ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง ปรากฏว่าฝ่ายคนร้ายที่หลบอยู่ภายในบ้านใช้อาวุธปืนสาดกระสุนออกมาทันทีแบบไม่ให้ได้ตั้งตัว จึงเกิดการยิงปะทะกันขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงประสานผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนเข้าไปเกลี้ยกล่อมคนร้ายให้มอบตัว แต่กลับถูกสาดกระสุนใส่เป็นคำตอบ กระทั่งเกิดการยิงปะทะกันอีกระลอกหนึ่ง นายอับดุลเลาะ สาแม และนายอับดุลเลาะ เจะหลง ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดกับฝ่ายใดก็แล้วแต่!! ไม่มีใครอยากให้เกิด อยากให้พื้นที่แห่งนี้สงบ ปราศจากเหตุรุนแรง มีความปรองดอง ไปสู่สันติสุข เข้ากับบรรยากาศของการพูดคุยหาทางออกให้กับพื้นที่ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการขจัดความขัดแย้งแสวงหาแนวทางออกโดยสันติวิธี อยากเห็นมิติใหม่การแก้ปัญหาด้วยศาสนา โดยจำเป็นจะต้องให้ผู้นำในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น มีมติร่วมกัน (ฮูกุมปากัตของชุมชน) ว่าผู้ใดที่จะฝั่งศพในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของเขานั้น จำเป็นจะต้องอาบน้ำศพและจัดการศพให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอย่างแท้จริง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น