วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ขอเวทีคนปลายด้ามขวาน..เล่าบ้าง

ขอเวทีคนปลายด้ามขวาน..เล่าบ้าง

กว่า 20 ปีแล้วที่สังคมไทยรับรู้ผ่านสื่อมวลชนว่า พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสถานที่แห่งความรุนแรง มีเหตุระเบิดและฆ่ารายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินแดนปลายด้ามขวานกลายเป็น “พื้นที่ต้องห้าม” ไม่มีใครอยากย่างกราย ประเด็นนี้นำมาซึ่งความไม่สบายใจของคนในพื้นที่ค่อนข้างมาก เพราะการนำเสนอของ “สื่อ” ได้สร้างตราบาปให้คนนอกพื้นที่มองพวกเขาว่า “เป็นคนป่าเถื่อน” ทั้งที่ความจริงคนส่วนใหญ่ ก็มีความเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์..หาใช่ใครอื่น

ทุกครั้งที่มีเหตุรุนแรง คนในพื้นที่เองก็ไม่รู้ว่า ใครเป็นคนทำ? แต่การถูกเหมารวมว่าเป็น “โจรใต้” นั้น ได้ทำให้พวกเขาเจ็บช้ำมากขึ้น เมื่อมีโอกาสอธิบายถึงความเป็นจริง พวกเขาจึงไม่รอช้าที่ทำจะความเข้าใจกับคนนอก โดยพวกเขาได้เปิด “สภากาแฟ” ขึ้นที่อิมแพคเมืองนอกธานี จ.นนทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีคนนอกพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างคับคั่ง

“ปะเต๊ะ มาหะมะ” กรรมการเครือข่ายชุมชนศรัทธา จ.ปัตตานี เปิดวงคุยด้วยการเล่าว่า พวกเราจำเป็นต้องอธิบายให้คนนอกเข้าใจ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเฉพาะเหตุการณ์ฆ่ารายวัน ถือเป็นการโฆษณาความรุนแรงให้กับฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดี แต่กลับไม่นำเสนอเรื่องดีๆ ที่มีในพื้นที่ เช่น การจัดประเพณีอันดีงามของชาวมุสลิม เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลของข่าว ดังนั้นพวกเรา จึงต้องออกจากพื้นที่เพื่อมาบอกกับคนในสังคมว่า ในพื้นที่ไม่ได้มีความรุนแรงขนาดนั้น คนในพื้นที่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

“เหตุการณ์ความรุนแรง 20 ปีที่ผ่านมา เราเองไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ บางสถานการณ์ก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถือว่ามีเหตุรุนแรงพอๆ กับพื้นที่ภาคอื่น แต่เมื่อเกิดขึ้นที่ภาคใต้ ก็เป็นข่าวใหญ่ แล้วก็บอกว่าพื้นที่ภาคใต้มีแต่ความรุนแรง อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับคนในพื้นที่”ปอเต๊ะ กล่าว

ทั้งนี้ “ปะเต๊ะ” บอกอีกว่า หลังจากเกิดเหตุความรุนแรง พื้นที่สามจังหวัดถือเป็นพื้นที่ที่มีงบประมาณมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่คนที่รัฐส่งเข้าไปแก้ไขปัญหายังขาดความเข้าใจ ทั้งที่ปัญหาภาคใต้แก้ไขง่ายนิดเดียว เพียงแค่การนำ 4 เสาหลัก ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน อบต. โต๊ะอิหม่าม และผู้นำตามธรรมชาติในหมู่บ้าน มาร่วมพูดคุยหารือกัน เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปัจจุบันภาครัฐยังมองโต๊ะอิหม่ามและผู้นำตามธรรมชาติของคนในพื้นที่เป็นฝ่ายตรงข้าม จึงทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้และรัฐก็ทำได้เพียงแก้ไขปัญหาด้วยเงินเท่านั้น

ขณะที่ “ซอและ มะสอลา” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ปี 3 มอ.ปัตตานี เล่าว่า ทุกวันนี้คนในพื้นที่ยังใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้เปลี่ยนวิถีไปจากเดิม คนเคยกรีดยางก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม คนออกเรือหาปลาก็ยังทำประมงเหมือนเดิม ไม่มีใครเปลี่ยนวิถีไปทำอย่างอื่น คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังมีชีวิตตามปกติเหมือนก่อนที่จะมีเหตุการณ์ปล้นปืน แต่คนนอกพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อว่าในพื้นที่มีความรุนแรงทำให้ตอนนี้นักศึกษาใน มอ.ปัตตานี แทบไม่มีนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้าไปเรียนหนังสือ เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุอันตราย

ทว่า “ซอและ” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่สามจังหวัดมักจะถูกทางการกล่าวหาว่า เยาวชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ถูกนำไปฝึกอาวุธเพื่อเป็นแนวร่วมของขบวนการก่อการร้าย โดยเขาชี้แจงว่า จากที่สัมผัสคนในหมู่บ้านไม่เห็นมีใครมีพฤติกรรมแบบนั้น แต่ก็ยอมรับว่าคนที่แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนมีจริง ซึ่งมีไม่มากและเป็นเพียงแค่อุดมการณ์ที่เขาได้รับการถ่ายทอดมาเท่านั้น ไม่มีใครคิดแบ่งแยกดินแดนจริงๆ โดยหลายคนอยากให้ภาครัฐเข้าใจว่า พื้นที่สามจังหวัดมีอัตลักษณ์และมีวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้นรัฐควรให้ความเคารพในความแตกต่าง

“พื้นที่ภาคใต้มีความซับซ้อนของปัญหา ยิ่งตอนนี้มีกลุ่มผลประโยชน์มากขึ้น ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้ายาเสพติด แม้ตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเต็มพื้นที่ แต่ยาเสพติดก็ระบาดเต็มพื้นที่เช่นกัน และนับวันคนในพื้นที่ 3 จังหวัดจะถูกจับเป็นแพะเพิ่มมากขึ้น เพราะทางการกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นแนวร่วมของขบวนการก่อการร้าย บางหมู่บ้านโต๊ะอีหม่ามก็ถูกจับตัวไป ทั้งที่ไม่มีความผิดและไม่ได้ร่วมในขบวนการ ถ้าภาครัฐยังจับตัวคนผิดอยู่แบบนี้ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะสงบลงได้อย่างไร ตรงกันข้ามกลับจะสร้างความบาดหมางระหว่างรัฐกับประชาชนมากขึ้น”ซอและ กล่าวด้วยท่าทีขึงขัง

การแลกเปลี่ยนพูดคุยในสภากาแฟเริ่มออกรสชาดมากขึ้น เมื่อคนนอกพื้นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย โดยถ้อยคำถามถือเป็นที่มาของคำอธิบาย โดยเฉพาะประเด็นเหตุรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นฝีมือใคร ?  ซึ่งคนในพื้นที่เองก็ตอบไม่ได้ว่า ใครเป็นคนทำ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุขึ้น ไม่มีใครแสดงตัวออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ แตกต่างจากขบวนการก่อการร้ายเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วที่ทุกครั้งหลังก่อเหตุจะมีคนแสดงตัว แต่เหตุการณ์ปัจจุบันจึงไม่รู้ว่าใครทำและรัฐเองก็ได้แต่กล่าวหาว่า “โจรใต้เป็นคนทำ”

แม้การพูดคุยในสภากาแฟครั้งนั้นจะไม่ได้ขยายความว่า ใครเป็นผู้ก่อการร้ายตัวจริง แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นเวทีหนึ่งที่สร้างความเข้าใจกันระหว่างคนนอกพื้นที่ได้รับรู้ว่า คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่สื่อมวลชนประโคมข่าวและยังมีมิตรไมตรีเหมือนพี่น้องคนไทยทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น