วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

เจาะยุทธศาสตร์ BRN เตรียมเปิดตัวดึงโลกล้อมไทย

เจาะยุทธศาสตร์ BRN เตรียมเปิดตัวดึงโลกล้อมไทย

การพูดถึง "บีอาร์เอ็น" ในห้วงที่ออกมาสำแดงตัวเชิงสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ บานปลายกลายเป็นวิวาทะเกี่ยวกับ "องค์กรลับ" ที่มีเป้าหมายปลดปล่อยปาตานีองค์กรนี้

โดยเฉพาะการอ้างอิงบทสัมภาษณ์ "กูรู BRN" ซึ่งเป็นอดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 ที่มองว่าองค์กรปฏิวัติปาตานี กำลังเผชิญสารพัดปัญหา โดยเฉพาะการลดทอนความเข้มข้นในอุดมการณ์ดั้งเดิมของบรรดาแกนนำบางกลุ่ม หนำซ้ำยังพบร่องรอยความขัดแย้งในหลายระดับ

เพียงไม่กี่เพลา ก็มีบุคคลอ้างตัวว่าเป็นผู้อาวุโสของขบวนการออกมาโพสต์ข้อความตอบโต้ สาระสำคัญไม่ปฏิเสธว่าองค์กรมีปัญหา แต่ยืนยันว่าไม่กระทบกับปฏิบัติการและอุดมการณ์หลักของบีอาร์เอ็น พร้อมทั้งโยนว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงไทย

จริงๆ แล้ว ข้อมูลและความเห็นที่แตกต่างซึ่งเกี่ยวกับ "บีอาร์เอ็น" ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาไฟใต้ในแง่มุมต่างๆ เท่านั้น เพราะแม้ในหน่วยงานความมั่นคงเอง โดยเฉพาะทหาร ก็มีทฤษฎีเกี่ยวกับองค์กรลับแห่งนี้หลายทฤษฎีด้วยกัน

ข้อมูลจากแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ และยังอยู่ในราชการ ระบุว่า บีอาร์เอ็นมีตัวตนจริง และได้ปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้ แต่ยังมีปลายทางภายใต้อุดมการณ์เดิม คือ "เอกราช" และการ "ปลดปล่อยปาตานี"

บีอาร์เอ็น หรือที่มีชื่อแปลเป็นภาษาไทยว่า แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี องค์กรนี้มีองค์ประกอบ 3 ส่วนสำคัญ

ส่วนแรก คือ สภาซูรอ มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ และบางส่วนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยประธาน, หัวหน้าคณะที่ปรึกษา, ที่ปรึกษาฝ่ายทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และเลขาธิการ

ส่วนที่ 2 คือ กองกำลัง มีลักษณะเป็น "องค์กรลับ" มีการตัวกำหนดหัวหน้ากองกำลัง หัวหน้าเขต หัวหน้าโซน หัวหน้าพื้นที่ หัวหน้า kompi (กองร้อย) หัวหน้า platong (หมวด) และอาร์เคเค (หน่วยรบแบบจรยุทธ์)

ส่วนที่ 3 คือ การจัดตั้งเด็กเยาวชนเป็นแนวร่วมปฏิวัติ

โครงสร้างของบีอาร์เอ็น แบ่งเป็น

กลุ่มผู้นำสำคัญ มี 3 คน คือ ประธานใหญ่ เลขาธิการ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษา

ลำดับถัดมาเป็นสภาซูรอ มี 8 คน เป็นคณะที่ปรึกษา 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมือง ฝ่ายเศรษฐกิจ และฝ่ายศาสนา

ถัดลงมาเป็น "ศูนย์การนำ" (DPPP) และ "สภาองค์กรนำ" (DPP) แยกเป็นฝ่ายทหาร ฝ่ายเยาวชนชายและหญิง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการเงิน และฝ่ายประสาน

โครงสร้างถัดมาเป็น "ส่วนสั่งการ" (DPK) หรือ "คณะบริหารกลาง" ทำหน้าที่บัญชาการกองกำลัง มีทีมเยาวชนชายและหญิง ฝ่ายสตรี ฝ่ายการเมือง ทีมโฆษก ฝ่ายการเงิน ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายประสาน

โครงสร้าง "ส่วนปฏิบัติ" มีระดับบัญชาการกองร้อย (DW) แยกเป็น "ระดับเขต" ทีมเยาวชนชายและหญิง ฝ่ายสตรี ฝ่ายการเมือง ทีมโฆษก ฝ่ายการเงิน และฝ่ายสนับสนุน และระดับพื้นที่ (DD - กองร้อยและหมวด) แยกฝ่ายเหมือนระดับเขต

บุคคลในผังโครงสร้างขบวนการทั้งหมดนี้ มีอยู่ 6 คนที่ปรากฏตัวในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย เลขาธิการขบวนการบีอาร์เอ็น, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ในศูนย์การนำ, ฝ่ายเยาวชนในสภาองค์กรนำ, ฝ่ายการเมืองในส่วนสั่งการ (อุสตาซ หีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ), ฝ่ายการเมืองในระะดับเขต และฝ่ายเยาวชนในระดับพื้นที่

สำหรับยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นที่กำหนดขึ้นใหม่ วางกรอบเวลาการต่อสู้และเดินสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ปลดปล่อยปาตานี ระหว่างปี 2551-2580 มีเป้าหมายหลักคือการเจรจาสันติภาพ แต่หากไม่สำเร็จ ก็มีเป้าหมายรอง ได้แก่การเป็น "คู่สงคราม"

กรอบเวลา 20 ปี แบ่งห้วงเวลาดำเนินการออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงแรก ระหว่างปี 2551-2570 บีอาร์เอ็นมีสถานภาพเป็นองค์กรลับ มีแผนงาน 2 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่ 1 มีแกนหลัก ผู้นำหรือผู้สังการ เป็นผู้วางระบบ ใช้ประเทศมาเลเซียเป็นฐานการต่อสู้ทางยุทธศาสตร์

ขั้นที่ 2 จัดตั้งทหารเด็กเป็นกองกำลังที่นำไปสู่สถานการณ์ขัดแย้งโดยใช้อาวุธ (armed conflict) เพื่อให้องค์กรต่างชาติเข้าแทรกแซงได้

ช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2571 -2580 มีแผนงานอีก 2 ขั้นตอน ต่อเนื่องจากช่วง 10 ปีแรก

ขั้นที่ 3 มียุวมวลชนออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องแสดงบทบาท และบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ( IHL; International Humannitarian Law) เพื่อนำคู่ขัดแย้งสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ

ขั้นที่ 4 ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ เพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน และประกาศเอกราชในการปกครองปาตานีของขบวนการบีอาร์เอ็น

สำหรับผู้นำคนสำคัญของขบวนการ มีบางส่วนเปิดตัวร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุขทั้งเมื่อปี 2555 (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และในปี 2563 (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

แต่ก็มีแกนนำสำคัญที่ไม่ยอมเปิดตัวพูดคุยกับรัฐบาลไทยด้วย โดยแกนนำสำคัญกลุ่มนี้มี 7 คน คือ

1. นายสะแม เวาะเล หรือ คอซาลี เป็นประธานใหญ่

2. นายบือราเฮง ปะจูศาลา เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา (ในสภาซูรอ)

3. นายนิอายิ นิแม เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

4. นายดุนเลาะ (ดูนเลาะ) แวมะนอ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง

5. นายเด็ง อาแวจิ ที่ปรึกษาฝ่ายทหาร

6. นายอดุลย์ มุณี ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง

7. นายอับดุลเลาะเซะ หรือ มะสุดิง กาจิ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ

ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า การไม่ยอมเปิดตัวร่วมโต๊ะพุดคุยของผู้นำกลุ่มนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยังมีการต่อสู้ด้วยอาวุธอยู่ และกระบวนการพูดคุยเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น