วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

ขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย

ขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่เกิดมาเป็นเวลาหลายปีแล้วนั้น มีเหตุนานัปการมาจากศาสนา การเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ และปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมีความซับซ้อนหลายประการ

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาความรุนแรงและกล่าวได้ว่า เกือบทั้งหมดมี ขบวนการก่อการร้ายเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ โดยเท่าที่มีการศึกษาค้นคว้าและสืบสวนกันมา ขบวนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีหลากหลายกลุ่ม อุดมการณ์ และการปฏิบัติการก็แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายร่วมกันก็คือการแบ่งแยกดินแดนเป็นอิสระจากการปกครองของไทย

ควรกล่าวถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์พอสังเขป เพื่อให้เห็นการก่อตัวของขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย การผนวกดินแดนมลายูเข้ามารวมกับอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้เกิดปฏิกิริยาแก่ผู้นำท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งมีสถานะเป็นราชวงศ์หรือเป็นสุลต่าน เพราะไม่พอใจที่ต้องตกอยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา และยังต้องส่งเครื่องบรรณาการ

ต่อมาสุลต่านปัตตานีได้ยกทัพเข้าเมืองสงขลาได้สำเร็จ ทำให้ทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ร่วมกับทัพเมืองนครศรีธรรมราชบุกเข้ายึดนครศรีธรรมราช และส่งผลให้ประเทศราชปัตตานี ต้องถูกแบ่งแยกแตกออกเป็น 7 เมืองย่อยคือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ รามัน สายบุรี หนองจิก โดยให้แต่ละเมืองมีสุลต่านเป็นเจ้าครองนครอิสระแยกออกจากกัน

จนสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองตามแบบรัฐชาติสมัยใหม่ มีพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องถิ่น ร.ศ. 116 มีผลให้หัวเมืองมลายูทั้ง 7 ต้องเปลี่ยนย้ายกลับมาขึ้นกับข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราช ในขณะนั้นพระยาวิชิตภักดี หรือ เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน สุลต่านแห่งนครรัฐปัตตานี ได้ร่วมกับพระยาเมืองสายบุรี เมืองระแงะและเมืองรามัน ช่วยกันดำเนินการต่อต้านรัฐบาลของประเทศไทย จนทำให้ต่อมาถูกถอดยศและจับกุมคุมขังในข้อหากบฏอยู่ 2 ปี เมื่อได้รับการอภัยโทษปล่อยตัว จึงหนีข้ามฝั่งไปอยู่รัฐกลันตัน มาเลเซีย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงจัดแบ่งอาณาเขตอีกครั้ง โดยปรับใหม่ให้เหลือแค่ 4 เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี ระแงะ รวมเรียกว่า มณฑลปัตตานี ในช่วงระหว่างปี 2454-2460 พระยาวิชิตภักดีพยายามยื่นขอเบี้ยหวัดย้อนหลัง รวมทั้งขอกรรมสิทธิ์ครอบครองมรดกที่ดินเดิมด้วย แต่ไม่ได้รับพิจารณาจากรัฐบาลเพราะถือเป็นกบฏต่อแผ่นดิน ผลสุดท้ายพระยาวิชิตภักดีจึงหาวิธีต่อสู้กับรัฐบาลไทยอีกครั้งนับตั้งแต่นั้น

ในเวลาต่อมา กูดิน หรือ เต็งกู มามุด มะไฮยิดดิน บุตรชายคนเล็กของพระยาวิชิตภักดี ได้ดำเนินรอยตามแนวคิดของบิดา โดยก้าวหน้าไปถึงขั้นรวบรวมสมัครพรรคพวกเมื่อปี 2491 ก่อตั้งเป็นกลุ่มชาวมลายูแห่งมหาปัตตานี มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่ากัมปา มีสมาชิกเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายมาจากสุลต่านในจังหวัดชายแดนใต้และชาวกลันตัน มีเป้าหมายเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากไทย และยังมีเป้าหมายในการรวมรัฐปัตตานี เข้ากับกลุ่มรัฐด้านเหนือของมาเลเซีย โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองในมาเลเซียขณะนั้น คือพรรคชาตินิยมมลายู

ในเวลาใกล้เคียงกัน เริ่มมีกลุ่มผู้นำทางศาสนา ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แกนนำชาวบ้านในการต่อต้านรัฐบาลไทยเช่นกัน โดยตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2488 ฮะยีมูฮำมัด สุหลง บิน ฮะยีอับดุลกาเดร์ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ได้ก่อตั้งองค์กรขึ้นมาชื่อว่า กลุ่มเคลื่อนไหวประชาชนปัตตานี มีข้อเรียกร้องให้แยกศาลศาสนาอิสลามออกจากศาลจังหวัด แต่ทางรัฐบาลได้ปฏิเสธ ในเวลาต่อมา ฮะยีสุหลงได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยอีกครั้ง สาระสำคัญคือการขอปกครองตนเอง

ข้อเรียกร้องของ ฮะยีมูฮำมัด สุหลง บิน ฮะยีอับดุลกาเดร์ ของมีเนื้อหาดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลรับรองว่า 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา สงขลาและสตูล เป็นแคว้นมลายู และขอให้แต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นผู้หนึ่ง ซึ่งคนในแคว้นนี้เป็นผู้เลือกจากผู้ที่เกิดในแคว้นนั้น และขอให้มีอำนาจปกครองทุกๆ ประการใน 4 จังหวัดนี้ ซึ่งถือเป็นแคว้นๆ หนึ่ง

2. ในบรรดาข้าราชการใน 4 จังหวัดนี้ ต้องเป็นผู้ถือศาสนาอิสลามร้อยละ 80

3. ภาษาที่ใช้ในแคว้นนี้ให้ใช้ภาษาไทยและภาษามลายู

4. ในโรงเรียนประถมให้ใช้ภาษามลายู

5. ให้รัฐบาลรับรองกฎหมายศาสนา และขอให้แยกศาสนาเสียจากศาลบ้านเมือง ตุลาการของศาลนั้นให้ใช้คนอิสลามที่รอบรู้

6. บรรดาภาษีอากรต่างๆ ที่เก็บได้ใน 4 จังหวัดนั้นให้ใช้เพื่อประโยชน์ของจังหวัดนั้น

7. ให้ตั้งองค์กรศาสนาอิสลาม ให้มีอำนาจเต็มในเรื่องที่เกี่ยวแก่ศาสนาอิสลามใน 4 จังหวัดนี้ อยู่ในความควบคุมและกุศโลบายของข้าราชการผู้ใหญ่ผู้นั้น และจะเห็นว่าข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อนั้น ทางการไทยไม่อาจยอมรับได้ เพราะโดยเนื้อหาคือการไม่ยอมรับอำนาจปกครองของรัฐบาลไทยในการจัดการการปกครองและกฎหมาย และจากบทบาทความเป็นผู้นำเคลื่อนไหวดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ฮะยีสุหรงหายตัวไปอย่างลึกลับในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงของขบวนการแยกดินแดน บริเวณภาคใต้ตอนล่างหลายกลุ่ม ตั้งแต่นั้นมา

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ อาจจัดได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มสามัญชนติดอาวุธ ทุกกลุ่มมีเป้าหมายประกาศเอกราชจากรัฐบาลไทย แต่อุดมการณ์และวิธีการของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป

กลุ่มอำนาจเก่า

ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือ บีเอ็นพีพี ก่อตั้งขึ้นโดยนายอดุลย์ ณ สายบุรี หรือเต็งกู อับดุล ยะลานาแซร์ ผู้เป็นแกนนำสมาคมกัมปาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ใช้พื้นที่บริเวณเมืองปาเสปูเต๊ะของรัฐกลันตันเป็นแหล่งบัญชาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 สมาชิกของกลุ่มนี้โดยมากเป็นเชื้อสายสุลต่าน ดั้งเดิมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้นำศาสนาจารีตนิยมหรืออุลามารวมทั้งชาวไทยในมาเลเซียด้วย ขบวนการนี้เป็นกลุ่มคนชั้นสูงและอนุรักษนิยม มุ่งต่อสู้เพื่อคืนยุคสุลต่าน แต่ปัจจุบันอ่อนกำลังลงไปมากแล้วพอสมควร

กลุ่มผู้นำศาสนา นักวิชาการหัวรุนแรง

ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีหรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revoluci Nasional) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยอุซตาส อับดุลการิม ฮัดซัน ผู้มีความเลื่อมใสในระบอบสังคมนิยม เป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานมาจากครูสอนศาสนาหรืออุซตาส จึงมุ่งหาสมาชิกผ่านปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ยะลาและนราธิวาส เป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์อิสลามสูงมาก สมาชิกหลายคนได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ รวมทั้งบางส่วนได้รับอิทธิพลจากลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย ต่อมามีกลุ่มที่ก่อตั้งโดยวายุดดิน มูฮัมมัด เป็นหัวหน้า โดยมุ่งเป้าไปที่ครูสอนศาสนาผู้ผ่านการศึกษาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมากกว่าประเทศในกลุ่มอาหรับ

นอกจากนี้ยังมีขบวนการบีบีเอ็มพี (Barisan Bersatu Mujahidin Patani) มีความใกล้ชิดกับกลุ่มติดอาวุธและแนวร่วมศาสนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด และต้องการสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่ผู้ก่อการเคลื่อนไหวทั้งหลาย และต่อมาใช้ชื่อขบวนการเบอร์ซาตู มี ดร.วัน กาเดร์เป็นประธาน บางกลุ่มยังเคยฝึกอาวุธจากอัฟกานิสถาน โดยกลุ่มหลังนี้รู้จักกันในชื่อ มูจาฮิดีนปัตตานี หรือจีเอ็มพี (Gerakan Mujahidin Patani) รวมทั้งกลุ่มจีเอ็มไอพีของเจ๊กูแมกูเต๊ะ หรืออับดุลราห์มานอาหมัดซึ่งเป็นกำลังสำคัญในปัจจุบัน

กลุ่มสามัญชนติดอาวุธ

ขบวนการปลดปล่อยรัฐปัตตานีหรือพูโล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 โดย ตวนกู บิรา โกตานิราหรือกาเบ อับดุลราห์มาน เริ่มแรก ใช้อินเดียเป็นที่ปฏิบัติการต่อมาย้ายไปที่เมืองเมกกะ ซาอุดิอารเบีย สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมในต่างประเทศ มีอุดมการณ์ต่างจากกลุ่มอื่นคือไม่เน้นอิสลาม รวมทั้งไม่นิยมระบบสุลต่าน แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือพีแอลโอ ปัจจุบันแยกเป็นกลุ่มพูโลเก่าและพูโลใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายกลุ่ม แต่ปัจจุบัน มีการวิเคราะห์ว่าขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้

มีความเชื่อมโยงกับขบวนการเจไอ (Jamaah Isalamiyah-ญามาอะห์ อิสลามมิยะห์) เป็นที่รับรู้ว่า เป็นขวนการก่อการร้ายมุสลิม มีฐานปฏิบัติการในอินโดนีเซีย และมีความเกี่ยวโยงกับเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ (AL-Qa’ida) โดยรับรู้ว่า พื้นที่ปฏิบัติการของเจไอก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขบวนการเจไอ ในภาคใต้ของไทยกลายเป็นที่น่าสนใจขึ้นมาทันทีหลังฝ่ายความมั่นคงของสิงคโปร์จับกุม Arifin Ali (John Wong Ah Hung) สมาชิก Singpore Wakala เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2003 และมีการซัดทอดสมาชิก เจไอ ในประเทศไทยที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ได้แก่ นพ. แวมาหะดี แวดาโอะ แพทย์ประจำโรงพยาบาลนราธิวาส นายมัยสุรุ หะยีอับดุลเลาะ พร้อมบุตรชายคือนาย มุญาฮิด หะยีอับดุลเลาะ และนายสมาน แวกะจิ (ต่อมาภายหลังศาลได้ยกฟ้องบุคคลทั้งหมด) หลังจากนั้นก็มีการจับกุม ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2546 ในข้อหากระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดเหตุเภทภัยแก่ประเทศจากภายนอก เป็นสมาชิกกลุ่มเจไอ อั้งยี่และซ่องโจร Arifin เคยเป็นผู้ฝึกสอนในแคมป์ Abu Bakar ในฟิลิปปินส์ หลบหนีเข้ามาในไทยหลังจาก JIBRIL ล้มเหลว เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้ตั้งปอเนาะชื่อบูรณะเทคโน ที่จังหวัดนราธิวาสเพื่อใช้เป็นศูนย์ประสานงานวางแผนโจมตีเป้าหมายต่างๆ ทั่วประเทศ และมอบหมายให้มัยสุรุเป็นผู้ดูแล โดยมัยสุรุมีประวัติว่าได้รับการฝึกฝนทางทหารในประเทศลิเบียมาก่อน ได้ชักชวนบุตรชายเข้าร่วมอุดมการณ์ด้วยในเวลาต่อมา สำหรับนายแพทย์แวมาหะดีนั้น ก่อนจะถูกทางการไทยเข้าจับกุม ทำงานเป็นแพทย์และเจ้าของร้านขายยา หลังการจับกุม เจ้าหม้าที่เปิดเผยว่าเขาจบการศึกษาจาก Azhase Collage ประเทศอียิปต์ และเคยร่วมงานกับองค์กรก่อการร้ายระหว่างประเทศมาก่อน

ช่วงเวลาที่ Arifin ดูแลสาขาของเจไอในประเทศไทย เขาได้วางแผนโจมตีสถานที่สำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล และสิงคโปร์ในกรุงเทพฯ ด้วยวิธีคาร์บอมบ์ นอกจากนี้ยังมีแผนโจมตีพื้นที่อ่อนไหวหรือซอฟทาร์เก็ต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชาวต่างประเทศอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นถนนข้าวสารและซอยนานา รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยาและภูเก็ต

นอกจากมีการตั้งสาขาของขบวนการเจไอในประเทศไทย ก็ยังพบว่ามีการตั้งสาขาซึ่งมีโครงข่ายโยงใยถึงกันในอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นสาขาในกัมพูชา อินโดนีเซีย (ยกเว้นซุลาเวสีและกาลิมันตัน)

ที่มาของทุนในการก่อการร้าย

หลังจากมีการจับกุมสมาชิกคนสำคัญได้หลายคนในปี2003 Mohammed iqbal Rahman (นามแฝงคือ Abu Jibril ) Agus Dwikarna และ Faiz bin Abu Bakar Bafana เป็นต้น และหลังจากการสอบสวนที่กินระยะเวลาเกือบ 2 ปี ทำให้ทราบว่า ที่แท้จริง เจไอ ไม่ใช่องค์กรที่ใหญ่โตอะไร อาจมีสมาชิกอยู่ไม่ถึง 500 คนด้วยซ้ำ แต่ด้วยวิธีการโจมตีเป้าหมายที่เป็นซอฟท์ทาร์เก็ต ทั่วภูมิภาคซึ่งมีผลการทำลายล้างสูง ทำให้ดูเหมือนว่า ขบวนการก่อการร้ายเจไอน่าจะมีสมาชิกจำนวนมาก อย่างไรก็ดี แม้ผู้นำสำคัญจะถูกจับเกือบหมด แต่สมาชิกฝ่ายปฏิบัติการหลักๆ ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ขีดความสามารถในการก่อการร้ายไม่ได้ถดถอยอย่างที่หลายฝ่ายประเมินกัน จะมีก็เพียงการหยุดชะงักชั่วคราวเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ เจไอ ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ได้ก็คือการสนับสนุนทางการเงิน รัฐบาลของหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ ทราบเรื่องนี้ดี เพราะมีธนาคารที่รับฝากทรัพย์สินที่ตรวจสอบพบทีหลังว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอยู่หลายแห่ง เช่นกรณีทรัพย์สินของ Hambali และ Abu jibril ถูกระงับการเบิกถอนใดๆ โดยรัฐบาลสหรัฐ ตามคำสั่งพิเศษที่ 13244 ลงวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.2003 แต่ยังมีสินทรัพย์อีกจำนวนมากที่รัฐบาลสหรัฐยังไม่สามารถใช้อำนาจระงับการเคลื่อนไหวหรือยึดเป็นของรัฐได้ นอกจากนี้ เมื่อต้นปี ค.ศ.2003 สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศได้ร่างรายชื่อบุคคล องค์กรการกุศล และบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าเป็นแหล่งทุนให้อัลกออิดะห์ และเจไอ ได้ประมาณ 28 ชื่อ แยกเป็นรายบุคคล 18 คน และเป็นบริษัท 10 แห่ง (2-84)

ขบวนการเจไอ เคยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากอัลกออิดะห์ ในการปฏิบัติการแต่ละครั้ง ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองมาเลเซียและสิงค์โปร์ระบุว่า เจไอ ได้รับเงินจากอัลกออิดะห์ตั้งแต่ ค.ศ. 1996-2000 เป็นจำนวนถึง 1.35 ล้านรูเปีย แยกเป็น 250 ล้านรูเปียในปี 1997 และในปี 2000 ได้รับจำนวน 700ล้านรูเปีย ต่อมาภายหลัง อัลกออิดะห์ได้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเจไอให้สร้างสมรรถภาพทางการเงินของตัวเองซึ่งก็ทำได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี เจไอก็ยังต้องพึ่งพาและต้องการการสนับสนุนทางการเงินจากอัลกออิดะห์อยู่บ้าง เจไอนั้นมีโครงสร้างการเงินที่ค่อนข้างซับซ้อน ใช้การดำเนินธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศบังหน้า เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนให้ได้มาซึ่งทุนทรัพย์ในการก่อการร้าย เช่นในมาเลเซีย Hambali ได้ก่อตั้งบริษัท Konsojaya ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่แท้ที่จริงเพื่อใช้เป็นช่องทางการหาทุนสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมการก่อการร้าย นอกจากนี้ บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อบังหน้าทุกบริษัทจะแบ่งปันผลกำไรที่ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ให้แก่องค์กรมุสลิมต่างๆ ด้วย

แหล่งรายได้ของเจไอ มีอยู่ 5 ทาง ได้แก่

1. การถือเงินสดไปมอบให้โดยตรง

วิธีนี้เป็นการถือเงินสดไปมอบให้โดยตรง เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีโอกาสน้อยมากที่จะถูกตรวจค้น เว้นเสียแต่ว่าผู้ถือมีพฤติกรรมที่ชวนสงสัยจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องขอตรวจค้น

2. การบริจาคเพื่อศาสนาที่เรียกว่าซะกาด

ซะกาดเป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ชาวมุสลิมบริจาคเงินเก็บของตนอย่างน้อยร้อยละ 2.5 ให้กับคนยากจนทุกปี สมาชิก เจไอที่มีฐานะค่อนข้างดีมักจะบริจาคเงินให้กับองค์กรอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญคือ Faiz bin Abu Bakar Bafana นักธุรกิจชาวมาเลเซียที่สนับสนุนทางการเงินให้กับเจไออย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งได้รับการรับรองจากผู้นำระดับสูงให้เข้าเป็นสภาที่ปรึกษาระดับภูมิภาค

โดยปกติ เจไอ มีนโยบายสนับสนุนให้ทุกๆ เซลล์ (หน่วยปฏิบัติการย่อยในพื้นที่ต่างๆ ) พึ่งตนเองเป็นอันดับแรก หากทุนไม่พอจึงค่อยขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เจไอจะมี wakalah สิงคโปร์ทำหน้าที่ช่วยเหลือระดมทุนเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งสมาชิกของ wakalah นี้มีข้อตกลงร่วมกันมาตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ว่าต้องบริจาคเงินร้อยละ 2 ของเงินเดือนให้กับองค์กร และเพิ่มเป็นร้อยละ 5 ในช่วงปลายทศวรรษ เงินที่หามาได้ทั้งหมดถูกแบ่งให้ wakalah มาเลเชียและอินโดนีเซีย ร้อยละ 25 เท่าๆ กัน วิธีการส่งมอบเงินใช้วิธีการเดียวเท่านั้นคือใช้คนเป็นผู้ถือไป ส่วนเงินที่เหลือร้อยละ 50 จะเก็บไว้ที่ wakarlah สิงคโปร์ เพื่อใช้เป็นทุนรอนสำหรับจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แลเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปฝึกอบรมยังต่างประเทศ บางครั้งก็บริจาคให้กับกลุ่มนักรบตาลิบันในอัฟกานิสสถาน

3. จากองค์กรการกุศลมุสลิม

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียเชื่อว่าองค์กรการกุศลมุสลิมในอินโดนีเซียให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เจไอ ร้อยละ 15-20 ของรายได้ทั้งหมดขององค์กร ประเด็นสำคัญก็คือคนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้ซะกาดให้รายบุคคล แต่มักจะมอบให้ผู้นำชุมชนหรือสถาบันที่เชื่อถือได้อย่างองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร เมื่อบริจาคไปแล้วไม่มีการออกหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบและควบคุมจากรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่กลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะอัลกออิดะห์ใช้เป็นแหล่งกระจายเงินให้สมาชิกเพื่อใช้ปฏิบัติการ ส่วนใหญ่องค์กรลักษณะนี้มีอยู่มากในซาอุดีอารเบีย โดยรัฐบาลก็เพิกเฉย ไม่ได้ตรวจสอบ องค์กรที่มีชื่อเสียงที่อัลกออิดะห์ใช้เป็นที่รับส่งเงินได้แก่ 1 Islamic International Reif Organization (IIRO) 2 Al Haramain Islammic Foundation 3 Medical Emergency Relief Charity (MERC) และ World Asembly of Muslim youth

นับตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมารัฐบาลประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐมีการควบคุมองค์กรมุสลิมในประเทศมากขึ้น และสั่งปิดการดำเนินการในหลายแห่ง พร้อมทั้งระงับความเคลื่อนไหวทางการเงิน ส่งผลให้การถ่ายเทเงินด้วยวิธีการของอัลกออิดะห์ ต้องประสบปัญหา และทำให้แผนการจำนวนหนึ่งต้องยกเลิกไป บิน ละเดน จึงให้มีการย้ายฐานทางการเงินมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบองค์กรการกุศลเหมือนเดิม ซึ่งอันที่จริงได้มีการเคลื่อนไหวเข้ามาในภูมิภาคนี้นานแล้ว ในปี ค.ศ. 1998 บิน ลาเดน ได้ส่งน้องเขย คือ Mohammad Jammal Khalifa มาที่ฟิลิปปินส์ และได้ก่อตั้งองค์กรการกุศลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมหลายแห่ง โดยมีจุดประสงค์ ที่แท้จริงก็เพื่อการใช้เป็นช่องทางการจ่ายเงินให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศ องค์กรที่มาก่อตั้งได้แก่ องค์กรสาขาของ MERC IIRO และได้ตั้งมัสยิด โรงเรียน และโครงการเพื่อชาวมุสลิมจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เฉพาะพื้นที่ ที่กลุ่มอาบูซายาฟ มีอิทธิพลอยู่เท่านั้น

มีการตั้งองค์การกุศลเช่นนี้ในมาเลเซียเช่นกัน เพื่อใช้เป็นแหล่งทุน แต่ในที่สุดก็ถูกทางการมาเลเซียตรวจพบและสั่งให้หยุดดำเนินการ โดยมีเงินบริจาคทั้งสิ้น 200000 เหรียญสหรัฐ ในอินโดนีเซียก็มีการจัดตั้งองค์กรในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

4. ฮาวาลา

เป็นอีกทางหนึ่งที่ เจไอและกลุ่มก่อการร้ายต่างใช้โอนเงินเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวีนออกเฉียงใต้และทั่วโลก ระบบฮาวาลาเป็นการโอนเงินแบบไม่เป็นทางการจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่ง ผ่านตัวแทนที่เรียกว่า Hawaladar มีหลักการทำงานอยู่บนพื้นฐานแห่งความวางใจหลักการทำงานไม่ซับซ้อน เพียงลูกค้าจากประเทศต้นทางแจ้งความประสงค์ต้องการโอนเงิน แล้วทำการมอบเงินจำนวนนั้นให้แก่ตัวแทนหรือ ฮาวาลาดาร์ ประเทศต้นทาง ตัวแทนก็จะให้รหัส เพื่อใช้ในการรับเงิน แล้วลูกค้าก็ไปแจ้งมให้ประเทศปลายทางทราบ ขณะเดียวกัน ฮาวาลาประเทศต้นทางก็จะแจ้งให้ประเทศปลายทางให้ทราบรหัสตัวเดียวกัน เพื่อใช้ตรวจสอบเวลาลูกค้ามาโอนเงิน ฮาวาลาเป็นการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้หลักฐานใดๆ บัญชีหรือกระทั่งชื่อลูกค้า ระบบนี้เป็นระบบเงินโบราณชนิดหนึ่งที่คล้ายกับระบบโพยก๊วนของจีน

เพราะระบบนี้ไม่มีชื่อลูกค้า ทำให้ระบบนี้เป็นที่นิยมสำหรับผู้ทำผิดกฎหมาย

5. การบริจาคจากคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เนื่องจากมีความเห็นใจและเกิดความศรัทธาต่อการสอนศาสนาของสมาชิกในกลุ่ม เช่นการสอนของ Sungkar และ Ba’asyir นักสอนศาสนาที่มีเครือข่ายโยงมาถึงเจไอ เมื่อเกิดความศรัทธา จึงมีผู้บริจาคเงินให้

การคัดเลือกสมาชิกขององค์กรก่อการร้ายเจไอ

ในอินโดนีเซียและมาเลเซียมี 3 ระดับคือ

1. คัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์กรคือ การสถาปนารัฐอิสลาม โดยดูพื้นฐานครอบครัวและความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

2. เมื่อคัดเลือกแล้ว ผุ้ที่ถูกคัดเลือกจะถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามภายในประเทศและอาจมีบางส่วนถูกส่งไปไกลกว่านั้น

3. มีการฝึกฝนทางร่างกายและทางทหาร สำหรับในสิงคโปร์ จะใช้การสอนศาสนาเป็นเบื้องต้นในการคัดสรรสมาชิกใหม่ ในการเรียนมีการสนทนาเกี่ยวกับญิฮาดและหลักปฏิบัติของมุสลิมทั่วโลกตามคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน

เครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ได้แก่ อัลกออิดะห์ Askari Islamiyah Guragan Mujahidin Islam Pattani (กลุ่มมุสลิมขวาจัดกลุ่มเล็กๆ ในปัตตานีของไทย) นอกจากนั้นยังมี กลุ่ม Kumpulan Miltan Malaysia เป็นกลุ่มนักรบแห่งมาเลเซีย โดยเชื่อมโยงกันในแง่ของการขนส่งอาวุธ โดยมีการส่งให้ JI เพื่อใช้ทำระเบิดอยู่เสมอ

กลุ่มก่อการร้ายเกือบทั้งหมดใช้อุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและมีหลายส่วนที่ผ่านการรบในอัฟกานิสถานทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพี่น้อง ในแง่นี้ได้ผลดีเพราะเสมือนหนึ่งมีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างแท้จริง ทั้งยังใช้เพื่อชักจูงผู้คนได้ง่ายอีกด้วย

ตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการ เห็นว่า ช่วงที่ตึงเครียดที่สุดของเหตุการณ์ที่ผ่านมาในภาคใต้ คือช่วง พ.ศ. 2513-2523 ที่การก่อการร้ายของขบวนการต่างๆ มุ่งโจมตีสถานที่ราชการ จนถึงมีการขนานนามดินแดนนี้ว่าเป็นเขตปลอดกฎหมาย อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลเงา ซึ่งชาวบ้านต้องเสียค่าคุ้มครองให้กับขบวนการเหล่านี้

ได้มีการจัดตั้ง ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยและทำงานร่วมกับ พตท. 43 หรือ กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจ ทหาร ผลจากการปฏิบัติการเชิงรุกของหน่วยงานทั้งสองนี้ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอ่อนกำลังลงไป สมาชิกจำนวนไม่น้อยเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต่อมารัฐบาลสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ยุบหน่วยงานทั้งสองนี้ในปี พ.ศ. 2545 จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก ทำให้ต้องตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลความเรียบร้อยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในปัจจุบันขบวนการแบ่งแยกดินแดนเดิมยังคงเคลื่อนไหวอยู่อย่างเข้มข้นในยุทธวิธีแปลกใหม่ คือฝ่ายปฏิบัติการมีกองกำลังขนาดเล็กลงเป็นหน่วยย่อย (cell) กระจายตัวแฝงอยู่ในพื้นที่ชายแดน มุ่งเคลื่อนไหวในสถานศึกษาและศาสนสถานบางแห่ง มีการเรียนรู้วิธีการจุดระเบิดโทรศัพท์ ระเบิดในรถยนต์และจักรยานยนต์ รวมทั้งการฝังระเบิดไว้ตามถนนและล่อลวงให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ผ่านแล้วจุดชนวนระเบิด รวมทั้งเป้าหมายของขบวนการก่อการร้ายนี้ก็ไม่ได้มุ่งเพียงทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ต้องการสร้างความปั่นป่วนและทำลายล้างในระดับที่กว้างขวางกว่านั้น รวมทั้งการเผยแพร่อุดมการณ์ สร้างแนวร่วมกับประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้การนำหลักศาสนาอิสลามมาสอนและบางประการบิดเบือนไปจากคำสอนที่ถูกต้องในขบวนการก่อการร้าย ทำให้ผู้ร่วมปฏิบัติการเข้าใจว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นการทำตามศาสนาหรือญิฮาด เหมือนกันการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธในลักษณะของการพลีชีพ

เอกสารปลุกระดมชื่อ “การต่อสู้ที่ปัตตานี” ยึดได้จากมัสยิดกรือเซะ ปัตตานีเมื่อ 28 เมษายนพ.ศ. 2547 มีใจความส่วนใหญ่กล่าวถึงสงครามสมัยศาสดามุฮัมหมัดโดยมีความพยายามแบ่งคนในภาคใต้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน ถือเป็นผู้ศรัทธาแท้จริง กลุ่มที่สองคือคนทรยศเพราะไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ กลุ่มที่สาม คนนอกศาสนาอิสลาม ซึ่งหน้าที่ของคนกลุ่มแรกคือต้องกำจัดบุคคลกลุ่มที่สองและสาม

เอกสารนี้ระบุต่อไปว่าเมื่อแบ่งแยกดินแดนสำเร็จ ต่อมาสถาปนาราชวงศ์กลันตันเป็นผู้ปกครองสูงสุดโดยยึดหลักของศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ สำนักคิดซาฟีอี นอกจากนี้ยังมีสภาสูงสุด มาจากนักวิชาการมุสลิมและตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งมีการเลือกตั้งสภาประชาชนขึ้นมาบริหารประเทศภายใต้กฎหมายอิสลามอีกด้วย ข้อความดังกล่าวในเอกสารนี้บ่งบอกชัดเจนว่าเป้าหมายการทำลายล้างคืออะไร

ความร่วมมือระหว่างขบวนการเจไอและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเนื่องจากการบุกทลายเครือข่ายในสิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้มีเจไอจำนวนไม่น้อยเข้ามายังไทยและดำเนินการเคลื่อนไหวในหมู่ชาวบ้าน โดยมีหลักฐานจากคำให้การของผู้ที่ถูกจับกุมได้ว่าสมาชิกเจไอเคยหนีเข้ามาหลบซ่อนในภาคใต้ของไทย และรับว่าเคยมีการประชุมร่วมกับกลุ่มของฮัมบาลี (แกนนำของขบวนการเจไอ) ซึ่งเคยหลบหนีมายังหลายพื้นที่ในประเทศไทยหลังจากเคยหลบซ่อนในกัมพูชามาก่อน และถูกทางการไทยจับได้ในที่สุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อ 11 สิงหาคม 2546

ขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังคงก่อการจนปัจจุบันและยังไม่มีท่าทีสงบลงได้ง่าย ทั้งยังมีการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ และขยายขอบข่ายการทำลายล้างกว้างขวางยิ่งขึ้นโดยไม่เลือกเป้าหมายแน่ชัด หมายถึงแม้แต่ชาวบ้านหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องก็อาจกลายเป็นเหยื่อได้ อาจเป็นเพราะแรงสนับสนุนจากเครือข่ายหลายขบวนการที่ยังคงมีแรงส่งอยู่ รวมทั้งการเกิดเหตุการณ์มาเป็นระยะๆ เป็นเวลาหลายปีจนสามารถปลูกฝังอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนให้แก่ชาวบ้านได้ไม่น้อย ตลอดจนการต่อสู้ทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ ที่ฝังลึกมานานที่ทำให้เหตุการณ์บานปลายออกไปเรื่อยๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น