วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2567

ความแตกต่างทางศาสนา

ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากที่สุด ความหลากหลายทางศาสนาทำให้สังคมไทยมีลักษณะ “พหุนิยมทางศาสนา” กล่าวคือ เป็นสังคมที่ความศรัทธาในเรื่องศาสนาที่หลากหลายดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ บ้างก็ผสานกลมกลืนกันไป แยกออกได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง โดยศาสนาหลักๆ ที่ทางราชการไทยรับรอง ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาซิกข์ นอกจากนี้ ยังสามารถพบศาสนาอื่นๆ อีก เช่น ศาสนายิว ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ

แม้ศาสนาต่างๆ จะมีรูปแบบ มีลักษณะความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น

- ยิว คริสต์ อิสลาม และซิกข์ เชื่อในหลัก “เอกเทวนิยม” คือ เชื่อว่าพระเป็นเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียว

 - พราหมณ์ เชื่อในหลัก “สรรพเทวนิยม” คือ เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าหลายพระองค์

- พุทธ และเต๋า เป็นพวก “อเทวนิยม” คือ ไม่เชื่อหรือไม่สนใจในพระผู้เป็นเจ้า หรือเชื่อว่าถ้าจะมีสิ่งสูงสุดบางอย่าง สิ่งนั้นก็ไม่ได้มีลักษณะของบุคคลแบบพระผู้เป็นเจ้า

แต่ความเชื่อในสิ่งสูงสุดของแต่ละศาสนาที่แตกต่างกันนี้ ก็ไม่ได้ทำให้แต่ละศาสนาสอนให้คนประพฤติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างที่ทุกคนรู้กัน ศาสนาทั้งหลายล้วนสอนให้มนุษย์กระทำแต่ความดี

แนวคิดพหุนิยมทางศาสนา เกิดจากความใจกว้างของศาสนิกชนที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้ หากได้ศึกษาศาสนาต่างๆ จนถึงแก่นแท้ ก็จะทำให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันของเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนา

ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า ศาสดาแต่ละพระองค์อาจจะได้รับประสบการณ์สูงสุดทางจิตวิญญาณคล้ายกัน หรือเหมือนกัน แต่การนำประสบการณ์ทางจิตวิญญาณนั้นมาบอกเล่าสั่งสอนต่อ ต้องอาศัยภาษาที่คนในสังคมหนึ่งๆ จะสามารถเข้าใจตามได้ ต้องอาศัยวัฒนธรรมที่คนในสังคมนั้นๆ ยึดถือ เกิดเป็นพิธีกรรม หรือจารีตเฉพาะตัว ที่เป็นเปลือกหุ้มห่อแก่นแกนที่เหมือนกันนั้นไว้ ผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน จนแต่ละศาสนามีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

จุดมุ่งหมายสูงสุดของแต่ละศาสนาเป็นเหมือนห้องห้องหนึ่ง รูปแบบการปฏิบัติที่แตกต่างกันเป็นเหมือนทางเข้า และประตูแต่ละบาน ไม่ว่าเราจะเลือกเข้าจากทางประตูใด สุดท้ายแล้ว เราจะเข้าไปถึงในห้องห้องเดียวกัน ห้องที่อาจเรียกว่า “นิพพาน” หรือ “พรหมัน” หรือ “พระอาณาจักรของพระเจ้า (สวรรค์)” หรือ “ธรรมชาติดั้งเดิมอันลี้ลับ” ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการกีดกันศาสนาอื่นออกจากหนทางปฏิบัติอันเที่ยงแท้ ก็ปรากฏอยู่ในเกือบทุกศาสนา ซึ่งจะปรากฏอยู่ในลักษณะคำสอนที่ว่า แม้ว่าจะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในศีลในธรรม แต่หากไม่ศรัทธา หรือนับถือศาสนานั้นๆ ว่าเป็นหนทางที่แท้จริงเพียงหนทางเดียวแล้ว ก็ไม่อาจบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดตามหลักคำสอนของศาสนาได้ และลักษณะคำสอนเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างศาสนา เพราะต่างคนต่างถือดี

ดังนั้น หากเราปรารถนาการอยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานปรองดองระหว่างศาสนาต่างๆ เราจำต้องทำความเข้าใจแก่นแท้ของแต่ละศาสนา และพึงละลักษณะการกีดกันศาสนาอื่นเสีย การศึกษาศาสนาต่างๆ อย่างลึกซึ้งจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างมากขึ้น

การอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันของศาสนาต่างๆ ย่อมอดไม่ได้ที่จะมีการปะทะสังสรรค์กัน ก่อให้เกิดการพัฒนาแนวคิด หรือการปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกันของศาสนิกต่างศาสนา แนวคิดหรือแนวปฏิบัติของศาสนาหนึ่งๆ ที่ได้รับความนิยมในวงกว้างหรือในเชิงลึก ย่อมมีอิทธิพลต่อการปรับรูปแบบแนวปฏิบัติของศาสนาอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อในอาถรรพเวท มนตรา คาถา ของศาสนาพราหมณ์ ที่แทรกซึมลงไปในจิตใจของคนไทย หรือชาวสยามตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และสืบทอดความเชื่อนี้จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ก็ส่งผลให้พระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ใช้เรื่องคาถาอาคมมาสร้างศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดไปจากพุทธบัญญัติอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีกรรม หรือการเพิ่มเติมข้อคำสอน หรือแม้แต่การบิดเบือนคำสอนในแต่ละศาสนา ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกศาสนาที่มีผู้นับถือกันในปัจจุบันอาจจะแตกต่างจากตอนกำเนิดอย่างมากก็เป็นได้ และแม้แต่การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่า มีความคลาดเคลื่อนเสมอเมื่อมีการคัดลอกใหม่ หรือเมื่อมีการแปลไปสู่ภาษาอื่น จึงไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่า คำสอนของศาสนาในปัจจุบันจะตรงกับเมื่อแรกเริ่ม

เมื่อตะหนักถึงความจริงข้อนี้ได้ เราก็อาจละความยึดมั่นถือมั่น ว่าความเชื่อความศรัทธาของเราเท่านั้นที่ถูกต้องลงได้ และเมื่อเรามีความใจกว้างมากขึ้น การดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อความศรัทธาอย่างสันติสุข ก็อยู่แค่มือเอื้อมเท่านั้น

ความเชื่อหรือศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานทางความคิด และจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลในสังคมนั้น มีความหลากหลายจนนับไม่ถ้วน หลายครั้งที่ความเชื่อในสิ่งสูงสุดที่แตกต่างกันของศาสนาทั้งหลาย นำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคมที่นับถือต่างศาสนากัน หากพิจารณาในมุมมองนี้ ศาสนาหรือความเชื่อ ย่อมถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการสร้างสันติสุขในสังคม กิจกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมของแต่ละศาสนาที่มีความแตกต่างกัน อาจจะถูกมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนิกชนได้

กิจกรรมทางศาสนาของแต่ละศาสนา ย่อมมีความแตกต่างในรูปแบบเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของกิจกรรมทางศาสนานั้น มุ่งส่งเสริมให้คนเป็นคนดีดุจเดียวกัน การเข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของกิจกรรมทางศาสนา ว่าเป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและความสามัคคีในสังคมได้ จะช่วยให้เรามองพิธีกรรมของศาสนาอื่นด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีเป้าหมายไม่ได้ต่างจากศาสนาที่เรายึดถือเลย

กิจกรรมของแต่ละศาสนาที่มีจุดประสงค์อย่างเดียวกันมีอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น การทำทาน การแบ่งปันให้ผู้อื่น หรือ “จาคะ” ที่เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในศาสนาพุทธ มีความคล้ายกันกับหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า “ซะกาต” คือนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือจุนเจือเพื่อนมนุษย์ในสังคมแล้ว ยังช่วยลดความตระหนี่ ความโลภในใจของผู้บริจาคได้อีกด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แนวคิดเรื่องการมอบความรักต่อเพื่อนบ้าน หรือที่แท้แล้วก็คือเพื่อนมนุษย์ของศาสนาคริสต์ ก็มีหลักการที่คล้ายคลึงกันกับข้อปฏิบัติเรื่อง “พรหมวิหาร 4” ในศาสนาพุทธ ที่สอนให้มี เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งโดยรวมก็คือ ความรักและปรารถนาดีต่อผู้อื่น รู้สึกอยากให้เขาพ้นทุกข์ และพลอยยินดีเมื่อเขามีสุข รวมทั้งวางเฉย ไม่ลำเอียง ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิบัติต่อสรรพสิ่งด้วยความรักอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อพิจารณาตัวอย่างของแนวคิดทางจริยศาสตร์ ที่มีเป้าหมายร่วมกันของแต่ละศาสนาได้ดังนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า แม้มนุษย์จะมีกิจกรรมทางศาสนาที่แตกต่างกันเพียงไร ก็ยังสามารถดำรงอยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างผาสุก หากเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของกิจกรรมทางศาสนา ทั้งของตนเอง และของเพื่อนมนุษย์ในสังคมเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น