วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เริ่มรอบใหม่! พูดคุย(ไม่?)สันติสุข

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปลายเดือน ม.ค. ต่อเนื่องต้นเดือน ก.พ.67 ตึงเครียดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเหตุยิง นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ อดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่เข้าโครงการ “พาคนกลับบ้าน” รุ่นแรก เมื่อปี 2555 เหตุเกิดช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 ก.พ.67 ถูกลอบยิงอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธสงคราม ในสวนยางของตนเอง ขณะเข้าไปทำงานอย่างเงียบๆ ไม่เคยก่อความเดือดร้อนให้กับใคร

นับเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก่อนการนัดพบปะของคณะพูดคุยสันติสุขฯ รอบใหม่ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ.67 ที่ประเทศมาเลเซีย

คณะพูดคุยฯ ที่พบปะกัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นยังคงเป็นชุดเดิม นำโดย นายอณัส อับดุลเราะมาน ส่วนฝ่ายไทยเป็นคณะใหม่ที่ตั้งโดยนายกฯเศรษฐา ทวีสิน นำทีมโดย นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)

คณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยชุดใหม่ ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 พ.ย.66 ที่ผ่านมานี้เอง จากนั้น นายฉัตรชัย ก็ได้เดินทางไปพบปะแนะนำตัวและหารือแนวทางการทำงานร่วมกับ พลเอก ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลมาเลเซีย และนัดหมายพูดคุยรอบใหม่กับฝ่ายบีอาร์เอ็น วันที่ 6-7 ก.พ.67

ประเด็นที่ค้างคามาตั้งแต่การพูดคุยครั้งก่อน โดยคณะพูดคุยฯ ชุดก่อนหน้านี้ (ของฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.) ซึ่งว่างเว้นการพบปะกันมานานข้ามปีก็คือ การหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan Towards Peace (JCPP)

สาระของการพูดคุยรอบใหม่ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ. ประเมินได้ว่าไม่น่าจะมีอะไรคืบหน้ามากนัก เพราะก่อนการพูดคุยมีข่าวร้ายๆ เกิดขึ้นหลายข่าว

ที่ต้องจับตามากที่สุดคือเหตุการณ์ลอบยิง นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ก่อนนัดพูดคุยที่มาเลเซียแค่ 3 วัน

การรายงานข่าวของสื่อ และท่าทีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย สรุปตรงกันหมดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเหมือนจะนำไปจัดกลุ่มเหตุการณ์นี้รวมอยู่กับปฏิบัติการของรัฐและฝ่ายความมั่นคงในเรื่องต่างๆ ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน

ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีนักกิจกรรมชายแดนใต้ รวมถึงการเคลื่อนไหวอื่นๆ แล้วขมวดกรณียิง นายแวอาลีคอปเตอร์ เข้าไปด้วย (ดูในเพจเฟซบุ๊ก BRN)

นอกจากนั้นยังประเมินโต๊ะพูดคุยฯ ซึ่งฝ่ายบีอารเอ็นเรียกว่า “โต๊ะเจรจาสันติภาพ” ทำนองว่า สาเหตุที่หยุดชะงักไป เนื่องจากฝ่ายไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองและการปกครอง รวมถึงโต๊ะเจรจาสันติภาพขาดความพร้อมในการดำเนินการให้ต่อเนื่อง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยมีความพร้อมอยู่ตลอด มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ข่าวสารที่ได้รับจากคณะพูดคุยฯ ก็คือ ฝ่ายบีอาร์เอ็นปฏิเสธที่จะเดินหน้ากระบวนการ โดยอ้างว่าไทยมีการเลือกตั้ง (14 พ.ค.66) ขอรอรัฐบาลชุดใหม่

ส่วนเหตุสังหาร นายแวอาลีคอปเตอร์ มีผลตรวจปลอกกระสุนจากอาวุธปืนที่ใช้ยิง และเก็บได้ตรงจุดเกิดเหตุ สวนยางพาราบ้านปูโป๊ะ หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ปรากฏว่า อาวุธปืน 3 กระบอกที่คนร้ายใช้ ประกอบด้วย เอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก และ เอชเค 33 อีก 1 กระบอกนั้น ล้วนเคยก่อคดีความมั่นคงในพื้นที่มาแล้วถึง 20 คดี

ขณะที่คำบอกเล่าจาก “ผบ.ร้อยทหารพราน” ที่รับผิดชอบพื้นที่ อ.รือเสาะ ยืนยันว่าสนิทกับ แวอาลีคอปเตอร์ พูดคุยกันแทบทุกวัน ก่อนเกิดเหตุร้ายแค่ 1-2 วัน ก็ยังคุยกันอยู่ หัวข้อสนทนามีแต่เรื่องการทำมาหากิน ทุเรียนเงินล้าน ฯลฯ ไม่มีประเด็นความมั่นคง

นี่คือข้อเท็จจริงที่สวนทาง สะท้อนถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และยังชิงความได้เปรียบกันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากฝ่ายบีอาร์เอ็น

โอกาสของสันติภาพและการบรรลุข้อตกลงจึงเลือนลาง และยิ่งถอยห่างออกไป...

โดยเฉพาะการเมืองไทยที่กำลังเปราะบาง กระแสความนิยมของพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์ และมีแนวคิด “เป็นคุณ” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน กำลังพุ่งสูงขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่คู่ต่อสู้ของรัฐไทย ต้องเร่งรีบปิดจ๊อบกระบวนการสันติภาพ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น