วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

20 ปี ด่านความมั่นคง

20 ปี ด่านความมั่นคง ทำไมถึงมีด่าน ด่านมาจากไหน อะไรคือต้นเหตุของการตั้งด่าน และทิศทางของด่านความมั่นคงจะไปในทิศทางไหน วันนี้มีคำตอบ

ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าสิ่งที่เห็นจนชินตาทั้งคนนอกพื้นที่และผู้ที่อาศัยอยู่ภายใน สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น คือด่านที่สามารถพบเห็นได้จบกลายเป็นเรื่องปกติ หรือจะเรียกได้ว่าเป็น “Hard Power” ของสามจังหวัดชายแดนใต้เลยก็ว่าได้

ด่านเกิดขึ้นปีไหน เพราะอะไร ?

ย้อนกลับไป 2 ทศวรรษ ในวันที่ 4 มกราคม 2547 เริ่มจากมีการเผาโรงเรียน 20 แห่งพร้อมๆ กัน ในจังหวัดนราธิวาส คาดว่าเป็นแผนเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ เพราะในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุบุกปล้นอาวุธปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีทหารเสียชีวิต 4 นาย และการเข้าปล้นปืนครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 20 นาที

ภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้พยายามตามจับผู้ปล้นอาวุธปืน แต่ระหว่างทางที่ตามจับ ผู้ก่อเหตุปล้นปืนได้โรยตะปูเรือใบบนถนน เพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้ สุดท้ายผู้ก่อการร้ายก็หนีไปได้ทั้งหมดพร้อมกับอาวุธปืน 413 กระบอก เพราะตอนนั้นยังไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษ จึงไม่มีด่านที่ใช้สกัดกั้นผู้ก่อการร้ายได้

ต่อมาชั่วข้ามคือ ในวันที่ 5 มกราคม จากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง รัฐได้ประกาศ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 ใน 3 พื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ไม่นานจากนั้นพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลายเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ต่อมาในระยะเวลาที่เริ่มใช้กฎหมายพิเศษ และเริ่มมีด่านตรวจ, ฐานปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้เพียง 4 เดือน ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่จังหวัดปัตตานี ในช่วงเช้ามืด ก็ได้มีเหตุการณ์โจมตีด่านตรวจและฐานปฏิบัติการของราชการนับสิบจุด และมีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต 108 ราย การก่อเหตุดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ด่านตรวจและฐานปฏิบัติการของราชการโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายนั้นไม่ต้องการด่านตรวจและฐานปฏิบัติการของราชการ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญให้การก่อเหตุความรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่ชายแดนใต้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษต่อไป และ “ด่าน” จะคงอยู่จนกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลาย สิ่งนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ ทวีคูณความรุนแรงยิ่งขึ้นจนนำพาไปสู้หลายเหตุการณ์ที่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ด่านเกิดขึ้น หลังจากรัฐได้ประกาศ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 พื้นที่ชายแดนใต้ในวันที่ 5 มกราคม ด่านตรวจความมั่นคงและอีกหลายๆ ด่านจึงได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจตนาการตั้งด่านเห็นได้ชัดว่าต้องการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ แต่จะแก้ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ด่านตรวจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่รุนแรงและยืดเยื้อ ทั้งในมิติลึกและกว้างในรากเง้าของปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ สิ่งที่ด่านสามารถทำได้เป็นเพียงมิติของการตั้งรับ เป็นเพียงการสุ่มตรวจค้นบุคคลต้องสงสัย หรือสกัดกั้นเมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ใกล้เคียงในพื้นที่นั้นๆ สำหรับชาวบ้านบางส่วน การมีอยู่ของด่านนั้นเป็นสิ่งที่น่ารำคาญใจ และกลายเป็นสิ่งกีดขวางที่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ในทางกลับกันชาวบ้านบางส่วนก็มองว่ามีด่านทำให้อุ่นใจ ปลอดภัยจากผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ และสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้น ด่านคือเครื่องมือชิ้นสำคัญในการสกัดกัน และตรวจบุคคลหรือสิ่งต้องสงสัย ทำให้ด่านเป็นดาบ 2 คมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง

ทิศทางของด่านความมั่นคงจะไปในทิศทางไหน

คำถามนี้เป็นคำถามที่ยากจะตอบได้ ด่านฝ่ายความมั่นคงเองก็จำเป็นต้องใช้ด่านให้การตรวจตราเส้นทางในพื้นที่ หากไม่มีด่าน การก่อเหตุก็จะง่ายขึ้น การหลบหนีก็จะง่ายเหมือนเช่นตอนปล้นปืนค่ายปิเหล็ง หากยังมีความรุนแรงอยู่ ก็จะยังคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษ ด่านตรวจก็จะยังอยู่ต่อไปคู่ไปกับกฎหมายพิเศษ ความรำคาญใจของชาวบ้านส่วนหนึ่งก็จะยังคงอยู่ต่อไป ควบคู่ความอุ่นใจของชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง จนกว่าผู้ก่อการร้ายจะหมดไปจากประเทศไทยนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น