วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566

แจ้งข้อหา ม.116 กับ 5 นศ.-นักกิจกรรม ประชามติแยกดินแดน

แจ้งข้อหา ม.116 “5 นศ.-นักกิจกรรม” ประชามติแยกดินแดน

ตำรวจปัตตานีเรียกสอบ “5 นักกิจกรรม–นักศึกษา” ปมสัมนาประชามติแยกดินแดน พร้อมแจ้งข้อหา “ยุยง ปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 “อาเต๊ฟ” เชื่อเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ด้าน 4 องค์กรสิทธิฯ จี้แม่ทัพภาค 4 ถอนแจ้งความผู้เกี่ยวข้องทุกรายอย่างไม่มีเงื่อนไข

จากกรณีกลุ่มนักศึกษาได้จัดงานเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa โดยมีการจัดประชามติจำลอง สอบถามว่าเห็นด้วยกับการใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง หรือ Self Determination หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มผู้จัดกิจกรรมเรียกว่า “ชาวปาตานี” สามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย

โดยงานดังกล่าวมีนักการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษาเข้าร่วม เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ห้องประชุมศรีวังสา ตึกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ทำให้ฝ่ายความมั่นคง โดย พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 มอบหมายให้ พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน (ผอ.สกส.) กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.66 เพื่อให้ทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลและคณะบุคคลในกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น.วันศุกร์ที่ 8 ธ.ค.66 ที่ สภ.เมืองปัตตานี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม จำนวน 5 นาย ประกอบด้วย นายฮากิม พงติกอ อดีตรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani, นายอิรฟาน อุมา ประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ, นายสารีฟ สะแลมัน สมาชิกขบวนการนักศึกษาแห่งชาติและ นายอุซเซ็น บือแน สมาชิกขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่โรงพัก

โดยทั้งหมดได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน พร้อมกับ นายอาบีบุสตา ดอเลาะ ทนายความ ซึ่งทางเจ้าหน้าได้แยกบุคคลทั้ง 5 ราย เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมทีละคน แต่ปรากฏว่า มีทนายความไปด้วยเพียงคนเดียว จึงมีการขอให้ผู้ที่ทั้ง 5 คนไว้วางใจ เข้าร่วมรับฟังด้วย

แจ้งข้อหา ม.116 ยุยง ปลุกปั่น

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาสอบปากคำนานกว่า 3 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้ง 5 ในข้อหาเดียวกันคือ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

กฎหมายมาตรานี้ บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

จากนั้นก็ได้ลงบันทึกประจำวัน โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ก่อนจะมีการปล่อยตัวแบบไม่มีหลักประกัน เพื่อต่อสู้คดีต่อไป

อาเต๊ฟ” เชื่อมั่นเป็นเสรีภาพในการแสดงออก

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani หนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา กล่าวว่า วันนี้เรามารับฟังข้อกล่าวหาจากการที่แม่ทัพภาค 4 ฟ้องพวกเรา เราเชื่อว่า สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนคอยหา และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรายืนยันมาตลอด

“ที่จริงแม่ทัพภาค 4 ไม่ใช่คู่กรณีของเรา แม่ทัพภาค 4 เป็นเหยื่อของโครงสร้างที่มีปัญหาของประเทศนี้ และครั้งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รัฐนี้อยากแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิถีทางทางการเมืองอย่างสันติหรือไม่ สอดคล้องกับกระบวนการสันติภาพ สอดคล้องกับเรื่องวาระแห่งชาติที่รัฐนี้ได้พูดถึงหรือไม่ ครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี”

นายอาเต็ฟ กล่าวอีกว่า ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่เป็นปัญหาการแสดงสิทธิเสรีภาพ แสดงความคิดเห็นของเรา แต่เป็นปัญหาและมุมมองของผู้ใช้อำนาจทางกฎหมาย เป็นปัญหาของวิธีคิดของรัฐที่มีความเป็นอำนาจนิยมสูง

“แท้จริงการหาทางออกที่มีความขัดแย้งที่มีการหักกันด้วยอาวุธ สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นจุดร่วมระหว่างเราก็คือ การดึงทุกฝ่ายไปหาทางออกทางการเมือง การทำให้ทุกฝ่ายมีทิศทางในการต่อสู้ที่ไม่ทำให้ผู้บริสุทธิ์สูญเสีย สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นทางออกระยะยาวของทุกฝ่าย” ประธาน The Patani ระบุ

ทนายเตรียมยื่นคำให้การเป็นเอกสาร

นายอาบีบุสตา ดอเลาะ ทนายความ กล่าวว่า หลังจากนี้เราจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือ เพื่อตอบคำถามทั้งหมดของพนักงานสอบสวนที่ได้ตั้งคำถามไปยังบุคคลทั้ง 5 คนในวันนี้ เพราะว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องทางวิชาการทางการเมือง และเรื่องของสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องของสันติภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อการให้ปากคำเป็นไปอย่างรอบครอบในทุกด้าน ทั้งข้อเท็จจริง ความเห็น และมุมมองในทุกด้าน

4 องค์กรสิทธิฯ จี้แม่ทัพถอนแจ้งความ

วันเดียวกัน ทางองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี (HAP) “Patani Human rights Organization Network” ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการดำเนินคดีนักกิจกรรมปัตตานีทันที โดยมีเนื้อหาระบุว่า

กรณี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค ผอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความปิดปากปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น กรณีกิจกรรมประชามติจำลอง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 และในวันนี้ วันที่ 8 ธ.ค.66 เวลา 14.00 น. นักกิจกรรมชาวปัตตานี 5 คน จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตฯ”

คดีนี้เป็นคดีที่ทาง พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีด้วยตนเอง จากเหตุที่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ จัดให้มีการลงประชามติจำลองกับคำถามว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้มีการเชิญนักการเมืองและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมด้วย

 

แต่ต่อมากลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์โดยหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงว่า หมิ่นเหม่ในการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีโดย พล.ท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผอ.รมน.ภาค 4 และปัจจุบันได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นสมาชิกคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ชุดใหม่ด้วย

ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามนี้

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

2. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD

3. องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี - HAP

4. กลุ่มด้วยใจ

ออกความคิดเห็นว่า กิจกรรมการลงประชามติจำลองเป็นสิทธิในการแสดงออกทางความคิดที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ขอเรียกร้องให้ พล.ท.ศานติ ถอนแจ้งความในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการมีส่วนร่วมในการดำเนินการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น