วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

นักสิทธิฯ ฮือค้านตั้งคณะทำงานตรวจสอบบิดเบือนประวัติศาสตร์

นักสิทธิฯ ฮือค้านตั้งคณะทำงานตรวจสอบบิดเบือนประวัติศาสตร์

อังคณา ฯ แนะการค้นหาความจริงทางประวัติศาสตร์ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ชี้การฟ้องภาคประชาสังคมเข้าข่าย “ฟ้องปิดปาก” ด้านเลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุตั้งคณะทำงานตรวจสอบแต่งชุดมลายู สวนทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 แอ่นอก ไม่กังวลกระแสตีกลับ

จากกรณีที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ได้มีคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง เมื่อวันที่ 9 ม.ค.66 ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานประกอบด้วยกรรมการ 22 นาย เป็นทหาร 19 นาย และตำรวจ 3 นาย โดยไม่มีฝ่ายอื่นเข้าไปมีส่วนร่วมเลยนั้น

ล่าสุดในเรื่องนี้ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวยืนยันกับทีมข่าวในพื้นที่ สั้นๆ เกี่ยวกับกระแสวิจารณ์ที่ออกมาว่า “ไม่กังวลว่าจะมีกระแสตีกลับ

อังคณา แนะกรรมการต้องหลากหลายมากกว่านี้

ขณะที่ความเห็นของภาคประชาสังคม และนักสิทธิมนุษยชน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติศาสตร์ของรัฐจะต่างจากเรื่องเล่า (narratives) ของประชาชนในท้องถิ่นที่บอกเล่ากันปากต่อปาก หรืออาจเป็นการเล่าผ่านเพลงกล่อมเด็ก หรือบทกวีท้องถิ่น เป็นต้น

กรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ยิ่งเหตุการณ์ผ่านมานาน การตรวจสอบข้อเท็จจริงยิ่งกระทำได้ยาก เพราะผู้อยู่ในเหตุการณ์มักเสียชีวิตไปแล้ว หรือการขาดหลักฐานทางเอกสาร หรือเอกสารสูญหาย หรืออาจไม่มีการบันทึกเป็นเอกสาร จึงมีแต่ความทรงจำของประชาชน ตามหลักสากล “การรักษาความทรงจำ” ถือเป็นการรักษาความจริง และเป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูจิตใจเหยื่อ

“เรื่องการตั้งคณะทำงาน หากแม่ทัพ หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีความจริงใจในการค้นหาความจริง คณะกรรมการต้องประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีสัดส่วนที่เท่าเทียมระหว่างรัฐและประชาชน รวมถึงสัดส่วนหญิงชาย นอกจากนั้นกรรมการที่มาจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมต้องมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความหวาดกลัว เพราะหากคณะกรรมการไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ก็จะส่งผลถึงความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของรัฐ” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุ

ชื่อคณะทำงาน “บิดเบือน” เท่ากับชี้นำ - เข้าข่ายฟ้องปิดปาก

นางอังคณา แสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า อีกประการที่สำคัญคือ ชื่อของคณะกรรมการต้องไม่เป็นการชี้นำ หรือมีเจตนาต่อต้านความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น การใช้คำว่า “บิดเบือน” ซึ่งเป็นการชี้นำไปแล้ว ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบาง รัฐจึงควรดำเนินการต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง และปราศจากอคติใดๆ

“ทั้งนี้หากการตั้งกรรมการตรวจสอบมาจากเจ้าหน้าที่และเป็นไปเพื่อต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนหรือภาคประชาสังคม อาจเข้าข่ายการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของสาธารณะ หรือ ‘การฟ้องปิดปาก’ ที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation)”

ทหาร-ตำรวจ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวเรื่องเดียวกันว่า “แม่ทัพมีอำนาจและความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หรือไม่ ถ้ามี ทหาร ตำรวจ ก็ไม่ใช่กรรมการฯ เพราะมีส่วนได้เสีย มีผลประโยชน์ ซ้ำยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไม่สามารถตรวจสอบได้แม่นยำ ต้องมีคณะกรรมการหลายชุดแล้วมาพิจารณาความเป็นไปได้ ความสอดคล้อง”

ทวี ฯ โวยคำสั่งแม่ทัพ ทำลายรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ในเวทีการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งของพรรคประชาชาติ ที่หอประชุมมูลนิธิมะทา จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวเรื่องนี้ในการบรรยายบนเวทีตอนหนึ่งว่า ปัญหาสำคัญของภาคใต้ เราจะทำให้ภาคใต้มีสันติภาพ สันติสุข ทำให้มีความเจริญ ใครก็พูดได้ถ้าคนทำไม่ได้ทำด้วยใจ

“วันก่อนผมพูดไว้นิดหนึ่งว่า เราต้องผลักดันภาษามลายูเป็นภาษาราชการสำหรับพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายู แต่มีการรายงานของสื่อว่า มีการตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบการแต่งชุดมลายู การใช้ภาษามลายู ทั้งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ประชาชนต้องอนุรักษ์ปกป้องวัฒนธรรม ภาษาคือวัฒนธรรม คือมรดกทางวัฒนธรรม การออกคำสั่งนี้ทำลายรัฐธรรมนูญเลย รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนรักษาวัฒนธรรม ภาษาเป็นวัฒนธรรม การสูญสิ้นภาษาก็คือการสูญสิ้นชาติพันธุ์ ถ้าพวกเราไม่อนุรักษ์ภาษา เราจะสูญสิ้นชาติพันธุ์ คนจีนไม่อนุรักษ์ภาษาจีนก็จะสูญสิ้นชาติพันธุ์ คนทุกประเทศต้องรักษาชาติพันธุ์ของตนเอง”

“มีคำสั่งออกมาแต่งตั้งนายพลเต็มเลย แต่งตั้งคนที่มาสอบสวน ไม่มีคนรู้ภาษามลายูสักคน วาระของการแก้ปัญหาภาคใต้ต้องเป็นวาระที่สำคัญ และผมเชื่อมั่นกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เราก็เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้ว เราต้องยกระดับ เอาเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร เราต้องให้ความสำคัญประเทศที่เป็นผู้ประสานงาน แต่ถ้ามาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน จะมีตัวแทนประชาชนเข้ามา แล้วมันจะมีความยั่งยืน ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเอง” พ.ต.อ.ทวี ระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น