วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

มาเลเซียแต่งตั้ง อดีตผบ.ทบ. เป็นผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุขคนใหม่

พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในเมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย วันที่ 3 มกราคม 2566

แหล่งข่าวสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น และแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้ว่า มาเลเซียเตรียมการแต่งตั้ง ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ มาแทนคนปัจจุบันที่แต่งตั้งเมื่อปี 2561

พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเกษียณอายุของมาเลเซีย วัย 65 ปี จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุขคนใหม่ แทนนายอับดุล ราฮิม นูร์

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อ พล.อ. ซุลกิฟลี เพื่อสอบถามเกี่ยวกับข่าวการแต่งตั้งเขาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขคนใหม่ของมาเลเซีย ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการมาเลเซีย "ผมไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใด ๆ ขอให้รอการประกาศของนายกรัฐมนตรี" พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าว

ด้าน อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ฝ่ายบีอาร์เอ็น ระบุว่า ทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว "เราได้รับการแจ้งเรื่องการเปลี่ยนตัว แต่ยังไม่ได้เป็นการแจ้งอย่างเป็นทางการ และผู้อำนวยความสะดวกคนนั้นคือ ซุลกิฟลี" อุสตาซ อานัส ระบุ

ส่วน พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับเบนาร์นิวส์แต่เพียงว่า "ทราบเรื่องแล้วอยู่ระหว่างประสานงานกัน"

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์โดยขอสงวนนามว่า พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน จะเดินทางมากรุงเทพฯ ในเวลาไม่ช้านี้ แต่ยังไม่มีการระบุวัน-เวลาที่แน่ชัดเจน

"มีการยืนยันเรื่องผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่แล้ว โดยจะเป็น พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน เขาจะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อแนะนำตัวเองให้กับรัฐบาลไทยด้วย" แหล่งข่าวคนดังกล่าวระบุ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ นายอันวาร์ บิน อิบราฮิม ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็ว ๆ นี้

เมื่อครั้งที่นายอันวาร์อยู่ในระหว่างการคุมขังของตำรวจในปี 2541 ในข้อหามีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ได้ถูกนายอับดุล ราฮิม นูร์ อดีตจเรตำรวจในขณะนั้น ชกต่อยจนรอบดวงตาดำคล้ำ ต่อมานายฮิม นูร์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำร้ายร่างกายและถูกจำคุกสองเดือน และได้กล่าวขอโทษอันวาร์อย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น พยายามดำเนินการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่สะดุดลงเพราะการระบาดของโควิด-19 การพูดคุยสันติสุขระหว่างสองฝ่าย ครั้งหลังสุดมีขึ้นนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในมาเลเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2565

จนถึงเดือนตุลาคม 2565 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็น มีกำหนดเจรจากันแบบตัวต่อตัวครั้งที่ 6 แต่ต้องเลื่อนออกไป เพราะมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เดินทางมาพบกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไทยแล้ว แต่รัฐบาลทั้งสองยังไม่ได้เปิดเผยเกี่ยวกับทิศทางการเจรจาสันติสุขในอนาคต

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นระบุว่า การเจรจาครั้งหน้าจะมีขึ้นในเดือนมกราคมนี้ แต่ยังไม่ทราบวันเวลาที่ชัดเจน

หลังจากที่ นายอันวาร์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจช่วยเร่งให้กระบวนการเจรจาที่ล่าช้ามายาวนานสำเร็จเร็วขึ้น เพราะผู้นำคนใหม่สนใจประเด็นนี้อย่างมาก

มากด้วยประสบการณ์

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคารนี้ พล.อ. ซุลกิฟลี ได้มีการพบปะกับ นายร็อดซี โมฮัมหมัด ซาด ผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มการอำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ไทย

นายร็อดซี กล่าวว่า เขาและพล.อ. ซุลกิฟลี หารือกันในหลากหลายประเด็น รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ

"มีการหารือกันหลายประเด็นระหว่างการเยือนครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการจัดการด้านความมั่นคงของประเทศ โดยเน้นย้ำถึงสันติภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัย" เขากล่าวในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย

"หวังว่า ซุลกิฟลี ผู้มากประสบการณ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้"

พล.อ. ซุลกิฟลี มีความเชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีและความไม่สงบ เคยรับใช้กองทัพมากว่า 40 ปี ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2563 และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ซึ่งรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันตั้งแต่ปี 2556 กระทั่งมีการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุย และมีข้อตกลงร่วมกันอีกครั้งในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งเรียกว่า “รอมฎอนเพื่อสันติสุข” โดยฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า ประสบความสำเร็จ

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี

และนิชา เดวิด ในกัวลาลัมเปอร์

ร่วมรายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น